ยกเลิก “อัญเชิญพระเกี้ยว” เมื่อการปะทะทางความคิดเกิดขึ้นต่อเนื่อง อะไรคือกลไกจัดการความขัดแย้ง?

‘พระมหานภันต์’ มองฝ่าย อบจ. อาจมีเจตนารมณ์ที่ดี แต่การสื่อสารกระทบความรู้สึก ผลักผู้อื่นเป็นคู่ขัดแย้ง แนะ ผู้ไม่เห็นด้วย ชี้แจงอย่างมีวุฒิภาวะ ยึดหลักการประชาธิปไตย รับฟังเสียงทุกฝ่าย สร้างการมีส่วนร่วมให้มากที่สุด

เมื่อปรากฏการณ์ยกเลิกขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ไม่ใช่เพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วจบไป แต่นำมาซึ่งการปะทะกันทางความคิด ของฝ่ายที่ต้องการ “ยกเลิก” และฝ่ายที่ยืนยันจะ “คงไว้” เป็นสองขั้วความคิดที่ยังไม่อาจหาข้อสรุป และนับวันข้อถกเถียง “ทำนองนี้” จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในสังคมไทย ไม่มีประเด็นใดที่เล็กเกินจนสามารถมองข้ามได้ในความขัดแย้ง เพราะอาจนำไปสู่รอยร้าวที่ฝังลึกในสังคม

The Active คุยกับ พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท​ ประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ หรือ IBHAP Foundation ในฐานะเป็นผู้ซึ่งส่งเสริมงานด้านสันติสุข และการแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยใช้พระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือสร้างความสมานฉันท์และการอยู่ร่วมกันในสังคม

“ภิกษุทั้งหลาย การที่เขาตำหนิเรา ตำหนิพระธรรม ตำหนิพระสงฆ์ ถ้าเธอมีใจโทมนัสแค้นเคือง อันตรายจะมีแก่เธอ เพราะเธอจะไม่สามารถรู้ได้ว่า สิ่งที่เขาพูดถึงมันผิดหรือถูก”

พระมหานภันต์ ชวนย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาล ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีความคิดเห็นแตกต่างขัดแย้งกัน พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมสั่งสอน ให้จัดการกับเรื่องดังกล่าวอย่างไร ดังที่ปรากฏในพระไตรปิฎก พรหมชาลสูตร เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าทรงเดินทางไปยังกรุงราชคฤห์ พร้อมกับพระภิกษุสงฆ์กลุ่มใหญ่ ปรากฏว่าก็มีพระภิกษุสองรูปที่เป็นอาจารย์และลูกศิษย์กัน โดยผู้เป็นอาจารย์ก็ได้แต่ตำหนิพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ตลอดเวลา ในส่วนของตัวลูกศิษย์กลับกล่าวสรรเสริญเยินยอ โดยจะเห็นว่ามีถ้อยคำเป็นข้าศึกแก่กันและกันโดยตรง ต่อมาพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสเตือนด้วยถ้อยคำที่ว่ามานั้น โดยอาจเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อยู่บ้าง

หากเทียบเคียงกับประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคมเวลานี้ ในมุมของคนรุ่นใหม่ หรือ องค์การบริหารนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) แน่นอนว่าคงมีเจตนารมณ์บางอย่าง ที่อยากจะสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ และเมื่อเป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมเดิมที่เคยทำมา ย่อมมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย พระมหานภันต์ กล่าวว่า หากเรายึดตามคำสอนในพระพุทธศาสนา จะเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะมองให้เห็นถึงหลักการที่แท้จริงของเขา โดยไม่ไปขุ่นเคืองความรู้สึกที่ว่าเขามาโจมตีในสถาบันอันเป็นที่รักของเรา หรือไม่แสดงความไม่พอใจกับคำพูดบางคำ ที่ออกมาในเชิงด้อยค่าความเชื่อของเรา เพราะหากเรายอมให้ความรู้สึกนี้ครอบงำจิตใจ ก็จะไม่สามารถมองเห็นในคุณค่าที่อาจมีประโยชน์แก่สังคมได้

‘ชี้แจงด้วยวุฒิภาวะ’ วิธีการบางอย่างที่สื่อออกมาโดยคนรุ่นใหม่ ในบางครั้งผู้ใหญ่อาจมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้ผ่านการคิด ตรึกตรองอย่างถี่ถ้วนเพียงพอ แต่ขอให้มีการพูดคุยชี้แจงกันด้วย ‘ความจริง’ อันไหนที่เป็นเรื่องไม่จริง ก็ให้ชี้แจงไป โดยไม่ใช้ท่าทีดูถูก ดูหมิ่นตอบโต้กันไปมา เพราะฉะนั้น สิ่งที่ควรเกิดขึ้น คือ มีวุฒิภาวะทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายที่เป็นผู้ใหญ่ ควรแสดงวุฒิภาวะทั้งในแง่ของอารมณ์ และสติปัญญา เพราะเมื่อใดที่เราปฏิบัติแบบนี้กับผู้ที่เด็กกว่า ผู้นั้นจะยิ่งเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ

หลักการดีแล้ว วิธีการต้องดีด้วย

“การพยายามเคลื่อนไหว ในสิ่งที่ตัวเองเคารพ เชื่อมั่น หรือการรื้อสร้างอะไรบางอย่าง ที่ตนคิดว่าขัดต่อการพัฒนาด้วยความกล้าหาญเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมก็จริง แต่การเลือกใช้วิธีการแบบถอนรากถอนโคน อาจผลักคนที่ไม่เห็นด้วยเป็นฝ่ายตรงข้าม”

พระมหานภันต์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่กล้าหาญ และน่าชื่นชม ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่เชื่อมั่น และเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมกันของมนุษย์ แต่การเลือกที่จะสื่อสารเรื่องนี้ออกมาในวันที่ 23 ตุลาคม และคำพูดซึ่งกระทบต่อจิตใจของคนกลุ่มหนึ่ง การรณรงค์เช่นนี้ ข้อดี คือ ทำให้เกิดกระแส ทำให้ความคิดปะทุขึ้นมาเป็นที่สนใจของสังคม แต่ข้อเสีย คือ จะเป็นการผลักผู้เห็นต่าง หรืออาจจะรับไม่ได้ต่อวิธีการดังกล่าว ให้ไปยืนอยู่ฝั่งตรงข้าม และจะยากที่จะพูดคุยหาจุดร่วมกันได้ หากต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คน จนนำไปสู่เรื่องที่ทุกฝ่ายเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงไปทางนั้น

หากจะยกตัวอย่างให้เห็นชัด และเชื่อมโยงถึงผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งสถาบันการศึกษาดังกล่าว เมื่อครั้งนโยบายการเลิกทาส ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นับเป็นการเลิกทาสเพียงไม่กี่ครั้งในโลก ที่ไม่เกิดการสูญเสีย หรือต้องแลกมาด้วยชีวิต เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จริงจัง แต่มีขั้นมีตอน แฝงกุศโลบาย ที่ทำให้ผู้เห็นต่าง สามารถยอมรับและปฏิบัติตามได้ เป็นการพิจารณาเหตุและผลอย่างรอบด้าน จึงทำให้เกิดความยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน

พระมหานภันต์ กล่าวต่อว่า ความตั้งใจนี้เป็นประโยชน์แล้ว แต่จะเป็นประโยชน์มากกว่านี้ หากใช้กุศโลบายเป็นเครื่องแนะนำความรู้   จะสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ได้อีกมาก โดยไม่ต้องสร้างคนกลุ่มหนึ่งมาเป็นคนที่เห็นต่างกับเรา หากมีการพิจารณาจากข้อถกเถียงที่เกิดขึ้น อาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิธีการ ว่าสามารถหาหนทางที่ดีกว่านี้ได้หรือไม่ หลักการที่ดี ต้องมาพร้อมกับวิธีการที่เหมาะสม

ทุกการเปลี่ยนแปลง มีโครงสร้างความเชื่อเดิมอยู่เสมอ

เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย ทุกสิ่งอย่างจึงมิอาจอยู่เหนือกาลเวลา พระมหานภันต์ กล่าวว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงจามออกมา ความเชื่อในสมัยก่อน เชื่อว่าการจาม เสมือนเป็นการที่ชีวิตจะหลุดจากร่างกาย เหล่าภิกษุจึงได้กล่าวทรงพระชนมายุยืนนาน เพื่อเป็นการอวยพร อยู่มาวันหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงถามว่า การกล่าวอวยพรเช่นนี้จะสามารถทำให้เราอายุยืนยาวได้จริงหรือ เหล่าภิกษุกล่าวตอบว่า ไม่ใช่

พระพุทธเจ้า จึงบัญญัติเป็นข้อห้ามในเรื่องดังกล่าว ต่อมาเมื่อประชาชนชาวบ้านมาทำบุญ แล้วเกิดจามขึ้นมา ก็คาดหวังว่าพระจะกล่าวอวยพรให้บ้าง แต่เมื่อเป็นบัญญัติห้าม พระสงฆ์จึงไม่ได้กล่าวอวยพร จนทำให้ชาวบ้านตำหนิพระ ว่าหวงแม้กระทั่งคำอวยพร เมื่อเป็นเช่นนี้ พระพุทธเจ้า จึงบัญญัติเพิ่มเติมว่า หากเป็นไปเพื่อความเป็นสิริมงคล และความสบายใจก็สามารถอวยพรตอบได้

เรื่องราวดังกล่าว พระมหานภันต์ สะท้อนว่าทุกการเปลี่ยนแปลงแม้จะมีสาระสำคัญ แต่แฝงไปด้วยโครงสร้างสังคมเดิม และความเชื่อดั้งเดิมอยู่ ขนาดพระพุทธเจ้าเอง ซึ่งประสงค์อยากให้สังคมตื่นรู้ แต่ก็เข้าใจว่าสังคมพุทธ สังคมสงฆ์ ไม่สามารถแยกขาดจากชาวบ้านได้ เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่ที่มีความหวังอยากเปลี่ยนแปลง เราสามารถเปลี่ยนความหวังให้เป็นความจริงได้ ด้วยการรับฟังความจริงของคนอื่นบ้าง แต่ต้องฟังและปรับเปลี่ยนในบางอย่างที่สามารถทำได้

พระมหานภันต์ กล่าวต่อว่า ในประเด็นดังกล่าวอาจเริ่มต้นที่ หลักการส่งเสริมคุณค่าประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน อย่างเช่น การถามถึงบทบาทหน้าที่ของ อบจ. ว่าสามารถกำหนดทิศทางในเรื่องนี้ได้หรือไม่ แต่ถึงแม้ว่าจะไม่มีหน้าที่นั้น เมื่อประเด็นได้ถูกยกมาถกเถียงในสังคม ต้องนำไปสู่การรับฟังเสียงของคนที่เกี่ยวข้อง แบบ Public Hearing ว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร จากหลักการ Inclusivity คือคิดรวมถึงผู้อื่นด้วย ไม่คิดเอง เออเอง สอบถามก่อนและทำตามสิ่งที่เห็นว่าดีร่วมกัน ต้องใช้กระบวนการมาดึงคนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด

เปิดพื้นที่พูดคุย สร้างกลไกจัดการความขัดแย้ง

พระมหานภันต์ กล่าวว่า เรื่องที่น่ากังวล คือ การรับฟังแต่ในสิ่งที่เราเชื่อ โดยไม่เปิดใจรับฟังผู้เห็นต่าง จะทำให้เราอยู่ในภาวะ echo chamber แวดวงแต่คนที่คิดเห็นเหมือนกับเรา โอกาสที่จะได้ยินข้อมูลซ้ำ ๆ โดยไม่ยอมฟังความคิดคนอื่นมีสูง จะนำไปสู่เหตุการณ์ทะเลาะเบาะแว้งจนนำไปสู่ความสูญเสีย หลายประเทศ แค่ไม่มีกลไกจัดการความเห็นต่าง และแนวโน้มในอนาคตสิ่งเหล่านี้จะมีเพิ่มมากขึ้น การปะทะแบบสุดโดต่ง โดยไม่ยินยอมหาพื้นที่กลางจะทำให้สังคมติดกับวังวนความขัดแย้ง

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นโอกาสดีที่จะชวนทั้งสองฝ่ายมาปรับความเข้าใจ ยอมเปลี่ยนในสิ่งที่สามารถทำได้ รับฟังซึ่งกันและกัน เปิดพื้นที่ใจ เพื่อการสร้างพื้นที่จริง โดยหากเราเอาความคิดของตัวเองเป็นหลัก ถ้าเราเชื่อในเรื่องใดว่าถูก ว่าดี ขอให้เข้าใจไว้ก่อนเลยว่าที่อีกฝ่ายทำแบบนั้น เพราะเขาคิดเหมือนเรา ดังนั้นแนวทางสำคัญของการลดความขัดแย้ง มีสิ่งที่สำคัญดังนี้

  1. การเปิดพื้นที่ใจ ยอมรับว่าตนอาจคิดผิดได้ และผู้อื่นอาจคิดถูกได้ ขึ้นอยู่กับมุมมองของคน ว่ามองจากมุมไหน
  2. เราไม่สามารถทำให้ทุกคนเห็นเหมือนกับเราได้ อย่าพยายามจะโน้มน้าว หรือเปลี่ยนแปลงความคิดใคร แต่จงแสดงเหตุผลและความจริงเพื่อให้แต่ละฝ่ายตัดสินใจด้วยเหตุผล
  3. สร้างกระบวนการรับฟังความเห็นต่าง คือ โดยเห็นอกเห็นใจ และทำความเข้าใจความคิดของอีกฝ่าย

หากเชื่อในพื้นฐานว่า ทุกคนพร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ควรทำความเข้าใจเจตนาซึ่งกันและกัน สร้างหลักการ และวิธีการที่สื่อสารที่เข้าถึงคนทุกกลุ่ม หนึ่งในเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง คือ กิจกรรม Thailand Talks ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 20 พฤศจิกายน นี้ บนแพลทฟอร์มออนไลน์ที่จะจับคู่คนเห็นต่างให้มาพูดคุยกัน สามารถสมัครได้ทาง www.thailandtalks.org จนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน นี้


เข้าร่วมโครงการ Thailand Talks
ผ่านการตอบคำถาม
ให้ระบบจับคู่คุณกับคนเห็นต่าง
จากนั้นนัดแนะและพุดคุยกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้