ชู “แลนด์มาร์คนวดแผนไทย” จุดขาย ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ รับเปิดประเทศ

หลายกระทรวง จับมือ ผู้ประกอบการนวดและสปา สร้างการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ต่อยอด ภูมิปัญญานวดไทย สมุนไพรไทย เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ในช่วงเปิดประเทศ ก.ท่องเที่ยวฯ พร้อมดันไทย ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ระดับ Hi–End

วันนี้ (29 ต.ค.64) เนื่องในวันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และเครือข่ายร่วมจัด แถลงความร่วมมือใน “โครงการแลนด์มาร์คนวดไทย” เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย” แสดงศักยภาพ ความพร้อม ร่วมสืบสาน ต่อยอด ภูมิปัญญานวดไทย สมุนไพรไทย และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ บรรเทาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการ และร่วมกันร่วมผลักดันและยกระดับมาตรฐานให้ประเทศไทย เป็น ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (MEDICAL HUB)   

อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า  ผลกระทบจากโควิด-19 ได้สร้างจุดเปลี่ยนให้ผู้บริโภค ใส่ใจดูแลสุขภาพทั้งตัวเองและคนรอบข้างมากขึ้น นับเป็นโอกาสของการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมนำมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม นวดไทยศาสตร์บำบัดและรักษาโรคแขนงหนึ่งของการแพทย์แผนไทย ให้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลและฟื้นฟูสุขภาพทั่วโลก  ภูมิปัญญาการนวดไทย เป็นศาสตร์และศิลป์มรดกภูมิปัญญาที่ได้รับการสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันมีองค์กรต่างๆ ที่ส่งเสริมและพัฒนาการนวดไทย กว่า 50 องค์กร รวมไปถึงองค์กรภาควิชาชีพ สถาบันการเรียนการสอน และสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทั่วประเทศ อีกทั้งเครือข่ายความร่วมมือจากสมาพันธ์โลกนวดไทยและสปาที่มีสมาชิกกว่า 57 ประเทศทั่วโลก 

โครงการ แลนด์มาร์คนวดไทย จึงเป็นโครงการที่จะจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศขึ้นทะเบียนนวดไทย มรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่าของไทย เป็นรายการตัวแทน มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่จะได้ประชาสัมพันธ์การนวดไทยและสมุนไพรไทยในการดูแลและฟื้นฟูสุขภาพทั่วโลก รวมถึงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดรายได้แก่ผู้ประกอบการและเครือข่ายด้านการนวดไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนนำอัตลักษณ์เสน่ห์แห่งมรดกภูมิปัญญาไทยที่สืบสานจากรุ่นสู่รุ่นมาต่อยอด และประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical and wellness Tourism)

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  กล่าวว่า มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สร้างให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical and Wellness Tourism) เป้าหมายหลักเพื่อสร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างการเติบโตในภาคการท่องเที่ยวและบริการอย่างยั่งยืน เพิ่มความหลากหลายของการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ร่วมขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2564

โควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยมีโอกาสขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลให้เป็นไปตามแผนแม่บทภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการท่องเที่ยว โดยเร่งผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีคุณภาพในระดับ Hi–End กลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงเข้ามาท่องเที่ยว ใช้สินค้าและบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทย รวมทั้งเร่งสนับสนุนผู้ประกอบการและหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวปรับตัวเพื่อรองรับการท่องเที่ยวยุคใหม่ เช่น การเชื่อมโยง ผู้ประกอบการ Startup กับผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาแอพพลิเคชั่น

การผลักดันการนำสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีมาสู่แถวหน้าด้วยเทคโนโลยีไร้สัมผัส สร้างความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศด้วยการส่งเสริมมาตรฐาน SHA การส่งเสริมการสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวใหม่ๆ ยกระดับการให้ความสำคัญกับสุขภาพและอนามัย เป็นต้น เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งจัดทำมาตรฐาน SHA (Safety & Health Administration) และ SHA Plus เพื่อตอบสนองนโยบายเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการสถานประกอบการในประเทศไทย เกิดความมั่นใจในการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวไตรมาส 4 (ตุลาคม ถึง ธันวาคม) ปีนี้  

ด้าน สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมเตรียมการเปิดประเทศ และได้ริเริ่มและขับเคลื่อนโครงการที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนคนไทยและนักท่องเที่ยว อาทิเช่นสุขภาพดีวิถีใหม่  Living with COVID-19 ดูแลสุขภาพประชาชนให้เข้าสู้สุขภาพดีวิถีชีวิตปกติ และเร่งยกระดับมาตรฐานป้องกันควบคุมโรค COVID Free Setting เพื่อรองรับการเปิดประเทศ เช่น สตรีทฟู๊ด โรงแรม ร้านอาหาร สถานประกอบการ เป็นต้น สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยนำศักยภาพความแข็งแกร่งด้านระบบบริการสุขภาพของประเทศ และนวดไทยเป็นจุดขาย เชื่อมโยงช่องทางเครือข่ายการตลาดและการใช้สมุนไพรทั้งในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพร การบริการ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพ

ด้าน ชุติมา แฮล์ก ประธานสมาพันธ์โลกนวดไทยและสปา กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 สถานประกอบการด้านความงาม สุขภาพ ร้านนวดแผนไทยและสปา ต้องหยุดให้การบริการอย่างยาวนาน  และส่วนหนึ่งต้องปิดกิจการอย่างถาวร เนื่องจากรับภาระค่าใช่จ่ายไม่ไหว  ส่งผลให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก  ในฐานะผู้ประกอบการนวดที่อยู่ต่างแดน และประธานสมาพันธ์โลกนวดไทยและสปา ปัจจุบันเรามีสมาชิกอยู่ 57 ประเทศทั่วโลกจึงได้รวมตัวกันเพื่อ แลกเปลี่ยนทักษะ ความรู้ ประสบการณ์  แนวคิดการบริการรูปแบบใหม่ๆ สร้างมาตรฐานและความเชื่อมั่นในระดับสากล

การนวดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน นวดระบายน้ำเหลืองช่วยให้ภูมิคุ้มกันมากขึ้น นวดธาตุเจ้าเรือน เป็นต้น รวมทั้งยังจัดฝึกอบรมทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อกระตุ้นสร้างความเชื่อมั่นแรงบันดาลใจให้กับคนไทยและชาวต่างชาติที่หลงไหลในเสน่ห์ของศาสตร์การแพทย์แผนไทย ต้องขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมผลักดันโครงการแลนด์มาร์คนวดไทย ผู้ประกอบการทุกคนรู้สึกอบอุ่นเป็นอย่างยิ่ง และยินดีร่วมกันประชาสัมพันธ์นวดไทยเพื่อ สร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ และส่งต่อเสน่ห์ของมรดกภูมิปัญญาไทยให้กับชาวต่างชาติต่อไป 

โครงการแลนด์มาร์คนวดไทย  มีกำหนดการจัดกิจกรรมในเดือนธันวาคม 2564 โดยมุ่งประชาสัมพันธ์มรดกภูมิปัญญาไทย สมุนไพรไทย และเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ และเพื่อตอกย้ำและร่วมผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (MEDICAL HUB)

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้