เลือกตั้ง อบต. หลากหลาย คาดเดายาก หวังคนรุ่นใหม่ใช้สิทธิเปลี่ยนแปลงท้องถิ่น

‘3 ผู้เชี่ยวชาญ’ เชื่อ การแข่งขัน อบต. สูงกว่าทุกครั้ง เหตุอั้นเลือกตั้ง 8 ปี ที่นั่ง ส.อบต. ลดลง เห็นพ้อง ถ้าท้องถิ่นพัฒนา อบต. จะดูแลคุณภาพชีวิตคนได้

วันนี้ (15 ต.ค. 2564) เป็นวันสุดท้ายของการสมัครรับเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ทั่วประเทศ บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก ผู้สมัครแต่ละเขตแสดงความพร้อม และให้ความสนใจกับการเลือกตั้งเป็นอย่างมาก เพราะห่างหายจากการเลือกตั้งมานาน และมีตัวแปรทางการเมืองในระดับท้องถิ่นที่เปลี่ยนแปลงไปหลายประการ

Active Talk ชวนวิเคราะห์ทุกประเด็น เปิดมุมมองไปกับวิทยากรผู้ติดตามการเมืองท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด

Active Talk วันที่ 14 ตุลาคม 2564

เลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี กับการแข่งขันที่สูงขึ้น

รศ.อรทัย ก๊กผล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การเลือกตั้ง อบต. ครั้งแรกในรอบ 8 ปี เท่ากับไม่ได้เปลี่ยนผู้บริหารท้องถิ่นมาแล้ว 2 วาระ ย่อมทำให้การเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นที่น่าจับตามอง และได้รับความสนใจจากนักการเมืองท้องถิ่นจำนวนมาก สังเกตได้จากจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งในวันแรกที่มีจำนวนมากทั้งในส่วน นายก อบต. และ ส.อบต.

ความแตกต่างอย่างหนึ่งที่ไม่เหมือนการเลือกตั้งที่ผ่านมา คือ ในกฎหมายเลือกตั้ง อบต. ครั้งนี้ จำนวนผู้แทนจากหมู่บ้านในตำแหน่ง ส.อบต. ลดลงเหลือคนเดียวในหมู่บ้าน ย่อมทำให้การแข่งขันสูงขึ้นเป็นธรรมดา จากเดิมที่หมู่บ้านหนึ่งอาจมี 2 ตำแหน่ง จึงทำให้ผู้สมัครจำนวนเท่าเดิม แต่ต้องชิงที่หนึ่งกัน อาจทำให้กลุ่มเดียวกัน หรือเครือข่ายเดียวกันต้องมาแข่งขันกันเองก็เป็นได้

รศ.อรทัย กล่าวต่อว่า การเลือกตั้ง อบต. อาจเป็นฐานเสียงต่อการเลือกตั้งในระดับชาติที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 ผู้ที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น อาจมีส่วนเชื่อมโยงต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ซึ่งหลายพรรคการเมืองอาจมองเห็นโอกาสตรงนี้ แม้นักการเมืองจะไม่สามารถเข้ามามีส่วนช่วยได้เต็มที่ก็ตาม แต่ไม่จำกัดให้ผู้ลงสมัครอาจเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองได้ด้วย

ความสนใจการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น สร้างแรงกดดันต่อผู้สมัคร

ศ.โกวิท พวงงาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังท้องถิ่นไท ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองท้องถิ่น ที่จะเกิดขึ้นกับการเลือกตั้งอบต.ในครั้งนี้ คือ ประชาชนเริ่มให้ความสนใจกับการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น และนำมาสู่แรงกดดันให้กับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งว่าจะสามารถตอบโจทย์การพัฒนาท้องถิ่นได้หรือไม่

แรงจูงใจของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง คือ การเข้ามาบริหารงบประมาณของ อบต. ที่มีตั้งแต่ระดับ 80 – 500 ล้านบาท ว่าจะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการจัดบริการสาธารณะในท้องถิ่นได้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร สิ่งนี้เป็นความท้าทายใหม่ซึ่งจะเกิดขึ้นกับการเลือกตั้งในครั้งนี้

ในขณะที่ประเด็นที่การเลือกตั้ง อบต. อาจเป็นฐานเสียงให้กับการเมืองระดับชาตินั้น ศ.โกวิท มองว่า อาจมีส่วนเกี่ยวข้องน้อย ไม่เหมือนกับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และการเลือกตั้งเทศบาล เนื่องจากเป็นเขตพื้นที่ขนาดเล็ก มีประชากรจำนวนไม่มาก จึงอาจไม่ใช่พื้นที่เป้าหมายที่พรรคการเมืองระดับชาติจะเข้ามามีบทบาท เพราะอาจต้องใช้ทรัพยากรลงไปเป็นจำนวนมากตามเขตเลือกตั้ง ซึ่งมีมากถึง 5,300 แห่ง

ท้องถิ่นขนาดเล็กที่มีความหลากหลาย และคาดเดายาก

ผศ.วสันต์ เหลืองประภัสร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเลือกตั้ง อบต. ในครั้งนี้น่าสนใจ และคาดเดาได้ยากที่สุด ประการแรก เพราะ การปรับเปลี่ยนจำนวน ส.อบต. เนื่องจาก อบต. นั้น จะแตกต่างจากท้องถิ่นประเภทอื่น ที่ใช้จำนวนประชากรเป็นเกณฑ์ในการกำหนดสมาชิก แต่ อบต. ใช้จำนวนหมู่บ้านเป็นเกณฑ์ และครั้งนี้จะทำให้มีจำนวนสมาชิกหายไปครึ่งหนึ่ง และจะส่งผลต่อการแข่งขันที่สูงขึ้น

ประการต่อมา อบต. เป็นท้องถิ่นที่มีความหลากหลายมากที่สุด ทั้งในแง่ของ ขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร และฐานะรายได้ รวมถึงลักษณะของสภาวะทางสังคม ผศ.วสันต์ อธิบายว่า ในปัจจุบันยังมี อบต. ที่เป็นเขตป่าเขาอยู่ เช่น อบต.คลองน้ำไหล จ.กำแพงเพชร ซึ่งมีเนื้อที่ใกล้เคียงกับจังหวัดสมุทรสงครามทั้งจังหวัด มีหมู่บ้านมากถึง 28 หมู่บ้าน ในขณะที่ด้านรายได้ ข้อมูลที่จังหวัดสมุทรปราการ มีความแตกต่างกันมาก เช่น อบต.บางพลีใหญ่ มีรายได้รวมเงินอุดหนุนมากถึง 638 ล้านบาท ในขณะที่ อบต.บางกระสอบ มีรายได้ 28 ล้านเท่านั้น

ความแตกต่างของ อบต. แต่ละแห่งนี้เอง จึงทำให้การคาดเดาทิศทางการเลือกตั้งเป็นไปได้ลำบาก เพราะการลงคะแนนเพื่อเลือกผู้บริหารแต่ละพื้นที่ย่อมแปรผันไปตามสภาวะต่าง ๆ จึงไม่สามารถกำหนดได้ว่าพรรคใดจะชนะ หรือกลุ่มการเมืองใดจะได้รับเลือก ขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชนในพื้นที่นั้น ว่าสิ่งใดสำคัญต่อการใช้ชีวิต

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก กำหนดอนาคต อบต. ?

รศ.อรทัย กล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจ คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาใช้สิทธิเลือกตั้ง อบต. ซึ่งอาจเป็นตัวตัดสินการเปลี่ยนแปลงของการเมืองถิ่นได้ แต่ที่ผ่านมาปรากฏว่าการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของคนกลุ่มนี้ยังน้อยอยู่ เนื่องจากการเลือกตั้งท้องถิ่น กฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง หรือการเลือกตั้งล่วงหน้าได้ และส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้จะไม่ได้อยู่ที่ภูมิลำเนาของตัวเอง

นอกจากนั้นความใกล้ชิด หรือผูกพันกับท้องถิ่นก็มีน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะการมาศึกษาและทำงานต่างภูมิลำเนาทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยก่อนการเลือกตั้ง อบต. ในแต่ละหมู่บ้านจะต้องเกณฑ์คน เชิญชวนให้ลูกหลานกลับบ้านมาเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นคนในครอบครัว คนรู้จัก แต่ในปัจจุบันสภาพสังคมก็เปลี่ยนไปแล้ว ความท้าทายคือจะทำให้คนรุ่นใหม่กลับไปเลือกตั้งได้อย่างไร

“ที่ผ่านมาโอกาสของการชนะเลือกตั้ง อบต. จะอยู่ที่เครือญาติ คนรู้จัก มากกว่านโยบาย ในขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่หันมามองเรื่องแนวคิดและนโยบายมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากเห็นบ้านเกิดของตนเองพัฒนา จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่กลับไปใช้สิทธิเลือกตั้ง”

รศ.อรทัย ก๊กผล

ผศ.วสันต์ กล่าวว่า การที่ไม่ได้เลือกตั้งมายาวนานอย่างน้อย 8 ปี จะทำให้คนที่มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่เพิ่มขึ้น อย่างน้อยจะมีคน 8 รุ่น ที่ต้องเข้าคูหาเลือกตั้ง อบต. เป็นครั้งแรก ซึ่งอาจจะไม่ใช่คนรุ่นใหม่เสียทีเดียว บางคนอาจจะเคยเลือกตั้งในระดับชาติ แต่ในระดับอบต. เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของเขา สิ่งที่น่าสนใจคือคนเหล่านี้ ‘เขาจะเลือกใคร’

และเรื่องที่น่ากังวล คือ สถิติการไปใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น 2 ครั้งล่าสุด ถือว่ามีจำนวนไม่มาก การเลือกตั้ง อบจ. 62% การเลือกตั้งเทศบาล 66.9% ซึ่งน้อยกว่าการเลือกตั้งระดับประเทศ ที่มี 74% จึงสามารถคาดเดาได้ว่าการเลือกตั้ง อบต.ในครั้งนี้ ไม่น่าจะเกิน 70% และส่วนที่หายไปจำนวนมากก็คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่ด้วยข้อจำกัดที่ไม่สามารถกลับไปได้ ด้วยภาระการศึกษา และการทำงาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้

ขณะที่ ศ.โกวิท มองว่าคนรุ่นใหม่อาจไม่ได้มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งใน อบต. มากนัก เนื่องจากเขตเลือกตั้งของ อบต. ค่อนข้างจำกัด ส่วนใหญ่จะมีจำนวนประชากรตั้งแต่ 2,000 คน ถึง 10,000 คน รวมทุกเขตแล้วอาจอยู่ที่ประมาณ 13 – 14 ล้านคน จะมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุตั้งแต่ 18 – 25 ปี ไม่เกิน 3 ล้านคน และเมื่อกระจายลงไปในแต่ละเขตก็จะมีจำนวนน้อยลง แต่คนส่วนใหญ่กลับเป็นคนที่มีอายุตั้งแต่ 26 – 60 ปี จึงมองว่าคนที่ใช้ชีวิต และประกอบอาชีพในท้องถิ่นนั้นเองที่จะเป็นจุดเปลี่ยนได้ ที่จะผลักดันให้เปลี่ยนแปลง อบต. ได้

จับตาผู้สมัครหน้าใหม่ – นักธุรกิจ – นักการเมืองหญิง

ผศ.วสันต์ กล่าวว่า สิ่งที่ควรให้ความสนใจอีกประเด็นหนึ่ง คือ ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งนายก อบต. และ ส.อบต. ว่าในครั้งนี้มีกลุ่มคนที่เป็นคนรุ่นใหม่ หรือผู้สมัครหน้าใหม่คนใดเข้ามาสู่แวดวงการเมืองท้องถิ่นบ้าน และเหตุผลของการตัดสินใจของแต่ละคนเป็นอย่างไร สิ่งนี้จะกลายเป็นตัวเลือกสำคัญที่จะทำให้บรรยากาศของการเมืองท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงไปได้

ขณะที่ รศ.อรทัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสถาบันพระปกเกล้าได้จัดอบรมหลักสูตรผู้ลงสมัคร นายก อบต. และสมาชิกสภา อบต. และพบว่าผู้ที่สนใจสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้มีหลากหลาย ตั้งแต่อดีตผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนข้าราชการที่เกษียณอายุแล้ว และที่น่าสนใจคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีประสบการณ์เป็นนักธุรกิจในพื้นที่ ให้ความสนใจในการลงสมัครครั้งนี้ด้วย

‘นักการเมืองหญิง’ ถือเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ และอยากให้มีการสนับสนุนผู้หญิงเข้าไปทำหน้าที่ผู้บริหารท้องถิ่นมากขึ้น จากข้อมูลของ The Active ที่ได้ทำการรวบรวมไว้พบว่าผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายก อบต.ในครั้งที่ผ่านมามีเพียง 7% เท่านั้น รศ.อรทัย พบว่าจากการลงพื้นที่ตรวจประเมินรางวัลของสถาบันพระปกเกล้า นโยบายและโครงการในท้องถิ่นที่นำโดยผู้หญิงจะมีความแตกต่างจากผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาครอบครัว อาชีพ และส่งเสริมสุขภาพของคนใน อบต. นั้น ๆ

ศ.โกวิท มองว่า เป็นธรรมชาติของการเข้าสู่ตำแหน่งที่จะมีกลุ่มคนรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น นักศึกษาที่จบทางด้านรัฐศาสตร์ หรือการพัฒนาชุมชนก็มีแนวคิดที่อยากเข้าไปทำงานการเมือง เข้าไปพัฒนาท้องถิ่นของตนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี และเปิดโอกาสให้คนหน้าใหม่เข้าไปใช้ความรู้ความสามารถเพิ่มมากขึ้น

โจทย์ใหญ่ คือ การสร้างท้องถิ่นให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง

ผศ.วสันต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมมักมีทัศนคติว่าท้องถิ่นนั้นไม่ได้มีผลงานเป็นรูปธรรม และไม่สามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้จริง ซึ่งต้องยอมรับว่าในบางพื้นที่ก็ยังมีอุปสรรคอยู่มาก แต่ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ การกระจายอำนาจ และกฎระเบียบที่มาผูกมัดการทำงานของท้องถิ่น จะทำอย่างไรให้ท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้น และมีนัยยะสำคัญต่อชีวิตผู้คนได้จริง ๆ

“โจทย์ใหญ่ในอนาคต คือ จะทำอย่างไรให้ท้องถิ่นเติบโตและเข้มแข็ง และมีนัยยะสำคัญต่อชีวิตผู้คน ให้ อบต. เป็นกระดูกสันหลังในการดูดซับปัญหา หลายที่ทำได้ดีแล้ว แต่คิดว่าต้องมีมากกว่านี้”

ผศ.วสันต์ เหลืองประภัสร์

การเลือกตั้ง อบต. ในครั้งนี้ ต้องทำให้สังคมเห็นว่า อบต. เป็นตัวการสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น จากการลงพื้นที่ พบว่า อบต.สามารถแก้ปัญหาได้ดีอย่างมาก ในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ที่โดดเด่นมากที่สุด คือ การดูแลเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ ที่ดูแลโดย อบต. สามารถลดภาระค่าครองชีพในครัวเรือนได้มากกว่า 100,000 บาทต่อครัวเรือน แต่สิ่งสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้ทุกที่มีมาตรฐาน และศักยภาพเท่าเทียมกัน

รศ.อรทัย กล่าวว่า วิธีคิด การทำงาน และบุคลากรของ อบต. พัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างมาก เราเห็นโครงการที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี แม้จะมีงบประมาณที่จำกัด สิ่งที่ต้องส่งเสริมคือการใช้อัตลักษณ์ของท้องถิ่น โดยระเบิดประเด็นจากข้างใน จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้จริง ติดเพียงว่าราชการต้องไม่สร้างกฎระเบียบใดมาจำกัดความคิดและการทำงานของท้องถิ่น ให้อิสระแก่ท้องถิ่น และการเลือกตั้ง อบต. ก็จะเปลี่ยนไป และจะเชื่อมโยงการแก้ปัญหาได้ โดยที่ไม่ต้องรอรัฐบาล

“เรามาถึงทางสองแพร่ง ของการปกครองท้องถิ่น ประชาชนต้องเลือกว่า เราจะปล่อยให้การเมืองใหญ่จะมาครอบงำต่อไป หรือจะให้อิสระกับท้องถิ่น และประชาชนสามารถเลือกได้ว่าเค้าต้องการอะไร จะเดินหน้าท้องถิ่นตนเองไปในทิศทางไหน”

ศ.โกวิท พวงงาม

ศ.โกวิท เชื่อมั่นว่า จะพัฒนาการเมืองได้ ต้องเริ่มจากท้องถิ่น นโยบายพัฒนาต้องเกิดจากคนในชุมชนเอง ไม่ใช้การมอบนโยบายจากส่วนกลาง ตนในฐานะ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลพยายามเสนอแนะในเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร ส่วนที่ทำได้พยายามผลักดันกฎหมายเพื่อให้สิทธิประชาชนอย่างเต็มที่ ทั้งกฎหมายเพื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กฎหมายเกี่ยวกับกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกระดับกำลังอยู่ในสภา แต่การขับเคลื่อนในสภาต้องเข้าใจตรงกัน เมื่อทุกส่วนเห็นตรงกันเชื่อว่าจะสามารถทำให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับท้องถิ่นมากกว่านี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้