หยุดการแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัวด้วยการตรวจคัดกรองเชิงรุก

“ไม่ตรวจ ไม่รู้ หยุดการแพร่ระบาดไม่ได้” ทีมแพทย์ชนบทตรวจคัดกรองเชิงรุกรอบ 2 พิกัดปัญหา สแกนพื้นที่เสี่ยง เร่งฉีดวัคซีนสกัดระบาดชุมชนทั่วกรุงเทพฯ

วันนี้ (22 ก.ค. 2564) นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ทีมแพทย์ชนบท รวมทีมแพทย์อาสาจากหลายจังหวัด บุกเข้ากรุงสนับสนุนการตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชนกรุงเทพมหานคร ซึ่งครั้งนี้ยังคงตระเวนตรวจมากกว่าวันละ 10จุด ตั้งแต่วันที่ 21-23 ก.ค.64 คาดตรวจคัดกรองได้ไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นคน 

สถานการณ์การติดเชื้อรายวันยังคงแตะหลักหมื่น กรุงเทพมหานครสูงที่สุดมากถึงวันละ 2-3 พันคน บุคลากรทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขในเวลานี้ทำงานเกินกว่าภาระกำลัง  ทีมแพทย์ชนบทจึงรวมทีมแพทย์อาสากันอย่างรวดเร็วรอบนี้ 16 ทีม ได้แก่ ทีมสุโขทัย ทีมจะนะ+ยโสธร ทีมเชียงราย+ไทรงาม ทีมขอนแก่น ทีมด่านมะขามเตี้ย ทีมน่าน+บางกรวย ทีมชัยภูมิ+ลพบุรี ทีมสุรินทร์ ทีมนครศรีธรรมราช และทีมนาทวี+ปาดังเบซาร์ เร่งตรวจคัดกรองเชิงรุกอีกครั้งกระจายในหลายพื้นที่ทั่วชุมชนกรุงเทพมหานคร 

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ระบุว่า การตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยแอนติเจนเทสท์คิท จะช่วยทำให้ผู้ติดเชื้อได้รู้ตัวว่าตัวเองติดเชื้อหรือไม่ และจะระมัดระวังตัวเองมากขึ้น ถ้าคนเข้าถึงการตรวจได้ จะควบคุมการแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าการไม่ตรวจ เพราะไม่ตรวจก็ไม่รู้ คุมระบาดไม่อยู่ และการตรวจยังช่วยให้เราสามารถพิกัดพื้นที่ปัญหาได้ ว่าชุมชนไหนเป็นพื้นที่เสี่ยง และวางแผนฉีดวัคซีนควบคู่กันไป ชุมชนแออัดคือหัวใจสำคัญของการคุมโรคระบาดในกรุงเทพฯ เพราะลักษณะบุคลิกภาพของชุมชนมีการใกล้ชิดกันมากกว่า

“ไม่ตรวจก็ไม่รู้ ว่าติดเชื้อ ถ้าเขารู้ เขาจะรู้ว่าต้องทำตัวยังไง แยกตัวเองแบบไหน ความรู้ในรอบปีที่ผ่านมาประชาชนเข้าใจ แต่ปัญหาคือคนในชุมชนแออัดเขาเข้าไม่ถึงการตรวจ น่าสงสารมาก ถ้าพิกัดพื้นที่เสี่ยงในชุมชนได้เราก็ควบคุมการระบาดได้”

นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย บอกว่า เมื่อมีการตรวจเพื่อควบคุมการแพร่เชื้อแล้ว ระบบที่ต้องพัฒนาควบคุมกันคือระบบการรองรับ การรับคนเข้าระบบการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) และชุมชน (Community Isolation)

ซึ่งเวลานี้มีข้อจำกัดที่ผู้ติดเชื้อไม่สามารถที่จะโทรเข้าสู่ระบบ 1330 ได้ ระบบการจับคู่ดูแลที่บ้านหรือชุมชนจึงไม่เดินหน้าต่อ การตรวจรอบนี้มีการถอดบทเรียนจากครั้งที่แล้ว และพบว่าหลายคนที่มาตรวจด้วยแอนติเจนท์ เทสท์ คิทจำเป็นต้องไปตรวจซ้ำอีกรอบแบบ RT-PCR โรงพยาบาลถึงจะรองรับและเข้าสู่การรักษาได้  ซึ่งบางคนก็ต้องรอคิวและต้องจ่ายเงินค่าตรวจเอง ทำให้การเข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้านหรือชุมชนตามที่ตั้งใจไว้เป็นไปอย่างล่าช้า รอบนี้ทางเครือข่ายภาคประชาชนจึงร่วมสนับสนุนทีมแพทย์ชนบท จัดทีมอาสาลงทะเบียนให้ผู้ติดเชื้อที่มีผลเป็นบวก และแพทย์ชนบทตรวจซ้ำด้วย RT-PCR  ในจุดบริการเดียวกัน เพื่อให้ระบบรองรับเกิดขึ้นครบวงจร โดยมีภาคประชาชนคอยเป็นอาสาร่วมทำงาน

สำหรับขั้นตอนการเข้ารับการรักษาแบบ Home Isolation หลังผลการตรวจเป็นบวก จะมีการลงทะเบียนหรือสแกนคิวอาร์โค๊ด ของระบบ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อผ่านการประเมินอาการเบื้องต้นจากอาสาสมัครชุมชน กลุ่มที่มีอาการสีเขียวจะกลับไปรักษาตัวที่บ้านและรอการประสานติดต่อกลับจากระบบที่ลงทะเบียนไว้ภายใน 48 ชั่วโมง และจะมีทีมแพทย์ พยาบาล ประสานดูแลทางเทเลเฮลล์และวิดีโอคอล วันละ 2 ครั้ง พร้อมจัดส่งอุปกรณ์ อาหาร และหากมีอาการจะสามารถรับยาที่บ้านได้ ขณะที่กลุ่มที่มีอาการสีเหลืองหรือแดง จะมีการประสานส่งตัวในไลน์ ISRI ทีมแพทย์พยาบาลอาสาจะรับหน้าที่ดูแลทันที

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส