ส.ค. – ต.ค. ไทยเสี่ยงน้ำท่วม คล้ายปี 2551

อุตุฯ ชี้ ฝนยังไม่ตกตามค่าเฉลี่ย และจะเทลงมาในช่วง 3 เดือนนี้ ด้านหน่วยงานด้านน้ำเริ่มเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม ทั้งจัดพื้นที่รับน้ำนอง จัดจราจรน้ำ

14 ส.ค. 2564 – ข้อมูลปริมาณฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ในแต่ละปีประเทศไทยจะมีฝนตกเฉลี่ยประมาณ 1,400-1,500 มิลลิเมตร โดยปี 2564 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยมีฝนตกไปแล้วประมาณ 800 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่ายังไม่มาก แต่หลังจากนี้คือสิ่งที่ต้องจับตา เพราะฝนที่ยังตกไม่เป็นไปตามค่าเฉลี่ย จะตกใน 3 เดือนนี้แบบเทลงมา โดยเฉพาะจุดเสี่ยงท่วมก็ยังมีโอกาสเป็นไปได้ ขณะที่แนวโน้มฝน น้ำท่วม น้ำแล้งต้องดูปัจจัยหลายด้าน ทั้ง พายุที่จะเข้ามา และสภาพอากาศ หากตกไม่ลงเขื่อนแต่ท่วมเมื่องใหญ่ก็เป็นเรื่องน่าคิด ต่อการรับมือแบบเฉพาะหน้า

ด้าน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) คาดการณ์ว่า ปริมาณฝนปีนี้จะมีแนวโน้มคล้ายปี 2551 ซึ่งเดือนสิงหาคมผ่านมาครึ่งเดือนแล้ว ฝนก็ยังตกไม่มาก สาเหตุเพราะปีนี้ร่องมรสุมที่ทำให้เกิดฝนยังไม่ลงมาพาดผ่านประเทศไทย โดยเฉพาะทางภาคเหนือตอนบน แต่พอเข้าถึงครึ่งเดือนหลังของสิงหาคม ถ้าดูจากแผนที่ที่จะเห็นบริเวณแถบสีฟ้าที่เป็นไปจนถึงชมพู หมายความว่าบริเวณนี้จะมีฝนตกมากถึง 200-300 มิลลิเมตร ซึ่งคือภาคเหนือ อีสาน ตะวันออก ซึ่งอาจต้องเตรียมพร้อมรับมือฝนที่เพิ่มขึ้นและอาจมีบางจังหวัดเสี่ยงเกิดน้ำท่วม ส่วนภาคใต้ที่มีความเสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมากได้

พอเข้าสู่เดือนกันยายน มีแนวโน้มฝนจะเพิ่ม จากแผนที่พื้นที่ที่เป็นสีชมพูเข้มไปจนถึงสีแดง แสดงจุดเสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมาก ปริมาณฝนตั้งแต่ 300-400 มิลลิเมตร ซึ่งพื้นที่ฝนตกหนักจะอยู่ทางภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานคร ที่หากเป็นเช่นนั้นฝนหนักตกเฉพาะจุดใน พื้นที่ในกรุงเทพฯ มีโอกาสท่วมขังเมืองหลวงที่ระบายช้ากับศักยภาพท่อระบายที่ต้องใช้เวลากว่าจะระบายหมด

ส่วนเดือนตุลาคม อาจมีบางพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วมได้ และช่วงนี้จะเป็นช่วงที่น้ำไหลลงเขื่อนเพิ่มมากขึ้นด้วย ถ้าดูจากแผนที่จะเห็นแถบสีฟ้าไปจนถึงชมพู ซึ่งจะเป็นพื้่นที่ ๆ มีฝนตกมากถึง 200-300 มิลลิเมตร ส่วนใหญ่อยู่ฝั่งตะวันตกทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้รวมทั้งกรุงเทพมหานครค่ะ แต่นี่เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าปริมาณฝนจะเป็นอย่างไรต้องอยู่กับปัจจัยสภาพอากาศหรือพายุเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ก็มีแผนปฏิบัติที่ชัดเจนรายพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและขาดแคลนน้ำได้ทั้งก่อนเกิดภัย และระหว่างเกิดภัยเพื่อแก้ไขสถานการณ์ได้ทันที ซึ่งรวมถึงความพร้อมของพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำจุดต่าง ๆ หรือแก้มลิงที่มีศักยภาพรองรับน้ำหลากได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง

กอนช. มีการคาดการณ์ว่าในช่วงเดือน ส.ค. – พ.ย. จะมีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในภาคกลาง รวม 368 ตำบล 56 อำเภอ ใน 9 จังหวัด ได้แก่ จ.ชัยนาท นครปฐม ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง

สำหรับทุ่งท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ทุ่งผักไห่ และทุ่งเจ้าเจ็ด จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำใน 12 ทุ่งที่กรมชลประทานได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก และบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ใกล้เคียง โดยเริ่มจัดสรรน้ำสนับสนุนภาคเกษตรช่วงต้นฤดูฝนตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค. 2564 ปัจจุบันมีการเพาะปลูกในพื้นที่แล้วประมาณกว่าร้อยละ 90 และจะเริ่มเก็บน้ำเข้าทุ่งในช่วงปลายเดือน ก.ย. – ต.ค.นี้ ซึ่งทั้งสามทุ่งสามารถกักเก็บน้ำได้ราว 784 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพื่อให้เกษตรกรนำน้ำไปเพาะปลูกหลังจากฤดูฝนสิ้นสุดลง และบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ใกล้เคียง

โดย สทนช. พร้อมสนับสนุนการบริหารจัดการพื้นที่ทั้งสามทุ่งนี้ โดยมีระบบบังคับน้ำเข้า-ออก เพื่อเพิ่มศักยภาพพื้นที่เก็บน้ำให้มากขึ้นในอนาคตด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนองที่มีศักยภาพตามโครงการศึกษาจัดทำผังในพื้นที่ตอนกลาง 4 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำสะแกกรัง ป่าสัก เจ้าพระยา ท่าจีน โดยขณะนี้มีความก้าวหน้ากว่าร้อยละ 90 และจะศึกษาแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. นี้ แล้วส่งต่อให้หน่วยงานปฏิบัติที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติ โดยเฉพาะการกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินและทางน้ำอย่างชัดเจน จะเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน ช่วยลดความเสียหายให้แก่ชุมชนเมือง รวมถึงพืชผลทางการเกษตรจากปริมาณน้ำที่ไหลหลากจากพื้นที่ตอนบนเข้ามารวมตัวในพื้นที่ลุ่มต่ำ เช่น บริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ขณะเดียวกัน ยังสามารถจัดระบบทางน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้งได้ด้วยเช่นกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์