แจก ATK กลุ่มเสี่ยงแล้ว 474 ชุดพบผลบวก 1 คนอยู่ใน กทม.

สปสช.แจงเหตุแจก ATK ล่าช้าติดขั้นตอนตรวจรับ เข้มงวดคุณภาพ ขณะแอปฯ “เป๋าตัง” อัพเดทเปิดรับลงทะเบียน-ประเมินความเสี่ยงพร้อมรับ ATK หน่วยบริการใกล้บ้าน  

วันที่ 16 ก.ย. 2564 วันแรกในการเริ่มแจกชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุดแก่ประชาชน ซึ่ง สปสช.และกระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนกระจาย โดยเน้นหนักผ่านหน่วยบริการต่างๆทั้งโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.แล้วให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน หรือองค์กรภาคประชาชนนำไปจัดส่งให้กับกลุ่มเป้าหมาย 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ลงพื้นที่ร้านยากนก ฟาร์มา เชน  สาขาทาวน์อินทาวน์ โดยร้านดังกล่าวเป็นหนึ่งในร้านยาที่ร่วมมือกับ สปสช. ในการกระจายชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) แบบ Self-test แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเองที่บ้าน

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในพื้นที่ กทม. หรือเมืองใหญ่ๆ อาจมีบางพื้นที่ที่ไม่มีผู้นำชุมชนหรือไม่มีอาสาสมัครสาธารณสุขรับผิดชอบชัดเจน ดังนั้น จึงมีการเพิ่มช่องทางแก่ประชาชนให้สามารถรับ ATK ที่คลินิกชุมชนอบอุ่นหรือร้านยาที่เข้าร่วมโครงการด้วย โดยขอรับผ่านแอปฯเป๋าตัง ที่เมนู ชุดตรวจ ATK ฟรี หลังจากทำแบบประเมินความเสี่ยง หากผลพบว่าเป็นประชาชนกลุ่มเสี่ยง ก็ค้นหาหน่วยบริการ พร้อมกับโทรไปล่วงหน้าเพื่อติดต่อขอรับได้ 

สำหรับการจัดส่งชุดตรวจ ATK ให้หน่วยบริการนั้น ด้วยจำนวนชุดตรวจ ATK ล็อตแรกมีจำนวนถึง 3 ล้านชุด ประกอบการตรวจคุณภาพและมาตรฐานชุดตรวจ ATK ของโรงพยาบาลราชวิถีและองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่ได้เพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบโดยละเอียดและเข้มงวด เพื่อให้มั่นใจยิ่งขึ้นก่อนนำส่ง ATK ถึงมือประชาชน ทำให้การกระจายชุดตรวจ ATK มีความล่าช้า 

โดยดำเนินการตรวจรับแล้วเสร็จในช่วงเย็นของวันที่ 15 ก.ย. 2564 ที่ส่งผลให้การจัดส่ง ATK เพื่อแจกให้กับประชาชนต้องเลื่อนออกไปด้วย ซึ่งจำนวน1,167,250 ชุด สามารถส่งให้กับหน่วยบริการในเขต กทม. ได้ทั้งหมด รวมทั้งพื้นที่จังหวัดสระบุรี นครราชสีมา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยมีการทยอยส่งแล้วเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (16 ก.ย.64) ส่วนพื้นที่สีแดงเข้มอื่นจะเริ่มทยอยส่งได้ในวันพรุ่งนี้ (17 ก.ย. 64) และพื้นที่สีแดงจะจัดส่งในวันถัดไป (18 ก.ย. 64) 

“การแจก ATK ในบางพื้นที่ต้องเลื่อนออกไป ไม่สามารถดำเนินการได้พร้อมกันทั่วประเทศ สาเหตุการตรวจรับที่ล่าช้า ยืนยันว่าไม่ได้เป็นผลจากเรื่องคุณภาพแต่มาจาก ATK ที่มีจำนวนมาก และการเพิ่มขั้นตอนตรวจสอบต่างๆ ที่เข้ามาหลังจากการถูกทักท้วงต่างๆ” 

เลขาธิการ สปสช. กล่าว 

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลแดชบอร์ด (Dashboard) ที่รายงานจำนวนการรับ ATK ตามเวลาจริง (real time) ณ เวลา 16:00 น. มีการจ่ายแจก ATK ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงแล้วจำนวน 474 ชุด พบผลบวก 1 รายอยู่ในพื้นที่ กทม.

การลงทะเบียนและคัดกรองความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ผ่านแอปพลิเคชัน เป๋าตัง นั้น ทางธนาคารกรุงไทยได้เปิดให้มีการอัพเดทแอปพลิเคชันเป๋าตังแล้วตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยระบบจะปรากฏเมนู ฟรีชุดตรวจโควิด ซึ่งประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถทำการประเมินความเสี่ยงก่อนรับชุดตรวจโควิด พร้อมกับค้นหาหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุดเพื่อขอรับชุดตรวจ นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำขั้นตอนการใช้ชุดตรวจ ATK เพื่อตรวจเชื้อโควิดด้วย

ด้าน ภญ.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน กล่าวว่า ร้านยาแต่ละร้านจะได้รับจัดสรร ATK ตามจำนวนประชากรและความรุนแรงของการระบาดในพื้นที่ อย่างเช่นที่ร้านยาแห่งนี้ได้รับจัดสรรมา 2,700 ชุด โดยการแจกATK นั้นสามารถทำได้ 2 วิธีคือการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันแอปเป๋าตังแล้วเลือกร้านยาที่ต้องการไปรับ ATK หรืออาจจะ walk in เข้ามาติดต่อที่ร้านยาเลยก็ได้ 

“ชุดตรวจ ATK จะไม่แจกให้ทุกคน แต่จะแจกให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยง โดยไม่ว่าจะขอรับด้วยวิธีใดก็ตาม จะต้องมีการทำแบบประเมินความเสี่ยงก่อน เพื่อคัดกรองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจหาเชื้อหรือไม่” 

ภญ.ศิริรัตน์ กล่าว

อภ. แนะ ปชช. เก็บ ATK ในอุณหภูมิ 4-30 องศา

ขณะที่ ดร.ภญ.นันทกาญจน์  สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม ระบุขอแจ้งประชาชนที่นำ ATK ไปใช้งานด้วยตนเอง ต้องปฏิบัติตามคู่มือวิธีการใช้งานที่ผู้ผลิตได้ระบุไว้ หากยังไม่เปิดใช้งานต้องเก็บรักษาไว้ตามอุณหภูมิที่ระบุ เพื่อให้ ATK มีประสิทธิภาพในการทดสอบได้อย่างถูกต้องโดยเก็บไว้ที่อุณหภูมิระหว่าง 4-30 องศาเซลเซียส ไม่เก็บในที่ชื้น ไม่เก็บไว้ในรถยนต์ที่จอดกลางแจ้ง

สธ.ให้ อสม.ทั่วประเทศ แนะวิธีใช้ชุดตรวจ ATK 

วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า อสม.ในฐานะด่านหน้าที่ต้องพบปะกับประชาชนอยู่เป็นประจำให้ดำเนินงานด้วยความเข้มงวดและช่วยสร้างความตระหนักให้กับคนในชุมชนป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล ขอให้คิดเสมอว่าทุกคนที่อยู่รอบตัวเราไม่ว่าจะสนิทแค่ไหน อาจเป็นผู้ติดเชื้อโควิด- 19 จึงต้องป้องกันสูงสุดไม่ให้ตนเองไปรับหรือแพร่เชื้อโควิดให้กับผู้อื่น รวมถึงเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งถือเป็นเกราะป้องกันที่สำคัญที่จะช่วยให้พี่น้อง อสม. ปลอดภัยในการปฏิบัติงาน และขอให้ทุกจังหวัดดำเนินการเร่งฉีดวัคซีนให้กับ อสม. ให้ครบ 100% โดยเร็วที่สุด 

ด้านนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ   กล่าวว่า กรมฯ ได้สนับสนุนให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโรคโควิด- 19 ได้อย่างปลอดภัย ตามแนวทาง “ตำบลวิถีชีวิตใหม่ ปลอดภัยจากโควิด- 19”  โดยให้ อสม.ใช้ 5 มาตรการ SCMA (Strong COVID-19 Management Area) ดำเนินการในชุมชน ได้แก่ 

  • เคาะประตูบ้านรณรงค์ป้องกันตนเองสูงสุด
  • เฝ้าระวังคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ด้วยชุดตรวจ ATK
  • เชิญชวนฉีดวัคซีน
  • จัดการสิ่งแวดล้อม
  • จัดระบบบริหารจัดการ เฝ้าระวังควบคุมโรคโควิด 19 

เพื่อให้เป็น ตำบลสีเขียว คือ ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ร้านค้าในชุมชนเคร่งครัดป้องกันตนเองสูงสุด ฉีดวัคซีนครอบคลุมร้อยละ 80 พร้อมเปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาได้ โดยตั้งเป้าหมายดำเนินการให้ครบทั้ง 7,255 ตำบลทั่วประเทศ โดยจะมีการปักธงพื้นที่ต้นแบบ ตำบลสีเขียว จังหวัดละ 1 อำเภออำเภอละ 1 ตำบล

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS