“หมอมานพ” ห่วง การกระจายวัคซีนไฟเซอร์ ไปถึงเป้าหมายหรือไม่ ชี้ ระบบหลังบ้าน สธ. พร้อมสำหรับติดตาม ขึ้นอยู่ว่าจะเปิดหรือไม่ “นักวิจัย TDRI” แนะ หากรัฐยิ่งปกปิดข้อมูล ยิ่งขาดความเชื่อมั่น เห็นพ้อง เปิดข้อมูลทางสาธารณสุข สร้างความเชื่อมั่น คุมระบาดได้จริง
ปรากฏการณ์ “ทวงคืนวัคซีนไฟเซอร์” เป็นกระแสมาต่อเนื่อง จนในที่สุด กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดรายละเอียดเกณฑ์การจัดสรรใน 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ประชาชนกลุ่มเสี่ยงใน 13 จังหวัดสีแดงเข้ม และชาวต่างชาติตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งแม้จะเป็นกลุ่มที่หลายฝ่ายยอมรับได้ แต่สิ่งนี้สะท้อนความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อภาครัฐ ในการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนเช่นกัน
3 ส.ค. 2564 – Active Talk ชวนแพทย์และนักวิจัยพูดคุยประเด็นดังกล่าว ศ. นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เมื่อพิจารณาเกณฑ์การฉีดวัคซีนไฟเซอร์นั้น “ทุกฝ่ายยอมรับได้” เพราะบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่สมควรได้รับนั้น วัคซีนเดิมที่ได้ในปัจจุบันระดับภูมิคุ้มกันอาจจะไม่สูงมากพอ ซึ่งเกณฑ์ใหม่ที่ฉีดในกับบุคลากรทางการแพทย์เป็นส่วนใหญ่จึงถือว่าเหมาะสม
เพียงแต่อยากทำความเข้าใจคำว่า “บุคลากรด่านหน้า” หรือ front line workers ในบ้านเราอาจจะตีความไม่ตรงกับสากลเท่าไรนัก เพราะคำนี้ จะหมายถึงบุคลากรที่อาจจะต้องสัมผัสกับผู้ที่อาจจะติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้แปลว่าต้องสัมผัสกับผู้ติดเชื้อแล้วเท่านั้น เพราะฉะนั้น หมายถึงบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน ทุกแผนก ก็ถือเป็น บุคลากรด่านหน้าทั้งหมด สมควรได้รับการป้องกันเป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน และสิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้คือระบบการกระจายวัคซีนจะสามารถทำได้อย่างที่ตั้งไว้หรือไม่ เพราะถึงแม้จะออกมาเป็นมติ แต่หากการกระจายวัคซีนมีปัญหา กลุ่มที่ควรได้ ก็จะไม่ได้รับเช่นเดียวกัน
“เราไม่ควรเกิดปัญหานี้เลยตั้งแต่ต้น ถ้าเรามีการบริหารจัดการวัคซีนที่ดี หมายความว่าเรามีชนิดของวัคซีนที่มีคุณภาพสูง และมีปริมาณเพียงพอ คำถามนี้ไม่ควรเกิดขึ้นว่าใครควรได้ ใครไม่ควรได้ เพราะทุกคนควรได้”
ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร
หากมองปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะการบริหารจัดการวัคซีนของประเทศไม่ดีมาตั้งแต่ต้น เรามีชนิดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่างกันมาก จนทำให้เมื่อได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมา จึงเกิดคำถามว่าใครควรได้รับ ซึ่งอยากให้ในจำนวนล็อตแรก 1.5 ล้านโดสนี้ เป็นบทเรียน ว่าในอนาคต หากเราได้รับวัคซีน mRNA เข้ามาควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน ว่าใครจะต้องได้รับ และจะฉีดกันอย่างไร
ยกตัวอย่าง เมื่อวัคซีน mRNA ระบุให้ใช้ได้ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไปในเด็กแล้วนั้น หากเข้ามาเพิ่มเราจะฉีดให้กับกลุ่มที่มีอายุ 18 ปีลงมา ในกลุ่มใดบ้าง เพื่อจะได้ไม่เกิดความสับสน และตั้งคำถามกันอีกในภายหลัง
ด้าน ธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองปัญหาหลักของเรื่องดังกล่าวนี้ มี 2 ประเด็นที่สำคัญ คือ การเปิดเผยข้อมูลสำคัญ และด้านการสื่อสารของภาครัฐ เพราะหากย้อนกลับไปในการจัดซื้อจัดหาวัคซีนของประเทศ มีปัญหาด้านความโปร่งใสมาตั้งแต่ต้น ซึ่งสิ่งนี้ประชาชนหรือสื่อมวลชน จะได้รับข้อมูลไม่เท่ากับรัฐบาล หรืออาจจะปิดข้อมูลสำคัญที่ “ควรรู้” จึงทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยของสังคม
เขาบอกว่า ก่อนหน้านี้ เราเคยเห็นฐานข้อมูลละเอียดมากกว่านี้ ขนาดเห็นเลขที่ข้างขวดวัคซีน และระบุด้วยว่าฉีดบุคคลในกลุ่มใดไปบ้าง แต่เมื่อมีการแชร์ข้อมูลมากเข้า ก็ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้แล้ว ณ ขณะนี้ ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่จะเปิดได้หรือไม่ แต่ผู้ดูแลข้อมูลจะเปิดหรือไม่ เป็นคำถามที่สำคัญมากกว่า
“ต่อให้จะพูดว่า ขอให้ไว้ใจรัฐบาล สักกี่ร้อยครั้ง ไม่เท่ากับการเปิดข้อมูลแค่ครั้งเดียว ทั้งในภาวะปกติ และโดยเฉพาะในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะเรื่องของวัคซีน ซึ่งจำเป็นต้องโปร่งใส และวิธีการตรวจสอบที่ง่ายที่สุด คือเอาข้อมูลมาให้คนดู และการเปิดเผยข้อมูลจะช่วยกู้วิกฤตศรัทธามาได้ และทำให้เห็นว่ารัฐบาลมองประชาชนเป็นภาคีร่วมกันฝ่าวิกฤตนี้”
ธิปไตร แสละวงศ์
นอกเหนือจากนั้น ธิปไตร ยังให้ความเห็นว่า การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสนี้ จะช่วยให้คนทำงานสามารถ “ประเมินสถานการณ์ได้” ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร หากวัคซีนมาน้อย ไม่ทันต่อการทำหน้าที่ จะต้องมีการวางแผนสำรองเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่อไป สิ่งนี้ย่อมช่วยให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
หากจะนับหนึ่งเริ่มต้นการเปิดเผยข้อมูลนั้น จากการประเมินคิดว่าปลายปีก็ยังต้องระดมฉีดวัคซีนกันอยู่ จึงไม่สายเกินไปที่จะเริ่ม โดยสิ่งแรก คือ สัญญาของวัคซีนต้องเปิดเผย หลังจากนั้น คือ ข้อมูลวัคซีนต้องเปิดให้ละเอียดแบบที่เคยทำ มีเกณฑ์การฉีดที่ชัดเจน และรายงานแบบทุกวัน แบบเรียลไทม์ และสิ่งที่สำคัญที่สุด คืออยากให้รัฐมองสื่อมวลชนเป็นเครือข่ายที่ร่วมสื่อสารข้อมูล ไม่ใช่มองเป็นขั้วตรงข้าม และพยายามไล่ตามจับเฟกนิวส์ ซึ่งเป็นวิธีการที่มีต้นทุนสูง
ขณะที่ ศ. นพ.มานพ ได้กล่าวต่อว่า การเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ สามารถควบคุมการระบาดได้จริง เพราะในต่างประเทศ ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา เมื่อมีการระบาดในระลอกใหม่ที่เกิดขึ้น แล้วพิจารณาข้อมูลที่เปิดเผยกันละเอียดในระดับเมือง จะพบว่าพื้นที่ที่กลับมาแพร่ระบาดใหม่นั้น มีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำมาก สิ่งนี้เองข้อมูลจะช่วยนำไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายรับมือ ไม่ใช่เพียงแค่โรคระบาด แต่จะเป็นปัญหาต่าง ๆ ในอนาคตด้วย
วัคซีนไฟเซอร์ อาจจะเป็นตัวจุดประกายให้ภาครัฐได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะให้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่ข้อมูลด้านวัคซีน แต่คือข้อมูลที่มีความสำคัญต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย เพราะจะเป็นวิธีที่จะเรียกคืนความเชื่อมั่น ศรัทธา และมีประโยชน์ในแง่ของการใช้ข้อมูลเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา สู่ระดับนโยบายของประเทศด้วย