ผลสำรวจ ’64 พบ ความเข้าใจของคนไทยถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าแตกต่างกัน

นักวิชาการวอนประชาชนและผู้กำหนดนโยบาย ใช้วิจารณญาณข้อมูลจากเครือข่ายที่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมนำผลสำรวจใช้กำหนดนโยบายควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 

ผศ.ศรัณญา เบญจกุล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 ที่พบว่า ประชากรไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีจำนวน 78,742 คน คิดเป็นอัตรา 0.14 % ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่มีจำนวนทั้งหมด 57 ล้านคน เป็นคนที่สูบทุกวัน 40,724 คน และสูบแบบไม่ทุกวัน 38,018 คน  โดยผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 24,050 คน อายุระหว่าง 15-24 ปี และส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และภาคกลาง  47,753 คน ขณะที่คนไทยที่รู้จักบุหรี่ไฟฟ้า เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายมากกว่าบุหรี่ธรรมดา 26.7% เชื่อว่าอันตรายน้อยกว่า 11.3% และเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดามีอันตรายเท่ากัน 62.0% 

ทั้งนี้ ข้อมูลจำนวนและอัตราคนไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพประชากร ปี 2564 ที่เก็บข้อมูลจากทั้งสิ้น 73,654 ครัวเรือนทั่วประเทศ ครอบคลุมประชากรตัวอย่าง 164,406 คน นับเป็นการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา 

นอกจากสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่แล้ว ยังครอบคลุมพฤติกรรมการดื่มสุรา การกินอาหาร และการออกกำลังกาย เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ในการกำหนดนโยบายควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งรวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคปอดเรื้อรัง ที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงทั้ง 4 ปัจจัยที่ทำการสำรวจในครั้งนี้ โดยทำการสำรวจระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-สิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 ทั้งนี้ จำนวนและอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้า รวมอยู่ในอัตราและจำนวนผู้สูบบุหรี่ทั่วประเทศ ที่เท่ากับ 17.4% และจำนวนคนสูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน  ผศ.ศรัณญา เบญจกุล กล่าว

ด้าน พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ที่ผ่านมาการสำรวจเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีเพียงไม่กี่การสำรวจ และล้วนเป็นการสำรวจในกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กในประชากรกลุ่มเฉพาะ  ขณะที่เครือข่ายที่รณรงค์สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ที่ล่าสุดออกข่าวว่า มีคนไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่า 2 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ประเมินเกินจริงไปเป็นอย่างมาก

 รายงานความคืบหน้าการระบาดของยาสูบระดับโลก ขององค์การอนามัยโลกที่เปิดเผยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่เจาะลึกเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ระบุชัดเจนว่า บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าและเครือข่าย ได้มีการรณรงค์ให้ข้อมูลที่บิดเบือนเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เช่นอันตรายน้อยกว่าและช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ธรรมดา ซึ่งเป็นข้ออ้างที่รายงานองค์การอนามัยโลกระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานจากฝ่ายที่เป็นกลาง สนับสนุนข้ออ้างของบริษัทบุหรี่และเครือข่ายรณรงค์สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า จึงอยากขอให้ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้กำหนดนโยบายของประเทศ ใช้วิจารณญาณในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ที่มาจากเครือข่ายที่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติที่ผลิดและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า

พญ.เริงฤดี กล่าว

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้