ครั้งแรก! ตรวจโควิด “ช้าง” จับตา คุมเชื้อ EEHV โรคร้าย ช้างตายฉับพลัน

สัตวแพทย์ ชี้ รายงานในต่างประเทศ พบโควิด-19 แพร่จากคนสู่ช้าง เดินหน้าศึกษาความเสี่ยง ลุยตรวจเลือดช้างในหมู่บ้านช้าง จ.สุรินทร์ คาดไม่เกิน 3 วัน รู้ผล ยืนยันหากพบช้างติดโควิด อาการไม่รุนแรงเหมือนคน พร้อมเฝ้าระวังโรคติดเชื้อรุนแรง EEHV หวั่นเคลื่อนย้ายช้างกลับทำงานช่วงเปิดประเทศ ยิ่งแพร่เชื้อ เร่งสกัดโรคให้เร็ว

นสพ.อลงกรณ์ มหรรณพ พร้อมทีมสัตวแพทย์ จุฬาฯ และควาญช้าง ช่วยกันเก็บตัวอย่างเลือดช้าง

23 ต.ค. 2564 – นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ กรรมการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย  พร้อมด้วยทีมสัตวแพทย์ และนิสิต จากภาควิชาสัตวบาล คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพให้กับช้าง ที่ ศูนย์คชศึกษา หรือ หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ โดยมีช้างเกือบ 100 เชือก เข้ารับการตรวจสุขภาพ ซึ่งส่วนใหญ่ตกงานจากปางช้างปิดตัว เนื่องในสถานการณ์โควิด-19

นสพ.อลงกรณ์ บอกว่า ช้างตกงานทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายจากเมืองท่องเที่ยวกลับมายังต่างจังหวัด ซึ่งที่บ้านตากลาง ต.กระโพ จ.สุรินทร์ ถือเป็นจุดใหญ่ที่ช้างตกงานกลับบ้าน มารวมตัวกันไม่น้อยกว่า 300 เชือก ความกังวลคือโรคระบาดที่จะตามมา ดังนั้นควาญช้างจึงต้องดูแลสุขภาพช้างอย่างสม่ำเสมอ

ช้างไม่น้อยกว่า 300 เชือก ภายในหมู่บ้านช้างบ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ส่วนใหญ่ตกงานจากปางช้างปิดตัว ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

“การตรวจสุขภาพช้างวันนี้คือรอบปกติที่ทำกันอย่างต่อเนื่องทุก ๆ เดือน ทั้งการถ่ายพยาธิ ฉีดวัคซีนผสมป้องกันโรคติดต่อในช้าง การให้ยาบำรุงร่างกาย รวมถึงการเก็บตัวอย่างเลือดช้างเพื่อตรวจหาความเสี่ยง “เชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง” หรือ “โรคไวรัสลำไส้อักเสบติดต่อเฉียบพลัน” (Elephant Endotheliotropic Herpes- Virus : EEHV) ซึ่งเป็นโรคติดต่อรุนแรงในช้างอายุน้อยกว่า 12 ปี ก่อให้เกิดอันตรายต่อเส้นเลือดฝอยแตก ในตับ ไต หัวใจ ปอด สมอง และกระเพาะอาหาร ส่งผลให้ช้างล้มตายอย่างเฉียบพลันภายใน 48 ชั่วโมง”

นสพ.อลงกรณ์ บอกด้วยว่า สำหรับประสบการณ์ดูแลช้างในพื้นที่หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ที่ผ่านมานับสิบปี พบอุบัติการณ์โรค EEHV มาตั้งแต่ช่วงปี 2553-2554 ในเวลานั้นเฉพาะที่บ้านตากลาง มีช้างอายุ 1-5 ปี ล้มตายฉับพลันจากภาวะเลือดออกในอวัยวะ ที่มีผลมาจากโรค EEHV มากถึงกว่า 50 เชือก จากนั้นจึงค่อย ๆ ศึกษา ร่วมกับหลายหน่วยงาน เพื่อพยายามหาทางควบคุมโรค จนการระบาดค่อย ๆ ลดลง การตายในช้างก็ลดลง เหลือเฉลี่ยปีละกว่า 30 เชือก แม้ว่าปัจจุบันโรค EEHV กลายเป็นโรคประจำถิ่นในช้างไปแล้ว แต่ก็ยังมีความอันตราย เพราะหากระบาดแล้วรุนแรง สูญเสียถึงชีวิต ในขณะที่ปีนี้ พบช้างที่อยู่ในการดูแล ตายจากโรค EEHV ไปแล้ว 2 เชือก

กระบวนการตรวจหาเชื้อ EEHV ด้วยชุดตรวจของทีมสัตวแพทย์ จุฬาฯ

นสพ.อรรณพ สุริยสมบูรณ์ ภาควิชาสัตวบาล คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ทางภาควิชาฯ ได้พัฒนาชุดตรวจ EEHV โดยใช้วิธีสกัดสารพันธุกรรมเชื้อจากตัวอย่างเลือดช้าง ทำให้รู้ผลเร็ว มีส่วนสำคัญต่อการรักษา และสกัดการแพร่เชื้อที่ทำได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน นี่คือสิ่งจำเป็นในช่วงที่ไทยเตรียมเปิดประเทศ เพราะหากไม่มีการเฝ้าระวัง ควบคุมโรค ในช่วงเวลาที่ถูกคาดการณ์กันว่า ช้างจะเคลื่อนย้ายกลับคืนสู่ปางช้างในเมืองท่องเที่ยว อาจส่งผลให้การแพร่เชื้อในวงกว้าง จึงจำเป็นต้องเร่งตรวจเพื่อลดความเสี่ยง สำหรับการตรวจครั้งนี้ สามารถเก็บตัวอย่างเลือดจากช้าง จำนวน 93 เชือก คาดว่าจะได้ผลยืนยันจากห้องปฏิบัติการเร็ว ๆ นี้

นสพ.อรรณพ ยังบอกด้วยว่า ไม่ใช่แค่ตรวจหาเชื้อ EEHV เท่านั้น แต่ตัวอย่างเลือดที่ได้ ยังถูกนำกลับไปตรวจคัดกรองความเสี่ยงหาเชื้อโควิด-19 ในช้าง ซึ่งถือเป็นการศึกษาเรื่องนี้ครั้งแรก เพราะช้างถือเป็นสัตว์ที่คลุกคลีใกล้ชิดกับคน ที่สำคัญในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีรายงานยืนยันข้อมูลทางการแพทย์ พบการติดเชื้อโควิด-19 ในช้างที่ประเทศอินเดียถึง 28 เชือก ถือเป็นการแพร่เชื้อจากคนสู่สัตว์ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ซึ่งการเก็บตัวอย่างเลือดช้างในวันนี้ จะถูกนำกลับไปตรวจหาเชื้อโควิดที่ห้องปฏิบัติการภายในภาควิชาฯ คาดว่าจะทราบผลภายในไม่เกิน 3 วัน

วัคซีนผสมป้องกันโรค และยาบำรุงร่างกาย ฉีดให้กับช้าง ตามรอบการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องทุกเดือน

“คนที่เป็นโควิดสามารถแพร่ไปยังช้างได้ ตัวอย่างยืนยันชัดเจนแล้วที่อินเดีย ว่าช้างติดโควิดมาจากคน ซึ่งพื้นที่หมู่บ้านช้างที่บ้านตากลาง จ.สุรินทร์ ที่ผ่านมา มีผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง และกักตัว รวมถึงคนกับช้างอยู่ใกล้ชิดกัน นี่อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อบ่งชี้สำคัญ แต่หากพบช้างติดเชื้อโควิด ตามรายงานข้อมูลทางการแพทย์ในต่างประเทศ ก็ยืนยันว่าอาการไม่รุนแรงเหมือนคน เพียงแต่จะทำให้ช้างซึม มีไข้ น้ำมูก ส่วนการติดเชื้อที่ปอดก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

นักข่าวไม่จำกัดสาย จัดให้ได้ทุกประเด็น