จนกว่า “ไฟเซอร์” 20 ล้านโดสจะมาเดือน ต.ค. 64 ไทยยังต้องพึ่ง “ซิโนแวค”

ส.ค.-ก.ย. 64 คาดแอสตราฯ ส่งมอบ 4-5 ล้านโดส ซิโนแวคทยอยส่งเดือนละ 2-3 ล้านโดส ลุ้นวัคซีนบริจาค หลังตั้งเป้าจัดหาเดือนละ 10-15 ล้านโดสจึงจะเพียงพอ

ยอมรับว่าจัดหาวัคซีนล่าช้าไม่ทันกับการระบาด เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด คำขอโทษครั้งแรกจาก “นพ.นคร เปรมศรี” ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ รับหน้าแทนผู้ร่วมตัดสินใจจัดหาวัคซีนหลายฝ่าย พร้อมยืนยันว่าการจัดหาวัคซีนในระยะถัดไปทั้งปี 2564 และ ปี 2565 จะไม่มีความล่าช้า และจะจัดหาวัคซีนหลากหลายชนิด เพื่อรับมือกับการกลายพันธุ์ของไวรัส  

ผู้อำนวยการสถานบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงข่าวขอโทษประชาชนกรณีจัดหาวัคซีนล่าช้า เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 64 ที่กระทรวงสาธารณสุข

“ต้องกราบขอภัยพี่น้องประชาชน ที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ แม้จะพยายามเต็มที่แล้ว ก็ยังจัดหาวัคซีนได้ในจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ การระบาดของโรคโควิด-19  เราไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน รวมทั้งการกลายพันธุ์ของไวรัสไม่ใช่เรื่องที่จะคาดหมายได้ล่วงหน้า เกิดขึ้นแล้วทำให้การระบาดของโรครวดเร็วและรุนแรงกว่าที่เคยเป็นมาก่อนในช่วงปีที่แล้ว ทำให้การจัดหาวัคซีนไม่ทันกับสถานการณ์ ต้องกราบขอภัยพี่น้องประชาชน”

ที่ผ่านมารัฐบาลถูกตั้งข้อสังเกตถึงความผิดพลาดในการจัดหาวัคซีนจาก 2 สาเหตุหลัก 1. ไม่กระจายความเสี่ยงการจัดหาวัคซีน เพราะแผนระยะแรกแทบทั้งหมดทุ่มไปกับวัคซีนแอสตราเซเนกาเพียงเจ้าเดียว เมื่อสถานการณ์ระบาดประชิดตัวก่อนการส่งมอบเดือนมิถุนายน รัฐต้องสั่งซื้อซิโนแวค ซึ่งราคาแพงและมีข้อถกเถียงเรื่องประสิทธิภาพมาตั้งแต่ต้น 2. การไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ ซึ่งเป็นการลงขันกันกับหลายประเทศ ผ่านองค์การอนามัยโลก เพราะ มองว่าไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศเข้าโครงการนี้และทยอยได้รับวัคซีนแล้ว  

แต่ก็ไม่เหนือความคาดหมายของบุคคลที่มีส่วนตัดสินใจเรื่องวัคซีนที่จะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ “นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ” ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ด้านการต่างประเทศ เคยให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอส ในช่วงการจัดทำแผนวัคซีนระยะแรกราวเดือนพฤศจิกายนปี 2563 ว่าทุกการตัดสินใจ ล้วนมีความเสี่ยงไม่ว่าจะเลือกทางใด 

สำหรับปี 2564 “นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์” อธิบดีกรมควบคุมโรคยืนยันว่าสามารถจัดหาวัคซีนได้ครบตามเป้าหมาย 100 ล้านโดสแล้วประกอบด้วย แอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส ซิโนแวค 19 ล้านโดส และไฟเซอร์ 20 ล้านโดส ซึ่งเพิ่งเซ็นสัญญาและคาดว่าจะส่งมอบได้อย่างเร็วที่สุด เดือน ต.ค. 64 

ณ วันที่ 19 ก.ค.64 ประเทศไทยมีวัคซีนในมือ 17 ล้านโดส แบ่งเป็น  ซิโนแวค 9 ล้านโดส แอสตราเซเนกา 8 ล้านโดส ฉีดแล้ว 14 ล้านโดส เหลือ 3 ล้านโดส อยู่ระหว่างการกระจายลงพื้นที่ต่างๆ และที่เหลือทยอยส่งมอบ และยังไม่นับรวมวัคซีนทางเลือก และวัคซีนที่จะได้รับบริจาคเพิ่ม  

สำหรับเดือน ส.ค. 64 ไทยยังต้องลุ้นการส่งมอบวัคซีน “แอสตราเซเนกา” ซึ่งคาดว่าน่าจะส่งมอบได้ประมาณ 4-5 ล้านโดสจากกำลังการผลิตที่ลดลง และส่งให้ไทยได้ 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตล่าสุด 15 ล้านโดส/เดือน และวัคซีน “ซิโนแวค” ที่รัฐจองซื้อไว้ 10 ล้านโดสทยอยส่งมอบเดือน ก.ค – ธ.ค. เดือนละ 2-3 ล้านโดส 

นั่นหมายความว่าเดือน ส.ค. 64 ไทยจะมีวัคซีนให้จัดสรรประมาณ​ 7-8 ล้านโดส ยังไม่นับรวมวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐอเมริกาบริจาควันที่ 29 ก.ค. 64 จำนวน 1.5 ล้านโดสที่ไว้สำหรับบุคคลากรทางการแพทย์ และต้องลุ้นว่าจะได้รับบริจาควัคซีนจากประเทศอื่นมาเพิ่มอีกหรือไม่

เมื่อพิจารณาจากตัวเลขการจัดหาวัคซีน จะเห็นได้ว่าสถานการณ์เดือน สิงหาคมกันยายน วัคซีนยังค่อนข้างตึงมือจากเป้าหมายวัคซีนที่ควรได้เดือนละ 10-15 ล้านโดส ไปจนกว่าจะถึงวันส่งมอบวัคซีนไฟเซอร์ ในไตรมาส 4 ของปีนี้ 

ส่วนแผนการจัดหาวัคซีนปี 2565 ตั้งเป้าไปที่ 120 ล้านโดส สถาบันวัคซีนแห่งชาติพร้อมเจรจากลับเข้าโครงการโคแวกซ์ เพื่อกระจายความเสี่ยง ขณะเดียวกันก็เปิดเผยรายชื่อ 6 บริษัทวัคซีนที่หารือเตรียมจองซื้อในปีหน้า ได้แก่ แอสตราเซเนกา, ไฟเซอร์, โมเดอร์นา, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, ซิโนฟาร์ม และวัคซีนของบารัต 

สธ.หารือ 6 ผู้นำเข้าวัคซีนโควิด-19 ผ่านระบบ Teleconference เพื่อวางแผนจัดหา 120 ล้านโดสรองรับการกลายพันธุ์ปี 2565 เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564

วันที่ 20 ก.ค. 64 กระทรวงสาธารณสุขได้เชิญผู้แทนนำเข้าวัคซีนทั้ง 6 รายมาหารือ ซึ่งมีหลายเทคโนโลยี ทั้ง mRNA ไวรัลเวคเตอร์ และเชื้อตาย และเป็นวัคซีนรุ่นใหม่ที่รองรับการกลายพันธุ์ได้ “นพ.โอภาส” ได้ซักถามผู้แทนวัคซีนทั้ง 6 ราย โดยเฉพาะความก้าวหน้าในการพัฒนาปรับปรุงวัคซีนรุ่นต่อไปให้มีประสิทธิภาพต่อเชื้อกลายพันธุ์ได้มากขึ้นและระบบซัพพลายมีแนวโน้มอย่างไร จะจัดส่งได้ในช่วงใด จำนวนที่จะเจรจาซื้อขายได้ในปี 2565 รวมถึงทำความเข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีนรูปแบบใหม่ เช่น การกระตุ้นบูสเตอร์โดส ซึ่งแต่ละฝ่ายจะนำข้อมูลที่ได้ไปปรึกษาหารือและเจรจาเรื่องการจองวัคซีนต่อไป โดยกรมควบคุมโรคจะรายงานความก้าวหน้าเป็นระยะ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS