เร่งฉีดกลุ่มเป้าหมาย ที่เข้ารับการตรวจเชิงรุก ขณะพบผู้ติดเชื้อ 5 อำเภอ 207 คน ส่งต่อศูนย์พักคอยระดับชุมชน
วันนี้ (10 ส.ค. 2564) ที่วิทยาลัยอาชีพบางแก้วฟ้า (วิทยาลัยอาชีพหลวงพ่อเปิ่นอุปถัมป์) ต.บางแก้วฟ้า อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม บุคลากรทางการแพทย์ จากโรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น ตั้งจุดบริการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา จำนวน 500 โดส ที่ได้จัดสรรจากกระทรวงสาธารณสุข ตามโครงการตรวจเชิงรุกด้วย antigen test kit ของชมรมแพทย์ชนบทในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม ระหว่างวันที่ 4-10 ส.ค.64
โดยผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน จะต้องผ่านการตรวจเชิงรุกและมีผลเป็นลบ อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 608 คน คือ กลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว 7 โรคและหญิงตั้งครรภ์ ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเข็มแรก และอยู่ในจุดบริการของโรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น คือ ต.บางพระ ต.บางแก้วฟ้า ใน อ.นครชัยศรี และ ต.นราภิรมย์ ต.ลำพญา ใน อ.บางเลน เพราะเป็นพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้ออาศัยอยู่อย่างหนาแน่น แต่ลงทะเบียนหมอพร้อมไม่ทัน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ทำให้ได้รับวัคซีนไม่ครอบคลุมประชากรเมื่อเทียบกับอำเภออื่นๆ
นพ.ยุทธกรานต์ ชินโสตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น กล่าวว่า วันนี้ (10 ส.ค. 64) ทางโรงพยาบาลได้ดำเนินการตรวจให้กับประชาชนในพื้นที่ ประมาณ 1,400 คน พร้อมฉีดวัคซีน 500 โดส ที่เพิ่งได้รับมาวันนี้ ซึ่งถ้าดูตามเกณฑ์ 608 น่าจะมีประมาณ 100 -200 คน โดยวัคซีนที่เหลือ จะเปิดให้กับผู้ที่ตกหล่นในวันนี้ และหากเหลืออีกก็จะกระจายให้กับ รพ.สต. เพื่อฉีดให้กับกลุ่มเปราะบางในชุมชน เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถเดินทางมาเข้ารับการตรวจในครั้งนี้ได้
ส่วนเข็มที่ 2 จะเป็นวัคซีนในส่วนของโควต้าจังหวัด ซึ่งจะฉีดให้หลังจากเข็มแรก 2-3 เดือน ขณะที่ผู้ดูแล หรือคนในครอบครัวที่อยู่ในกลุ่ม 608 ที่ผ่านมามีการสำรวจเพื่อเร่งตรวจเชิงรุกและฉีดวัคซีน ซึ่งสัปดาห์นี้คาดว่าจะมีวัคซีนเข้ามามากพอสมควร
ขณะที่การทำงานร่วมกับชมรมแพทย์ชนบท ในวันที่ 5-6 ส.ค.ที่ผ่านมา นพ.ยุทธกรานต์ กล่าวว่า เป็นโมเดลที่แพทย์ชนบท ทำไว้ค่อนข้างดี เห็นได้จาก กทม. ที่ลงไปทำงานกับกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงบริการ เช่น ชุมชนแออัด ซึ่งทางจังหวัดได้ส่งบุคลากรทางการแพทย์ ฝ่ายปกครองเข้าไปเรียนรู้ระบบ การทำงาน เพื่อมาดำเนินการต่อในวัน 9-10 ส.ค. และขยายโครงการไปอีกในวันที่ 12-13 ส.ค. ภายใต้ยุทธศาสต์เช่นเดียวกับแพทย์ชนบท คือ
Rapid test ตรวจเชิงรุกด้วยระบบ antigen test kit แยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อโดยเร็ว
Rapid trace ย้อนกลับไปดูกลุ่มเสี่ยงในครอบครัว ดึงเข้าสู่การตรวจให้ได้มาก
Rapid vaccination เข้าสู่กระบวนการควบคุมโรค ผลเป็นลบฉีดวัคซีน ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อในภายหลัง
Rapid treat ให้ยารักษาโรคโดยเร็ว มีผลเป็นบวกเริ่มลงปอด เริ่มยาฟาวิพิราเวียร์โดยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล อาการน้อยให้ฟ้าทะลายโจร
หากได้รับการสนับสนุน และทำงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง คาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อของ จังหวัดนครปฐม จะค่อยๆ ลดลง
“ ถ้าเราสามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้โดยเร็ว แม้จะไม่ถึงขั้นผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ แต่กราฟที่เคยพุ่งชัน ก็จะลงมาเป็นเคิร์ฟในแนวขนาน (ติดเชื้อสะสมในชุมชน) ลดลง สุดท้ายอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่กับอัตราการหายจะเท่ากัน จนสุดท้ายหายป่วยมากกว่า ก็จะคุมสถานการณ์ในจังหวัดได้ ”
ขณะที่บรรยากาศการตรวจเชิงรุก ใน 5 อำเภอ คือ พุทธมณฑล นครชัยศรี บางเลน กำแพงแสน ดอนตูม เฉพาะวันแรก (9 ส.ค.64) มีผู้เข้ารับการตรวจด้วย antigen test kit จำนวน 4,037 คน ผลเป็นบวก 207 คน หรือร้อยละ 5.45 ส่งต่อเพื่อเข้ารับการรักษาด้วยระบบ Home Isolation หรือ community isolation ของชุมชน ซึ่งจากการลงพื้นที่ในวันนี้ ยังพบบางแห่งร้องเรียนเรื่องไม่มีศูนย์พักคอยในชุมชน
ล่าสุด สุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ให้ข้อมูลกับ The Active ระบุว่า ทางจังหวัดได้รับจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) จำนวน 36,240 โดส จะดำเนินการฉีดให้กับบุคลากรด่านหน้า และประชาชนภายในเดือน ส.ค. นี้ ขณะเดียวกันได้สั่งการให้ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างน้อยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นละ 1 แห่ง จัดตั้ง Community Isolation เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อในพื้นที่ของตนเอง ให้ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว และลดปัญหาผู้ป่วยรอเตียงภายในบ้าน ขณะนี้มีอยู่ 80 แห่ง คือ อำเภอนครชัยศรี 27 แห่ง อำเภอเมืองนครปฐม 12 แห่ง อำเภอบางเลน 16 แห่ง อำเภอสามพราน 8 แห่ง อำเภอดอนตูม 7 แห่ง อำเภอกำแพงแสน 6 แห่ง และอำเภอพุทธมณฑล 4 แห่ง