4-11 ส.ค. นี้ ผนึกกำลังตรวจเชิงรุกทุกเขต ไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน ระดมวางแผนคุมระบาดชุมชน

สำนักอนามัย กทม. เปิดแพลตฟอร์มดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ผ่านแอปฯ BKK HI CARE พร้อมระดมทุกหน่วย วางแผนคุมระบาดชุมชน ผนึกกำลัง ‘แพทย์ชนบท’ ตรวจเชิงรุก รักษา และจ่ายยาทันที

30 ก.ค. 2564 – พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. เปิดเผยกับ The Active ถึงภารกิจของสำนักอนามัย ต่อการควบคุมการระบาดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ต้องปรับบทบาทควบ ทั้งการป้องกัน ควบคุมโรค และดูแลรักษาผู้ป่วยในระดับปฐมภูมิ โดยย้ำว่า นี่ไม่ใช่การตั้งรับ แต่เป็นงานเชิงรุกเข้าถึงชุมชนมากถึง 2,016 ชุมชนที่จดจัดตั้งแล้ว ทั่วกรุงเทพมหานคร

ภารกิจงานเชิงรุกมีหน่วยงานหลักที่เข้ามารับหน้าที่ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือศบส. ซึ่งมีอยู่ 69 แห่ง เรียกว่า “ทีม CCRT” ที่จะทำหน้าที่เข้าถึงชุมชน ทั้งการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อ หากเป็นกลุ่มสีเขียวก็ดูแลรักษาที่บ้านแบบ Home Isolation โดยมีการดูแลผ่านแอปพลิเคชัน BKK HI CARE รวมถึงตั้งจุดฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และ 7 กลุ่มโรค ควบคู่กันภายในจุดเดียว ทุกศูนย์ฯ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 15 ก.ค. 2564 

นอกจากนี้ยังมีจุดคัดกรองกระจายในกรุงเทพฯ อีก 8 จุด ที่กำลังทำงานในเวลานี้ คาดว่าสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้จะสามารถฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงได้ไม่ต่ำกว่า 56,000 คน จากทั้งหมด 1.3 ล้านคน 

“ตอนนี้มีบริการตรวจฉีดถึงที่ ถ้าตรวจเร็ว จับคู่เร็ว ก็จะลดความรุนแรงของโรคได้ แต่กำลังคนที่เรามีตอนนี้เป็นกำลังคนในภาวะปกติ แต่สถานการณ์ตอนนี้ไม่ปกติ เราจึงจ้างเพิ่มและหาพันธมิตรทำงานร่วมกัน”

ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. ระบุเพิ่มเติมว่าการตรวจคัดกรองเชิงรุกจากทีมแพทย์ชนบทจึงเป็นหน่วยงานหนึ่งที่เข้ามากู้วิกฤตในกรุงเทพมหานคร และการขึ้นมารอบที่สามของทีมแพทย์ชนบทระหว่างวันที่ 4-11 ส.ค. ที่จะถึงนี้ จะมีการวางแผนการทำงานร่วมกันมากขึ้นกว่าสองรอบแรก 

“ให้ ศบส. เลือกพื้นที่หรือชุมชนที่ยังไม่ได้จัดตั้ง หรือไปเสริม ทีม CCRT ของเรา ทำงานร่วมกันตั้งแต่ตรวจและรับเข้าสู่ระบบ HI รอบนี้จะเป็นการทำงานวางแผนร่วมกัน”

ด้าน นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ระบุถึงภารกิจทีมแพทย์ชนบทรอบสามว่า การมาครั้งนี้จะมีการหารือแนวทางทำงานร่วมกับ กทม. ก่อน ทางทีมแพทย์ชนบทเสนอให้กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เป็นคนเลือกชุมชนที่มีความเสี่ยงหรืออาจตกหล่น โดยการทำงานในแต่ละจุดควรมีการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงสูงให้ได้รับการตรวจ เมื่อเจอแล้วต้องตามครอบครัวมาตรวจด้วย หากชุมชนไหนพบอัตราการติดเชื้อสูง ควรมีมาตรการในเชิงพื้นที่เพื่อควบคุมการระบาดและต้องมีแผนรองรับช่วยเหลือด้านความเป็นอยู่ และให้ทุกคนได้เข้าสู่ระบบการดูแลถ้าเป็นกลุ่มเขียวอยู่ในระบบ HI ถ้าเป็นเหลืองหรือแดงก็ต้องเข้าสู่ระบบ CI ได้และเข้าถึงยารักษาได้รวดเร็ว ขณะเดียวกันหากชุมชนไหนติดเชื้อในอัตราที่ต่ำควรมีการฉีดวัคซีนไปพร้อมกัน

“นี่คือแผนที่เราเสนอให้ทำควบคู่กันไป ซึ่งจะมีการหารืออีกครั้ง กรุงเทพฯ มีทรัพยากรที่มากและหากบูรณาการทรัพยากรจะถูกใช้อย่างมีประโยชน์ ที่ผ่านมาขาดตรงนี้”

การตรวจคัดกรองเชิงรุกภายใต้แผนบูรณาการร่วมกันระหว่างแพทย์ชนบท กทม. และเครือข่ายภาคประชาชน จะเริ่มอีกครั้งระหว่างวันที่ 4-11 ส.ค. นี้ ตั้งเป้าไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน กระจายใน 50 จุด ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส