ฟังเสียง นักเรียน ครู ผู้บริหาร ก่อนเปิดเรียน 1 พ.ย. นี้

‘นักเรียน’ สะท้อนความเหลื่อมล้ำ จะเปิดแบบใดต้องช่วยให้เข้าถึงการศึกษา ‘ครู’ มองมาตรการต้องเกิดจากการตัดสินใจร่วมกันของทุกฝ่าย ‘โรงเรียนเอกชน’ วอน ปลดล็อกระเบียบใช้งบประมาณที่มี จัดซื้อชุดตรวจได้

นับถอยหลังเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น จะเป็นการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ของนักเรียนทั่วประเทศ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ครู นักเรียน และบุคลากรต้องหามาตรการรองรับเพื่อ ‘พานักเรียนกลับสู่โรงเรียน’ เนื่องจากผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ และโจทย์ใหญ่คือจะทำอย่างไรให้การเปิดเรียนในครั้งนี้ปลอดภัยสำหรับทุกคน

นักเรียนร้องกระทรวงฯ ช่วยให้เข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม

สมชาย พงษ์ชิน นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง กล่าวว่า การเรียนออนไลน์ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา ตนประสบปัญหาอย่างมาก เนื่องจากการเข้าถึงอุปกรณ์การเรียน ประสิทธิภาพที่ได้รับจากการเรียน มีนักเรียนหลายคนที่ไม่มีสิทธิ์แม้แต่การเข้าถึงระบบการศึกษา เนื่องจากขาดปัจจัยหลายอย่าง จนส่งผลต่อกระบวนการเรียนทั้งระบบ และสำหรับเขาเองนั้น ถือว่าเป็นเวลาที่สำคัญอย่างมาก เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ก่อนเข้าสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษา

เมื่อถามว่า นักเรียนอยากกลับไปใช้ชีวิตในโรงเรียนแล้วหรือยัง ? สมชาย ตอบว่า นักเรียนส่วนใหญ่อยากกลับเข้าไปเรียนในโรงเรียน เนื่องจากปัญหาการเรียนออนไลน์อย่างที่กล่าวไปแล้ว รวมถึงการมีกิจกรรมต่าง ๆ จะช่วยให้บรรยากาศในการเรียนดีขึ้น ประสิทธิภาพของทั้งผู้เรียนและผู้สอนก็มีเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ที่ยังไม่สู้ดีนัก ตนยังมองว่าการเปิดเรียนเป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะความปลอดภัยของนักเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

สมชาย กล่าวต่อว่า เมื่อต้องเปิดเรียนตนรู้สึกดีใจและกังวลใจไปพร้อมกัน ดีใจ คือ จะได้กลับไปเจอเพื่อน เจอครู และทำกิจกรรมภายในโรงเรียน และความกังวลใจ คือ วิกฤตโควิด-19 ทำให้ครอบครัวประสบปัญหาทางการเงิน ปัจจุบัน ตนใช้เวลาที่พอมีหลังจากเรียนออนไลน์ไปทำงานหารายได้เสริม เมื่อต้องกลับเข้าไปในโรงเรียนย่อมทำให้ไม่สามารถทำงานได้เหมือนเก่า หากต้องเปิดเรียนจริง ๆ อาจต้องคิดแผนรองรับสำหรับการดูแลตนเองและครอบครัวอีกด้วย

มาตรการครอบจักวาล อาจกระทบต่อการทำหน้าที่ครู

ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ตัวแทนกลุ่มครูขอสอน และเป็นครูของโรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่สีแดงเข้ม กล่าวว่า ครูและนักเรียนส่วนใหญ่อยากกลับมาทำการเรียนการสอนได้อย่างปกติ แต่ในความเป็นจริงนั้น ถึงแม้จะมีการเปิดโรงเรียนแล้วก็ตาม แต่การสอนก็ไม่สามารถทำได้เต็มที่ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่นักเรียนต้องสลับกันมาเรียน ส่วนหนึ่งอยู่ในห้องเรียน อีกส่วนหนึ่งเรียนออนไลน์ จะส่งผลให้การสอนของครูเป็นในรูปแบบบรรยาย คือไม่สามารถทำกิจกรรมใดในห้องเรียนได้ เนื่องจากยังต้องให้ความสำคัญกับนักเรียนออนไลน์ด้วยนั่นเอง ตนจึงมองว่าถึงแม้เปิดโรงเรียนมาแล้ว ก็ต้องประสบกับปัญหาเช่นเดิม

ธนวรรธน์ กล่าวว่า มาตรการเข้มที่กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขออกมานั้นค่อนข้างเข้มงวด และมีรายละเอียดจำนวนมาก ในส่วนของครูนั้นมีความเข้าใจและพร้อมปฏิบัติตาม หากมาตรการนั้นสามารถสร้างความปลอดภัยให้กับนักเรียนได้จริง โดยปัจจุบัน หากจะเปิดเรียนมี มาตรการเข้มที่โรงเรียนต้องปฏิบัติ 7 มาตรการ ดังนี้

1. การประเมินความพร้อมและรายงานติดตามประเมินผล ที่ทำขึ้นโดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ในข้อนี้จะมีการประเมินตนเองของนักเรียนอยู่ 44 ข้อ ส่วนนี้จำเป็นต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ว่าเหตุผลและความจำเป็นของมาตรการเป็นอย่างไร 2. จัดรูปแบบกิจกรรมให้น้อยที่สุด คือ งดการรวมตัวของนักเรียนจำนวนมาก 3. ระบบอาหารตามหลักสุขาภิบาล มาตรการนี้จะหมายถึง นักเรียนไม่สามารถรับประทานอาหารในโรงอาหารได้ใช่หรือไม่ แล้วจะทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและนักเรียนในการเตรียมตัวอย่างไร

4. อนามัยสิ่งแวดล้อม อาคาร และความสะอาด คุณภาพน้ำ 5. แผนเผชิญเหตุของโรงเรียน กรณีพบผู้ติดเชื้อ โรงเรียนต้องมีแผนและพื้นที่รองรับ 6. การติดตามการเดินทางของนักเรียน หรือ Seal Route ซึ่งมาตรการนี้ค่อนข้างควบคุมได้ยาก คือ จะทำอย่างไรที่นักเรียนจะเดินทางจากบ้านแล้วมาโรงเรียนทันที จะมีวิธีการติดตามตรวจสอบกันได้อย่างไร และ 7. มาตรการสำหรับนักเรียนและบุคลากรก่อนเข้าโรงเรียน โดยเฉพาะการตรวจเชื้อด้วย ATK ที่ตอนนี้ยังเป็นปัญหาว่าจะตรวจกันอย่างไร และใครจะเข้ามารับผิดชอบในส่วนของงบประมาณที่จะใช้ เพราะค่าใช้จ่ายดังกล่าวโรงเรียนก็ไม่อาจรับไหว

“เรื่องการตรวจ ATK ถ้าต้องมาตรวจที่โรงเรียน วันนั้นจะได้เรียนไหม และยังไม่ทราบว่าชุดตรวจนี้ ใครเป็นผู้ดูแล สนับสนุนงบประมาณ ครูส่วนใหญ่ยอมเหนื่อย ถ้าเป็นไปเพื่อความปลอดภัย แต่มาตรการต้องมีความชัดเจนด้วย”

ธนวรรธน์ สุวรรณปาล

ธนวรรธน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมีมาตรการส่งผลต่อการทำหน้าที่ของครูอยู่แล้ว ถ้ากลับมาเปิดโรงเรียนก็จะมีเรื่องของการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเข้ามาเพิ่มเติม ต้องมีแบบสำรวจ แบบสอบถาม ติดตามตรวจสอบ ความหนักจะเกิดขึ้นกับครูที่ปรึกษา ที่ต้องดูแลอย่างน้อย 30-40 คน และจะกระทบต่อประสิทธิภาพในการสอนที่ต้องเร่งอย่างสูงสุดเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเรียนออนไลน์ด้วยนั่นเอง

รร.เอกชนเปิดแบบขั้นบันได ใช้งบฯ ตนเองจัดหาชุดตรวจ ATK

ผศ.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานงานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) กล่าวว่า ในสมาคมของโรงเรียนเอกชนได้มีการพูดคุยกัน และจะ เปิดโรงเรียนแบบขั้นบันได คือ เปิดทีละระดับชั้น พิจารณาจากความเหมาะสม และการปฏิบัติตามมาตรการของนักเรียน รวมถึงความสมัครใจของผู้ปกครอง เพราะฉะนั้นการเปิดเรียนในกลุ่มแรกจะมีจำนวนไม่มากนัก หลังจากนั้นจะมีการประเมินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากไม่มีอะไรผิดพลาดภายในเดือนมกราคมปีหน้า คงสามารถเปิดให้มาโรงเรียนได้ครบทุกระดับชั้น

ปัจจุบันโรงเรียนเอกชนในระบบมีประมาณ 4,000 แห่ง และนอกระบบอีกประมาณ 8,000 แห่ง ซึ่งพื้นที่ที่ต้องให้ความสำคัญ คือโรงเรียนในจังหวัดสีแดมเข้ม โดยตอนนี้โรงเรียนเอกชนในกรุงเทพมหานครได้รับการอนุมัติให้เปิดโรงเรียนได้แล้วประมาณ 64 แห่ง ที่ต้องดำเนินการทำมาตรการที่เข้มงวดของกระทรวงสาธารณสุข โดยโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพมหานคร ต้องขออนุมัติไปที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และในต่างจังหวัดต้องส่งไปที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งจะมีการทยอยขออนุมัติกันอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถเปิดเรียนได้อย่างปลอดภัย

ผศ.ศุภเสฏฐ์ กล่าวว่า โรงเรียนเอกชนมีสภาวะบีบบังคับให้ต้องเปิดโรงเรียน เพราะหากไม่เปิดก็จะประสบปัญหาเหมือนในปีที่ผ่านมาคือ ไม่มีคนมาจ่ายค่าเทอม ในปัจจุบันโรงเรียนเอกชนประสบสภาวะทางการเงินเป็นหลักเป็นพันล้านบาท การกลับมาเปิดเรียนจะทำให้มีเหตุผล ที่ผู้ปกครองจะสามารถจ่ายค่าเทอมได้บ้าง เพราะฉะนั้น เป้าหมายของกลุ่มโรงเรียนเอกชน คือ ต้องเปิดเรียนก่อน แต่เปิดภายใต้มาตรการที่เข้มข้นของกระทรวงฯ แต่เป็นการเปิดทุกรูปแบบไม่ใช่ออนไซต์อย่างเดียว และส่วนใหญ่ในพื้นที่สีแดงเข้มยังคงเป็นการเรียนแบบออนไลน์

นอกจากนั้น ผศ.ศุภเสฏฐ์ ยังกล่าวต่อว่า ตอนนี้อยากให้กระทรวงศึกษาธิการออกนโยบายที่ชัดเจนว่าการเปิดเรียนเอาแบบไหนกันแน่ โดยเฉพาะเรื่องของการตรวจหาเชื้อ ว่าจะมีทำกันอย่างไร จำนวนกี่ครั้ง เป็นมาตรการที่บังคับหรือไม่ โดยสำหรับชุดตรวจ ATK ตอนนี้โรงเรียนเอกชนสั่งซื้อกันมาแล้ว ด้วยงบประมาณของตนเอง แต่อย่างไรก็ตามอยากให้กระทรวงช่วยสนับสนุนด้วย โดยใช้เงินงบประมาณเรียนฟรี 15 ปี และงบประมาณค่าอุปกรณ์การเรียน ถ้าจะต้องให้นักเรียนมาโรงเรียน ควรเอางบประมาณในส่วนนี้มาซื้อชุดตรวจ ไม่ต้องหางบประมาณใหม่ เพียงแต่ปลดล็อคให้โรงเรียนสามารถหาทางออกได้ เพราะตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพที่ชัดเจน

มาตรการไม่ชัดเจน เนื่องจากขาดคนตัดสินใจ

ธนวรรธน์ กล่าวว่า การพิจารณาเรื่องเปิดเรียนนั้น ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจคือผู้อำนวยการโรงเรียน และคณะกรรมการของโรงเรียนนั้น ๆ ก่อนจะออกมาเป็นมาตรการได้ต้องผ่านกระทรวง และหน่วยงานอื่น ๆ เพราะหากตัดสินใจไปแล้ว เกิดเรื่องขึ้น ก็ไม่มีใครอยากรับผิดชอบ จึงทำให้ทุกคนต้องรอคอยนโยบาย ทำให้มาตรการขาดความชัดเจนว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร และถึงแม้มาตรการออกมาแล้ว ก็ไม่สามารถสื่อสารให้กับผู้ปกครองและนักเรียนได้เข้าใจทั้งหมด

สำหรับมาตรการของกระทรวงที่ออกมานั้นไม่ชัดเจน เพราะเป็นเพียงมาตรการในภาพรวมเท่านั้น แต่ถ้ามาดูในระดับโรงเรียนจริง ๆ จะพบความแตกต่างระหว่างโรงเรียนมัธยมศึกษา และโรงเรียนประถมศึกษา ทั้งเรื่อง การฉีดวัคซีน ธรรมชาติของนักเรียน และการจัดการเรียนการสอน ที่ต่างกันอย่างมาก กระทรวงควรทำให้เห็นภาพชัดเจน เพราะไม่เช่นนั้นโรงเรียนประถมศึกษาบางส่วนก็ยังไม่มีวัคซีนต่อไป มาตรการไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้เหมาะสมกับพวกเขา

เช่นเดียวกับ ผศ.ศุภเสฏฐ์ ที่กล่าวว่า เรื่องของการเปิดโรงเรียนทุกหน่วยงานพยายามหาหลังพิง ด้วยคำพูดที่ว่า ถ้าติดเชื้อขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ ? จึงทำให้เหมือนถามหาความชัดเจนก็จะโยนกันไปมา และจนถึงตอนนี้ก็ไม่สามารถหาคำตอบได้ สำหรับโรงเรียนเอกชนนั้น ขอความร่วมมือให้มีการตัดคณะกรรมการโรคติดต่อประจำโรงเรียน ที่ประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในพื้นที่เข้ามาดูแล และที่สำคัญ คือ ดึงชุมชนเข้ามาช่วยเหลือ ให้รับทราบว่าจะมีการเปิดโรงเรียนแล้ว ชุมชนควรบริหารจัดการ ดูแลบุตรหลานของท่านอย่างไรให้ปลอดภัย

“เรื่องการเปิดโรงเรียน ตอนนี้เหมือนทุกคนกำลังหาหลังพิงกันหมดเลย เพราะกลัวว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ จึงโยนกันไปมา จนยังหาคำตอบไม่ได้แม้กระทั่งตอนนี้ กระทรวงจึงต้องมีนโยบายที่ชัดเจน”

ผศ.ศุภเสฏฐ์ คณากูล

มาตรการต้องมาจากการมีส่วนร่วมตัดสินใจของทุกคน

ธนวรรธน์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญ เมื่อมาตรการนี้มีผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทุกคนจึงควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพราะ ตอนนี้ผู้ปกครองส่วนหนึ่งเริ่มสะท้อนถึงมาตรการว่าควรปรับเปลี่ยน หรือควรเพิ่มเติมอย่างไร โดยเฉพาะแบบประเมินตัวเองที่มีจำนวนมาก ถ้าผู้ปกครองมีความรู้สึกว่าไม่เหมาะสม ต้องเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยสอบถามกัน ว่ามาตรการไหนที่สำคัญและควรทำ การพูดคุยกันทุกฝ่ายและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด และถึงแม้ว่าจะมีมาตรการออกมาแล้ว ก็ควรมีวิธีการสื่อสารที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ปกครองเข้าใจมากที่สุด

ผศ.ศุภเสฏฐ์ กล่าวว่า ในส่วนของโรงเรียนเอกชนนั้นทำความเข้าใจกับผู้ปกครองอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เข้าใจในข้อจำกัดที่มี และด้วยสภาวะบีบบังคับ ให้เราต้องวางแผนเพื่อเปิดโรงเรียนเรียน จึงต้องการนโยบายที่ชัดเจนจากทางรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ ที่ต้องรับนโยบายมาด้วยความเข้าใจ ทั้งสำนักงานศึกษาธิการ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพราะไม่เช่นนั้น การส่งต่อมาตรการมายังโรงเรียนก็จะเกิดปัญหา สุดท้ายย่อมทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนไม่สามารถปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง

สมชาย อยากฝากถึงผู้ใหญ่ว่า สุดท้ายแล้วความสุขและความสนุกในการเรียน ของนักเรียนต้องกลับมา แต่จะกลับมาได้ก็ต้องได้รับการสนับสนุนและเอื้ออำนวยให้เกิดขึ้นได้ด้วย โดยเฉพาะการเข้าถึงการเรียนแบบเท่าเทียมกัน ทุกรูปแบบ และเมื่อเปิดเรียนมาแล้วต้องมีความปลอดภัย เพราะมาตรการที่ออกมานั้น ไม่สามารถทำได้ครบถ้วน 100% หากยังต้องเรียนออนไลน์ต่อไปอีก และยังไม่มีการช่วยเหลือเยียวยานักเรียน จะทำให้เกิดปัญหาอย่างมาก การเข้าถึงระบบการศึกษาอย่างเท่าเทียมไม่ว่ารูปแบบใด เป็นสิ่งที่กระทรวงควรให้ความสำคัญ


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้