ห่วง ร่าง ก.ม.ควบคุมประชาสังคมฯ ละเมิดข้อมูลส่วนตัว ตัดกลไกถ่วงดุลอำนาจรัฐ

นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี – LGBT+ แสดงจุดยืนคัดค้าน “ร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้” ต่อเนื่อง มองสาระกฏหมายควบคุมมากกว่าส่งเสริม เรียกร้องพิจารณา “ร่างกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม” ฉบับประชาชน

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม สถาบันสังคมประชาธิปไตย (SOC-DEM TH) และ กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย จัดการสนทนาบนแอปพลิเคชัน “คลับเฮาส์” ณ คลับของสถาบันสังคมประชาธิปไตย (คลับ SOC. DEMOCRACY THINK TANK) หัวข้อ “LGBT+/ผู้หญิง/Sex Worker กับกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน” แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อ “ร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. …”  ซึ่งที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาสังคม สภาองค์กรชุมชนทั่วประเทศรวมกว่า 1,000 องค์กร ได้ยื่นคัดค้านการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ 

สุนี ไชยรส รองคณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมทางสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ผลักดันการร่างกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมฉบับประชาชน มองว่า ร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ เป็นความพยายามออกกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน ซึ่งมีเงื่อนไขคือให้กลุ่ม องค์กรประชาชนต่างๆ ต้องไปจดแจ้งกับอธิบดีกรมการปกครอง ทั้งยังมีบทบัญญัติให้องค์กรที่จดทะเบียนตามกฎหมายอื่นๆ อยู่แล้วต้องมาปฏิบัติตามกฎหมายร่างนี้ เป็นการควบคุมภาคประชาสังคม มากกว่ามองว่าประชาชนเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาร่วมกับภาครัฐ

เนื้อหา 12 มาตราของร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังมีแต่เรื่องของการควบคุม  ลิดรอน ล่วงละเมิดสิทธิด้านต่างๆของประชาชนที่รวมกลุ่มกัน อย่างกว้างขวาง ทั้งองค์กรหรือกลุ่มขนาดใหญ่ จนถึงกลุ่มเล็ก ๆ  ต้องจดแจ้งโดยมีโทษทางอาญาสูง  และการเข้มงวดต่อการรับทุนสนับสนุนจากต่างชาติ  จนถึงการมีมาตรการเข้าไปตรวจสอบทางการเงิน ธุรกรรม และกิจกรรมต่างๆในที่ทำการ   เป็นต้น

สุนี อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อปี 2558 สำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งตัวแทนจากภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ฉบับของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และขณะเดียวกันก็มีการจัดทำร่างกฎหมายเข้าชื่อประชาชนว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมขึ้นมาอีกฉบับ ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้เองก็ถูกภาครัฐเตะถ่วง และคณะรัฐมนตรี ฉวยโอกาสในวาระพิจารณาร่างกฎหมายของ พม. ด้วยการเอาร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ หรือร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มฯ ที่จัดทำโดยสำนักงานกฤษฎีกามาเป็นร่างหลักในการพิจารณา ทำให้ร่างกฎหมายเข้าชื่อฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชนถูกแขวนลอย

นาดา ไชยจิตต์  คณะทำงานขบวนผู้หญิงความเท่าเทียมทางเพศและผู้ด้อยโอกาส ครป.  กล่าวว่า ร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นมาในช่วงที่ภาคประชาสังคมกำลังทำงานรุกคืบในการผลักดันสิทธิด้านต่าง ๆ ของประชาชน  ต่อต้านอำนาจรัฐที่กดทับคนชายขอบ  เช่น การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ผ่านมารัฐมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่น่ามีผลสะเทือนโครงสร้างสังคม แต่เมื่อมีการเรียกร้องมากขึ้น และมีการกดดันทางการเมือง รัฐก็เริ่มหาทางที่จะควบคุมผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว

คำถามที่อยากชวนคิดคือ เราจะทำอย่างไรหากทุกครั้งที่ประชาชนคิดจะรวมกลุ่มหรือจัดตั้งองค์กร จะต้องไปขออนุญาตกรมการปกครอง แล้วการทำงานในภาวะวิกฤตอย่างเช่นสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ตอนนี้ จะเป็นอย่างไร หากการมีองค์กรหรือจะจัดตั้งกลุ่มต้องถูกควบคุม ต้องไปขึ้นทะเบียน ต้องตีกรอบแผนการทำงานตามที่กฎหมายจะกำหนดต่อไป ต้องถูกตรวจสอบการเงิน รัฐมีอำนาจตรวจค้นเคหะสถาน เข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ 

กิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย มองว่า ร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ เป็นการ “กำจัด” และ “จำกัด” ให้องค์กรประชาชนค่อยๆ ล้มหายตายจากไป องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) จะเปลี่ยนจากการเป็นหุ้นส่วนของรัฐ  กลายเป็นแค่เงาของรัฐบาล การถ่วงดุลย์ภาครัฐ ภาคธุรกิจก็จะค่อยๆ เลือนหายไปด้วย

อย่างสมาคมฟ้าสีรุ้งฯ เอง แม้จะได้รับการยกเว้นตามมาตรา 5 วรรค 2 ไม่ต้องมาจดทะเบียนซ้ำตามกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มฯ  เพราะได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทสมาคมอยู่แล้ว แต่ก็ยังหนีไม่พ้นมาตราเดียวกันในวรรค 3 คือก็ยังต้องปฏิบัติตาม ต้องถูกควบคุมภายใต้กฎหมายฉบับนี้อยู่เช่นกัน ซึ่งสิ่งที่กังวลก็คือ สมาคมฯเราได้รับการสนับสนุนทุนดำเนินงานจากต่างชาติ ก็จะต้องทำรายงานการเงินตามระเบียบที่กรมการปกครองจะกำหนดโดยอำนาจตามร่างกฎหมายนี้ต่อไป 

กิตตินันท์ ยังแสดงความกังวลด้วยว่า การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานต่างๆ ของสมาคมฯ จะเสี่ยงต่อการละมิดข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่พึงประสงค์จะแสดงตัว หรือไม่?

สมาคมฯ มีข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนผู้รับบริการ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ  ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV และ Sex Worker ซึ่งพึงควรถูกเก็บเป็นความลับ  ก็สุ่มเสี่ยงที่จะต้องถูกเรียกเปิดเผยหากรัฐต้องการ  นอกจากนี้ตนยังกังวลไปถึงอนาคตของกลุ่มฟ้าสีรุ้งระดับจังหวัดที่อาจจะต้องไปจดทะเบียนและถูกควบคุมภายใต้กฎหมายนี้ด้วย 

ขณะที่ คณาสิต พ่วงอำไพ สมาชิกสภานอนไบนารี กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย ที่มองว่า การจดทะเบียนกลุ่มประชาสังคมอาจไม่สะดวกกับนักเคลื่อนไหวบางกลุ่ม เช่น กลุ่มนอนที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มสนทนาในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นชุมชนทางเพศสภาพที่รวมกลุ่มเพื่อแสดงจุดยืน และเรียกร้องสิทธิทางเพศ แต่ไม่พร้อมที่จะจดทะเบียนและเปิดเผยรายชื่อรายบุคคลตามที่ร่างกฎหมายได้ระบุไว้

กลุ่มนอนไบนารีฯ เป็นกลุ่มที่ทุกคนมาด้วยจิตอาสา ไม่มีเงินทุน หลายคนช่วยงานของกลุ่มโดยที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยตัวตนว่าอยู่กลุ่มนี้ มีสำนึกทางเพศสภาพแบบนี้ ด้วยเหตุผลส่วนตัวของแต่ละคน วันนึงหากการเคลื่อนไหวของเราทำให้รัฐมองเราเป็นศัตรู เราอาจโดนบังคับให้เปิดเผยรายชื่อสมาชิกของกลุ่มซึ่งบางคนไม่พร้อมเปิดเผยด้วยเหตุดังที่กล่าวมา ก็อาจส่งผลต่อการปกป้องสิทธิของพวกเราผู้มีสำนึกทางเพศสภาพเป็นนอนไบนารีฯ ได้   

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้