ลุ้นพายุเข้าเพิ่ม หวังเพิ่มน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังมีน้ำน้อยสุดตั้งแต่เริ่มมีการเก็บน้ำ

สสน. ชี้ เคยแล้งสุด ปี 2558 แต่ไม่หนักเท่าปีนี้ ขณะที่วันนี้ (1 ก.ย.) มีน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลัก เพียง 1,824 ล้าน ลบ.ม. แนะ ขุดบ่อรอน้ำ ดีกว่าปล่อยทิ้งลงทะเล ประเมินอาจมีน้ำท่วมหนักบางพื้นที่

1 ก.ย. 2564 – สุทัศน์ วีสกุล ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยาการน้ำ (สสน.) เปิดเผยว่า ปี 2564 ผ่านมาแล้ว 8 เดือน ฝนตกค่อนข้างน้อยในบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่เหนือเขื่อนภูมิพลและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จึงทำให้พื้นที่ภาคกลาง มีปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค ขณะเดียวกันลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการปลูกข้าวนาปีมาตั้งแต่ต้นฤดูฝน เมื่อฝนทิ้งช่วง ส่งผลกระทบกับชาวนา ในขณะที่น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ก็มีแนวโน้มระดับน้ำลดลงเรื่อย ๆ เพราะน้ำต้องใช้ทั้งรักษาระบบนิเวศ ดันน้ำเค็ม และเพื่ออุปโภคบริโภคเป็นหลัก

จริง ๆ แล้วประมาณความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง และช่วงต้นฤดูฝน ของปี 2565 ต้องมีน้ำประมาณ 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่วันนี้มีน้ำเพียง 1,824 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าน้อยที่สุด มาตั้งแต่ปี 2553 ในขณะที่ปี 2558 ที่เคยแล้งที่สุด มีน้ำ 1,839 ล้านลูกบาศก์เมตร วันนี้เหลือพื้นที่กักเก็บน้ำใน 4 เขื่อนหลัก มากถึง 10,176 ล้านลูกบาศก์เมตร

ผอ.สสน. ระบุอีกว่า 7-8 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยมีฝนตกแบบกระจุกตัว ส่วนใหญ่เป็นบริเวณตอนบนแนวของของประเทศทางภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ แต่เป็นการตกแบบกระจุกตัวเฉพาะพื้นที่ โดยผ่านมาจะเห็นฝนตกหนักน้ำท่วมค่อนข้างหนัก บางจุดเท่านั้น เช่น จังหวัดปราจีนบุรี นครราชสีมา ชลบุรี สมุทรปราการ พังงา กระบี่ เป็นต้น ซึ่งจะส่วนใหญ่เป็นจังหวัดใกล้กับชายทะเล

ส่วนกรณีน้ำท่วมนิคมอุสาหกรรมบางปู ระดับน้ำสูง 1 เมตร เมื่อวันที่ 28-29 ส.ค. 2564 มีสาเหตุ จากฝนตกสะสม 24 ชั่วโมง 115.8 มิลลิเมตร และมีความเข้มข้นฝนสูง 100 มิลลิเมตร ภายใน 3 ชั่วโมง โดยมีปัจจัยที่ตั้งนิคมอุตสาหรรมบางปู เป็นแอ่งท้องกระทะ มีถนนขวางเส้นทางระบายน้ำ ขณะที่คลองลำสลัดที่ใช้ระบายน้ำมีขนาดเล็ก แคบและถูกบุกรุก เมื่อระบายน้ำออกจากนิคม ลงคลองชายทะเลไม่มีทางออกทะเลโดยตรง ต้องสูบผ่านสถานีสูบน้ำตำหรุ และสถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ แต่นี่คือการกระจุกตัวของฝนที่ตกเฉพาะจุดที่ก่อนหน้านี้ก็มีการคาดการณ์ล่วงหน้าไว้แล้ว ประมาณ 3 วัน ขระทีการระบายน้ำก็ใช้เวลาประมาณ 2-3 วันจึงจะแห้งถ้าไม่มีฝนสะสม

เหตุการณ์นี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ท่วมเฉพาะจุด ที่ตกใกล้ทะเลน้ำก็ไหลออกทะเลโดยตรง แต่ส่วนใหญ่น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ขนาดกลางและขนาดเล็กทั้งประเทศตอนบนของไทยยังมีน้ำน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนอุบลรัตน์ ทางภาคอีสานมีน้ำในเขื่อนเพียงร้อยละ 4 เขื่อนภูมิพลมีน้ำร้อยละ 6 เขื่อนสิริกิติ์มีน้ำร้อยละ 8 ซึ่งเขื่อนใหญ่ ๆ หลายแห่งก็เหลือพื้นที่รองรับน้ำอีกมาก

นอกจากนี้ สสน. ยังได้คาดการณ์ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงตุลาคมนี้ ประเทศไทยจะมีแนวโน้มฝนเพิ่มมากขึ้นและตกมากกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มต่ำบางพื้นที่เท่านั้น และคาดว่าช่วงเดือนนี้อาจมีแนวโน้มพายุพัดเข้ามา 1-2 ลูก ซึ่ง ควรใช้โอกาสนี้ให้เกษตรกรหาแหล่งกักเก็บน้ำ ขุดสระ ในพื้นที่การเกษตรบางส่วน เพื่อเก็บน้ำให้มากที่สุดเพื่อลดผลกระทบปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า และก็รอลุ้นด้วยว่า ถ้าพายุเข้าเหนือเขื่อน ประมาณ 1 ลูก ก็น่าจะทำให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำเพิ่มขึ้นมาประมาณ 5 พันล้านลูกบาศก์เมตรใน 4 เขื่อนหลัก แต่ถ้าพายุพัดเข้ามา 1-2 ลูกน่าจะทำให้มีน้ำ เพิ่มเข้ามา 8 พัน ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นใน 2 เดือนนี้จึงเป็นความหวังของการรอฝนเพื่อให้มีน้ำไว้ใช้ตลอดฤดูหน้า

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์