ยื่น 1,700 รายชื่อ ถอด “คณบดีวิจิตรศิลป์และอธิการบดี มช.” เหตุ เซ็นเซอร์ผลงานศิลปะ ปิดกั้นใช้พื้นที่หอศิลป์

นศ.วิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ ย้ำ ต้องพิทักษ์ไว้ซึ่งเสรีภาพทางวิชาการ ด้านเพื่อไทย-ก้าวไกล รับนำเรื่องเข้า กมธ.การศึกษาและกฎหมาย 1 พ.ย. นี้

วันนี้ (25 ต.ค. 2564) นักศึกษาภาควิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และภาคประชาชนประมาณ 60 คน เดินทางไปที่สำนักงานสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือถึง 3 หน่วยงาน ได้แก่ สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะกรรมาธิการการศึกษา และคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน แนบรายชื่อประมาณ 1,700 รายชื่อเพื่อถอดถอน ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์

พร้อมทั้งจัดกิจกรรมจุดเทียน เขียนชื่อของคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย นายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงบนพื้น จากนั้นร่วมกันแถลงข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 

1. จะต้องประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาถอดถอนคณะผู้บริหารจากกรณีข้างต้นแก่สาธารณะ โดยกรรมการสอบสวน จะต้องได้รับการตรวจสอบ ไม่ให้มีผลประโยชน์ร่วมต่อฝ่ายนักศึกษาและคณะผู้บริหารทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งนี้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปจะต้องได้รับสิทธิ์ในการคัดค้านคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนภายในระยะเวลาที่ถูกกำหนดอย่างเป็นธรรม 

2. จะต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดการสร้างข้อกำหนดสำหรับการคัดเลือกคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ชุดต่อไป ผ่านการเลือกตั้งโดยนักศึกษา คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยแท้จริงแก่การบริหารมหาวิทยาลัยในอนาคต ทั้งนี้จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนการคัดเลือกคณะผู้บริหารชุดถัดไป 

3. จะต้องดำเนินการตรวจสอบประเด็นปัญหาอื่นอันเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่แนบมาพร้อมหนังสือฉบับนี้ พร้อมทั้งประกาศนโยบายตรวจสอบการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในทุกภาคส่วนให้เป็นไปตามหลักสิทธิและเสรีภาพที่พึงมีตามหลักประชาธิปไตยสากล เพื่อรับประกันความปลอดภัยจากการแสดงความคิดเห็น การดำเนินการของนักศึกษา อาจารย์ ตลอดจนบุคลากรในทุกรูปแบบ และพิทักษ์ไว้ซึ่งเสรีภาพทางวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามวัตถุประสงค์ของการเรียกร้องให้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยภูมิภาคเพื่อดำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

อภิสิทธิ์ วะลับ นักศึกษาภาควิชา Media Art and Design กล่าวถึงประเด็นการเลือกตั้งผู้บริหารว่า ตนเห็นปัญหานี้มานานแล้ว ถึงแม้จะสามารถไล่คณบดีคนนี้ออกได้ก็จะมีผู้ได้รับการแต่งตั้งใหม่เข้ามาที่ไม่ได้มีส่วนร่วมของการศึกษา รวมถึงกระบวนการตั้งคณะกรรมการสอบสวนก็ขาดความโปร่งใส 

“การตั้งกรรมการสอบมันเกิดขึ้นจากการที่เขาแต่งตั้งคนที่เป็นพวกเขาเองมาตรวจสอบ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันขาดความสุจริต ความโปร่งใส ปัญหานี้มันเป็นปัญหาที่นักศึกษาหลายๆคนต้องประสบ เพราะว่าการบริหารที่เป็นเหมือนเดิมซ้ำ ๆ มันทำให้ปัญหาต่างๆไม่ถูกแก้ไข เหมือนปัญหาที่เกิดขึ้นกับสาขา Media Art and Design ที่เป็นปัญหาอย่างยาวนานมาก ๆ แล้ว ถ้าใครได้ติดตามคือช่วงต้นปีก็มีเหตุการณ์การรื้อถอนงานของนักศึกษา หรือเอางานของนักศึกษาไปทิ้ง คณบดีคนนี้มีกิริยาและการวางตัวที่ไม่เหมาะสม เราต้องการให้คุณมาตรวจสอบหน่อย ตอนนี้เราเดือดร้อนมาก ๆ แล้ว”  

ธัชพรรณ ตรีทอง นักศึกษาภาควิชา Media Art and Design กล่าวว่า  นักศึกษาต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการเข้าใช้หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมมติว่าต้องใช้หอศิลป์ ต้องจ่ายเงินเองเป็นหมื่นแล้วเก็บทุกวัน สมมติเช่า 7 วัน 10 วัน ก็ต้องจ่ายเงินทุกวันเป็นหมื่น ค่าเทอมก็เป็นหมื่น ซึ่งเป็นความไม่เป็นธรรมต่อนักศึกษาที่ต้องจ่ายค่าเทอม รวมถึงการปิดกั้นด้วยการล็อกโซ่คล้องกุญแจ ไม่ให้นักศึกษาเข้าไปใช้พื้นที่จัดแสดงงานศิลปนิพนธ์ 

“เก็บทำไมนักหนา หอศิลป์มันลงท้ายว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนูก็นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เหมือนกัน ทำไมถึงไม่มีสิทธิในการใช้พื้นที่ตรงนี้ เก็บเงินเอกชน เอกชนจะมาใช้พื้นที่ก็เก็บเงิน นักศึกษาจะมาใช้พื้นที่ก็เก็บเงินเหมือนกัน งั้นก็ไม่ต้องจ่ายค่าเทอมก็ได้ในเมื่อใช้อะไรก็ต้องเสียเงิน ส่วนตรงที่ปิดล็อกประตู ข้างในมันไม่ได้มีแค่หอศิลป์ แต่มันมีตึกเรียนของพวกหนูอยู่ด้วย ก็คือตึกเรียนของ Media Art and Design อยู่ในนั้น การล็อกประตูก็คือหนูไม่ได้ใช้ห้องเรียน แล้วหนูก็ไม่ได้ใช้หอศิลป์ด้วย” 

ขณะที่ นาวินธิติ จารุประทัย  รองนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงบทบาทขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อ.มช.) และสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ส.มช.) ที่ไม่ได้ปกป้องสิทธิของนักศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น เช่น กรณีขณะวิจิตรศิลป์ กรณีการเรียกร้องให้ลดค่าเทอมในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และการยืนเคียงข้างนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง ซึ่งหลังจากนั้น ธนาธร วิทยเบญจางค์ รองนายก ส.มช. ในฐานะนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ได้ประกาศลาออกจาก ‘กลุ่มนักศึกษาวันใหม่’ ซึ่งเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งใน ส.มช. ก่อนจะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการถอดเสื้อสูทสีน้ำเงินของ ส.มช. แล้วใช้ไฟจากเทียนเผาตราสัญลักษณ์ มช. บนอกเสื้อข้างซ้าย 

ขณะที่นายทนงศักดิ์ เชื้อเจ็ดตน หัวหน้าสำนักงานสภามหาวิทยาลัย ได้รับหนังสือแทนนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่  พร้อมชี้แจงว่านายกสภาฯ เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่กรุงเทพฯ โดยจะนำเรื่องเรียนไปยังนายกสภาฯ 

ตัวแทนนักศึกษายังได้ยื่นหนังสือถึงนางสาว ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ผ่านไปยังประธานกรรมาธิการการศึกษา และ นางสาวเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู พรรคก้าวไกล ไปยังประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ซึ่งยืนยันว่าจะนำเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเข้าสู่ กมธ. ในวันที่ 1 พ.ย. นี้ โดยนางสาวทัศนีย์ กล่าวว่า จะเป็นตัวแทนนำไปยื่นถึงประธานกรรมาธิการการศึกษา 

“ปัญหามันเกิด ต้องได้รับการแก้ไข โดยจะนำประเด็นที่นักศึกษายื่น รวมถึงกรณีการเลือกตั้งในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าสู่ที่ประชุม กมธ.ซึ่งจะเชิญมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และตัวแทนนักศึกษาเข้าไปชี้แจง ว่าเกิดอะไรขึ้น ”

ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษาภาควิชา Media Art and Design ผู้ร่วมจัดกิจกรรมทวงคืนหอศิลป์ มช. เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา แสดงความกังวลว่า อาจจะถูกลงโทษ หลังมีข้อมูลว่า อาจมีการแจ้งความเอาผิดกับนักศึกษา จึงขอให้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

สำหรับรายชื่อบุคคลเข้าร่วมถอดถอนผู้บริหารทั้ง 2 คนนั้น มีคณาจารย์ประมาณ 10 คน ร่วมลงชื่อพร้อมกับ ผู้มีตำแหน่งในองค์การนักศึกษาปีนี้และปีก่อนๆ 34 คน นักศึกษาปัจจุบัน 1,027 คน ศิษย์เก่า 379 คน ประชาชน 278 คน และมีเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยอีก 5 คน

Author

AUTHOR