“บ้านพักคนชรานครปฐม” จุดเสี่ยง เลี่ยงเชื้อ หวั่นติดแล้วอาจรักษาไม่ทัน

คลัสเตอร์ศูนย์มุฑิตาฯ เสียชีวิตแล้ว 5 ออกซิเจนต่ำนับ 10 ด้านสมาคมฯเนอร์สซิ่ง ยื่นขอฉีดวัคซีนปริมณฑลไม่คืบ ชี้ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก

The Active ติดตามการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ติดเชื้อโควิด-19 และรอการรักษาอย่างต่อเนื่อง จากกรณีพบการติดเชื้อภายในศูนย์มุฑิตาเนอร์สซิ่งโฮม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม และยังคงรักษาตัวอยู่ภายในศูนย์กว่า 10 คนนั้น เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากเตียงในโรงพยาบาลเต็ม และยังไม่สามารถนำผู้ป่วยเข้าสู่โรงพยาบาลสนามได้ จนอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด

ภายในจังหวัดนครปฐมมีสถานสงเคราะห์ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และบ้านพักคนชราจำนวนมาก ทั้งของภาครัฐและเอกชน จากการติดตามข้อมูล ของสถานสงเคราะห์คนชรานครปฐม และสถานสงเคราะห์คนชราเฉลิมราชกุมารี (หลวงพ่อเปิ่นอุปถัมภ์) ซึ่งเป็นสถานสงเคราะห์ของรัฐ อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม (อบจ.) พบว่า ณ ปัจจุบันไม่มีผู้ติดเชื้อ เนื่องจากมีมาตรการเข้มงวดจากทาง อบจ. ทั้งการงดเยี่ยมไข้ ปิดสถานสงเคราะห์ และเฝ้าระวังผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด อีกทั้งการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุนั้นคืบหน้าไปมากกว่า 90%

ข้อมูลจากศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 5 กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในจังหวัดนครปฐมมีสถานประกอบการกิจการผู้สูงอายุ ที่อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนทั้งหมด 23 แห่ง เมื่อรวมกับสถานสงเคราะห์คนชราของภาครัฐ อีก 2 แห่ง จะมีผู้สูงอายุภายใต้การดูแลมากกว่า 500 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สมควรได้รับการดูแลป้องกันอย่างดีที่สุด

ไชโย จิบโคกหวาย ผู้ประกอบการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ บ้านริมสวน เนอร์สซิ่งโฮม ศาลายา กล่าวว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในจังหวัดตอนนี้ ทำให้เป็นห่วงผู้สูงอายุที่อยู่ในเนอร์สซิ่งเพราะในขณะนี้เมื่อที่ใด พบผู้สูงอายุติดเชื้อ ก็จะปิดสถานที่นั้นทันที โดยไม่ได้กักตัวกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเอาไว้ แต่หลายที่ใช้วิธีการระบายผู้สูงอายุออกไปสู่ภายนอก และเมื่อผู้สูงอายุไปเข้ารับการดูแลในอีกที่หนึ่ง โดยอาจไม่ทราบไทม์ไลน์ หรืออาจมีการปกปิดจากผู้ป่วย ก็จะทำให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดตามมา

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ บ้านริมสวน เนอร์สซิ่งโฮม ศาลายา

โดยมาตรการที่ศูนย์ฯ ได้ปฏิบัติคือ จะมีสถานที่แรกรับสำหรับผู้สูงอายุที่มาใหม่ และทำการกักตัว 14 – 30 วัน เพื่อให้มั่นใจการนำไปดูแลร่วมกับผู้สูงอายุอื่น นอกเหนือจากนั้นผู้ดูแลภายในศูนย์ฯ ก็จำกัดการเคลื่อนย้าย และมีที่พักภายในให้เพื่อลดโอกาสการนำเชื้อเข้ามาสู่ผู้สูงอายุนั่นเอง สำหรับการฉีดวัคซีน ทางศูนย์ฯได้ฉีดให้กับผู้สูงอายุไปแล้วร้อยละ 90% โดยหาทางนำผู้สูงอายุออกไปฉีดด้านนอกให้เร็วที่สุด ซึ่งยอมรับว่าหากมีการนำวัคซีนเข้ามาฉีดให้กับผู้สูงอายุถึงภายในศูนย์ฯ จะปลอดภัยและสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายมากกว่า

แต่เมื่อสอบถามไปยังบ้านศาลายา เนอร์สซิ่งโฮม ซึ่งดูแลผู้สูงอายุเพียง 7 คน กลับพบว่ามีเพียง 1 คนเท่านั้นที่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งเกิดจากการจองฉีดด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ขณะที่ผู้สูงอายุคนอื่นๆ แม้จะลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านทางอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

นพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ นายกสมาคมการค้าและการบริการสุขภาพผู้สูงอายุไทย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลผู้สูงอายุ และศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู Chersery home กล่าวว่าแม้เนอร์สซิ่งโฮมดังกล่าว จะไม่ได้เป็นเครือข่ายของสมาคมฯ แต่ก็มีความเป็นห่วงสถานบริการดูแลผู้สูงอายุทุกประเภท เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน แม้จะมีมาตรการและแนวทางการดูแลผู้สูงอายุให้กับสถานที่ดูแลผู้สูงอายุออกมาอย่างชัดเจนแล้วก็ตาม แต่ยังอาจส่งผลให้การแพร่ระบาดเข้าสู่พื้นที่การดูแลผู้สูงอายุได้ เพราะบางที่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ ที่ยังไม่สามารถแยกผู้ป่วยได้ทั้งหมด และเมื่อหลุดรอดเข้ามาโอกาสที่ผู้ป่วยจะอาการรุนแรงและเสียชีวิตค่อนข้างสูง ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ การเร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุ

ที่ผ่านมาสมาคมฯ ตระหนักถึงความสำคัญและได้ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์จากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. กรมควบคุมโรค และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯนั้น ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และดำเนินการฉีดวัคซีนมาแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน ให้กับสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ ภายใต้การดูแลของสมาคมฯ จำนวนกว่า 120 แห่ง ฉีดไปทั้งสิ้นประมาณ 3,000 คน ซึ่งถือว่าครอบคลุมมากกว่า 95% ของผู้สูงอายุที่ดูแลอยู่

แต่ที่น่ากังวลคือ จังหวัดในปริมณฑล และจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือสีแดงเข้ม มองว่าปัญหาการกระจายวัคซีน เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุในสถานที่ดูแลไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ อย่างเช่น จังหวัดนครปฐม ซึ่งการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุยังไม่ครอบคลุมและทั่วถึง แม้จะมีการยื่นแบบสำรวจและจำนวนผู้สมควรได้รับวัคซีนทั้งผู้สูงอายุ ผู้ดูแล และเจ้าหน้าที่ภายในสถานที่นั้นไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการจัดสรร ซึ่งมองว่าควรให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุในสถานที่ดูแลแบบเนอร์สซิ่งโฮมเป็นอันดับแรก เนื่องจากมีความเสี่ยงมากกว่าผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามบ้าน เพราะหากมีผู้สูงอายุติดเชื้อ 1 คน อาจส่งผลให้มีผู้สูงอายุติดเชื้อตามมาจนไม่สามารถรักษาได้ทัน

” ถ้าได้วัคซีนมาอย่ารอช้า ต้องรีบฉีดให้ผู้สูงอายุทันที โดยเฉพาะในเนอร์สซิ่งโฮม ต้องเป็น first priority และหากจังหวัดมีวัคซีนจัดสรรมาให้ สมาคมฯพร้อมสนับสนุนกระบวนการฉีดวัคซีนทั้งหมด ”

นพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ

นพ.เก่งพงศ์ กล่าวว่าสมาคมฯ มีความพร้อมที่จะดูแลกระบวนการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุที่อยู่ภายใต้การดูแลของสมาคมฯ เนื่องจากเรามีโรงพยาบาลผู้สูงอายุฯ เป็นภาคีเครือข่าย ที่มีบุคลากรทั้งแพทย์ และพยาบาล รวมถึงรถรับส่งผู้ป่วย ที่พร้อมใช้งานทันทีเมื่อได้รับการแจ้งเข้ามา จึงมองว่าอุปสรรคสำคัญไม่ใช่การฉีดวัคซีน แต่เป็นการจัดสรรและกระจายวัคซีน

แม้จังหวัดนครปฐมจะมีมาตรการเร่งรัดการฉีดวัคซีนเฉพาะกลุ่มเป้าหมายกรณีเร่งด่วน ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุด้วยแล้วนั้น แต่ยังคงมีข้อจำกัดสำหรับผู้สูงอายุที่ได้รับการดูแลในเนอร์สซิ่งโฮม และผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ที่มีอุปสรรคด้านการเดินทาง และอาจมีความเสี่ยงรับเชื้อจากสถานที่ฉีดวัคซีนเข้ามาในที่ดูแลด้วย เพราะฉะนั้นแนวทางเร่งด่วนคือต้องจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มดังกล่าวโดยเฉพาะ ในแต่ละสถานที่ และหลังจากนั้นจึงประสานโรงพยาบาล หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบในกระบวนการฉีดต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้