‘พล.อ. ประยุทธ์’ นำทีมผู้บริหาร ศธ. แถลงจุดยืนลดภาระทางการศึกษา ผ่าน 3 แนวทางช่วยเหลือถ้วนหน้า “จ่ายเงินเยียวยา อินเทอร์เน็ตฟรี ปรับรูปแบบการเรียนรู้ลดเครียด”
วันนี้ (16 ส.ค. 2564) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดงานแถลงข่าว “จุดยืนลดภาระทางการศึกษา” เปิดรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือนักเรียน ผู้ปกครอง และสถานศึกษา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นเป็นประธานเปิดงานผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับคณะผู้บริหารระดับสูง ศธ. ทุกองค์กรหลัก ณ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุถึงแนวทางช่วยเหลือที่กระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลยึดหลัก “ผู้เรียนต้องไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้” ผ่าน 3 มาตรการ คือ มาตรการที่ 1 จ่ายเงินเยียวยานักเรียนคนละ 2,000 บาท ให้แก่นักเรียนนักศึกษาระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา สังกัด ศธ. ทุกคน ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีอยู่ราว 11 ล้านคน รวมงบประมาณทั้งสิ้น 22,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะได้รับเงินเยียวยาดังกล่าวภายใน 31 สิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนนี้ ซึ่งทันทีที่กระทรวงการคลังจัดสรรงบประมาณมายัง ศธ. จะรีบดำเนินการส่งต่อไปถึงนักเรียนภายใน 7 วัน มีศูนย์ประสานงานรองรับการแก้ปัญหา
มาตรการที่ 2 สนับสนุนอินเทอร์เน็ตฟรีสำหรับการเรียน ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ กสทช. สนับสนุนอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์สำหรับการเรียนออนไลน์ ให้กับนักเรียนในระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษา สังกัด สพฐ. และนักเรียนนักศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสังกัด กศน. ที่มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ จำนวน 3.6 ล้านคน รวมมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท
แบ่งเป็น สนับสนุน “อินเทอร์เน็ตมือถือ” ให้ใช้งานไม่จำกัด สำหรับแอปพลิเคชัน Microsoft Teams, Google Meet, Zoom, Cisco Meeting, Webex และ Line Chat และเพิ่มอินเทอร์เน็ตให้ 2 GB สำหรับสืบค้นข้อมูลส่วน “อินเทอร์เน็ตบ้าน” จะสนับสนุนค่าอินเทอร์เน็ตเดือนละ 79 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จำนวน 2 รอบบิล ระหว่างวันที่ 15 ส.ค – 15 ต.ค. นี้ โดย ศธ. จะส่งรายชื่อนักเรียนและเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้เรียนให้ กสทช. ดำเนินการหักส่วนลดอัตโนมัติ
มาตรการที่ 3 ลดภาระครูและนักเรียน เพื่อให้การจัดการศึกษามีความคล่องตัวสอดรับสถานการณ์ช่วงโควิด-19 ได้ปรับแก้ระเบียบการใช้จ่ายเงินอุดหนุนรายหัวตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถถัวจ่ายค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน นำมาจัดการเป็นค่ายานพาหนะเดินทางติดตามผู้เรียน จัดหาอุปกรณ์ ทำสื่อการสอน ใบงาน แบบฝึกหัด ซื้อชั่วโมงอินเทอร์เน็ต ฯลฯ
ปรับวิธีการเรียนรู้ให้มีความยืดหยุ่นรองรับการเรียนที่บ้าน เพื่อผ่อนคลายความเครียด โดยมอบหมายให้สถานศึกษาปรับตารางเรียนออนไลน์ใหม่ เช่น ช่วงเช้าเรียนทฤษฎี ช่วงบ่ายมอบหมายงานภาคปฏิบัติที่สอดรับชีวิตประจำวัน ให้ครูแต่ละวิชาออกแบบการเรียนร่วมกันเพื่อลดการบ้าน การสอบวัดประเมินผล งดการประกวด มีช่องทางให้เข้าถึงการเรียนได้ทุกเมื่อ ส่วนนักเรียนที่บ้านไม่มีไฟฟ้าให้ครูจัดชุดการเรียนรู้ออนแฮนด์ส่งให้ และนักเรียนที่บ้านมีไฟฟ้าแต่ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ให้เรียนรูปแบบออนแอร์ผ่านโทรทัศน์
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ประธานในงานแถลงข่าวจากตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ปัจจุบันการศึกษาในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ จำเป็นต้องปรับเป็นการเรียนการสอนทางไกล โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยผ่านระบบออนไลน์ ทราบดีว่าส่งผลให้ผู้ปกครองมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องผลกระทบด้านการศึกษา และเพื่อให้นักเรียนทั่วประเทศได้รับโอกาสทางการศึกษา ได้อนุมติงบประมาณฉุกเฉิน 22,000 ล้านบาท ให้ ศธ. ดำเนินการช่วยเหลือเร่งด่วน สำหรับนักเรียน ผู้ปกครอง ตลอดจนบุคลากรทางการศึกษา เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในการเรียนรู้ในภาวะวิกฤต
“ผมขอให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันพัฒนารูปแบบการศึกษาให้สอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินชีวิตวิถีใหม่โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพได้มาตรฐาน ให้เด็กไทยได้รับการศึกษาที่มีประสิทธิภาพได้รับความรู้อย่างครบถ้วน และมีศักยภาพสูงสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และขอให้ใช้โอกาสนี้ ปลูกฝังวินัย คุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรมประวัติศาสตร์ และความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศต่อไป”
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ขอให้ครูและนักเรียนพยายามเรียนรู้ไปด้วยกันในลักษณะ Active learning มีการสร้างแรงจูงใจ กระตุ้นให้เด็กสนใจ เอาใจใส่ในการเรียนถึงแม้จะอยู่ที่บ้าน การศึกษาในสถานการณ์นี้สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวเด็ก อยู่ที่ครูและวิธีการสอน จะทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากวิชาการ ขอให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการเรียนรู้การใช้ชีวิตภาคปฎิบัติด้วย
“ผมเคยให้นโยบายไปกับท่านรัฐมนตรี และท่านรัฐมนตรีช่วยแล้วหลายครั้ง หลายเรื่องด้วยกัน ขอให้นำสิ่งที่ผมได้มอบนโยบายไปแล้วนั้นนำสู่การปฏิบัติให้ได้ มีการประเมินผลมีการเปลี่ยนแปลงปรับรูปแบบ ปรับหลักสูตร ปรับเอกสารตำราอะไรต่าง ๆ ให้มีความทันสมัย สามารถสร้างแรงกระตุ้นให้เด็กรู้สึกว่าการศึกษา ศึกษาไปเพื่ออะไร เพื่อให้มีงานทำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของตัวเองให้คนอื่นยอมรับ สิ่งสำคัญที่สุดคือเมื่อเรียนแล้ว ต้องเรียนรู้ในการปฏิบัติไปด้วย ไม่เช่นนั้นก็ไม่รู้คุณค่าว่าเราจะเรียนไปเพื่ออะไร เราไม่ทราบว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกในอนาคต ต้องเตรียมความพร้อมของเราตั้งแต่บัดนี้ เตือนเด็กของเราให้พร้อมตั้งแต่วันนี้ เป็นเด็กที่เข้มแข็ง เป็นคนดีในสังคม มีจิตสาธารณะ เผื่อแผ่แบ่งปัน เคารพในสถาบันหลักของชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ของเราให้มีอนาคต และประเทศชาติก็จะมั่นคงและยังยืนต่อไป”
• อ่านเพิ่ม – 3.3 หมื่นล้าน “เยียวยาด้านการศึกษา” ใครได้อะไรบ้าง ?