นักระบาดวิทยาหนุน “ล็อกดาวน์กลางวัน” เหตุติดเชื้อในครอบครัวสูง


ศบค.ขอให้ ปชช. งดออกจากบ้านตลอดวัน ตำรวจ-ทหาร ตั้งด่านตรวจ 9 จังหวัดแดงเข้ม “ศ.นพ.วีระศักดิ์” ชี้หากล็อกดาวน์สนิท ผู้ติดเชื้อจะลดลงใน 2 สัปดาห์

การตัดสินใจยกระดับมาตรการล็อกดาวน์กรุงเทพฯ และปริมณฑล และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพิ่มเติมอีก 3 จังหวัดคือ พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. – 2 ส.ค. 64 “นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์” อธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่าเป็นเพียงแค่การชะลอ ไม่ให้ตัวเลขติดเชื้อเพิ่มขึ้น 

หลังมีมาตรการออกมา “พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์” เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศบค. ระบุจะประเมินผลย่อยในช่วง 7 – 14 วันว่าต้องปรับมาตรการเข้มข้นขึ้นหรือไม่ หากติดเชื้อเพิ่มในส่วนของรายจังหวัด

ทั้งนี้ “นพ.โอภาส” คาดว่าในอีก 2 สัปดาห์ ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะยังไม่ลดลง แต่หากแนวโน้มตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูงต่อเนื่องใน 2 เดือน มีแนวโน้มจะใช้มาตรการคล้ายเมืองอู่ฮั่น ของจีน คือล็อกดาวน์เมือง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด นั่นคือประชาชนอยู่บ้าน งดการเดินทาง หรือถึงขั้นต้องส่งข้าว ส่งน้ำตามบ้าน

ศบค. ขอประชาชน งดออกจากบ้านตลอดวัน

เพื่อไม่ให้ไปจุดที่ต้องล็อกดาวน์แบบอู่ฮั่น ล่าสุด (19 ก.ค. 64) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ระบุมาตรการล็อกดาวน์ขั้นสูงสุดในพื้นที่ 13 จังหวัดสีแดงเข้ม ขอให้ประชาชนงดออกจากเคหสถานหรือที่พำนักโดยไม่จำเป็นในเวลากลางวัน ยกเว้นเพื่อจัดหาอาหาร ยา พบแพทย์ รับวัคซีน และอาชีพจำเป็น มีผลพรุ่งนี้ (20 ก.ค. 64)

“นอกจากเคอร์ฟิวแล้ว ในช่วงเวลากลางวันขอให้ท่านงดการเดินทางให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้”

ซึ่งฝ่ายความมั่นคงมีการพูดคุยกันว่า จะมีการตั้งด่านตรวจอย่างเข้มงวด ในเวลากลางวัน และจะทำให้คนที่อยู่พื้นที่สีแดงเข้ม จะได้รับความไม่สะดวก หากออกมาข้างนอก เพราะจะมีการตั้งด่านอยู่ตามชายขอบอย่างเข้มข้น 

สำหรับกิจกรรมที่ได้รับการยกเว้นให้เดินทางออกนอกเคหสถานในเวลากลางวันได้ ได้แก่ การจัดการเครื่องอุปโภคบริโภค อาหาร ยา เวชภัณฑ์ การพบแพทย์ รับบริการสาธารณสุข รักษาพยาบาล รับวัคซีน หรืออาชีพที่มีความจำเป็นต้องปฏฺิบัติงานที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้

ส่วนมาตรการเคอร์ฟิวในตอนกลางคืน ยังงดออกจากบ้านในเวลา 21.00-04.00 น. เช่นเดียวกับประกาศฉบับก่อนหน้านี้ แต่ขยายระยะเวลาไปอีก 14 วันนับจากวันที่ 20 ก.ค.นี้

วัคซีนมาไม่ทันจำเป็นต้อง “ล็อกดาวน์กลางวัน” คุมโรค

“ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์” ประธานหลักสูตรสาขาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. และที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข อธิบายว่าจํานวนผู้ติดเชื้อเกิดจากการสัมผัสจึงเกิดความสามารถในการถ่ายทอดเชื้อ จากคนที่ป่วยไปยังคนที่ไม่ป่วยได้ หากเรามีวัคซีน คนที่รับวัคซีนไปแล้วก็จะติดเชื้อน้อยลง แต่ขณะนี้เราได้วัคซีนมาน้อย แม้ฉีดวัคซีนไปแล้วก็ต้องรออีกระยะหนึ่งกว่าจะฉีดครบ 2 เข็มคงไม่ทันการ

มาตรการล็อกดาวน์ ควบคุมโรคให้ผลทันที เพราะทำให้การสัมผัสของผู้คนลดลง แต่จะลดลงได้เท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับการติดต่อสัมผัสมากน้อยแค่ไหน การสัมผัสที่เราคิดว่าเกือบจะป้องกันไม่ได้คือการสัมผัสภายในครัวเรือน คนในครัวเรือนเดียวกันโอกาสที่จะลดการสัมผัสได้น้อยมาก 

“ดังนั้นการสัมผัสนอกครัวเรือน ต้องคิดว่าทุกคนมีเชื้อพร้อมที่จะแพร่ให้คนอื่นได้ เพราะฉะนั้นออกข้างนอกต้องให้สัมผัสให้น้อยที่สุด”

การสัมผัสให้น้อยที่สุดนั้น รัฐบาลคิดว่ากลางคืนคนสัมผัสเยอะ แต่ “ศ.นพ.วีระศักดิ์” เชื่อว่าปกติกลางคืนคนส่วนใหญ่อยู่บ้าน คนที่ออกไปข้างนอกน้อย การให้ปิดร้านอาหารเร็วขึ้นอาจจะไม่ได้ช่วยมากเท่าไหร่ มนุษย์เป็นสัตว์กลางวันการล็อกดาวน์กลางวัน จึงเป็นเรื่องสำคัญ

หลายๆจังหวัดปิดตลาดเพราะการสัมผัสที่ทำให้แพร่ได้มาก คืออยู่ในพื้นที่แคบๆ อากาศไม่ถ่ายเท เช่น อยู่ในห้องแอร์ ในลิฟต์ เชื้อลอยอยู่ในอากาศได้นาน แต่อยู่กลางแจ้งเว้นระยะห่างกันมากก็โอกาสน้อย

การล็อกดาวน์ ต้องหมายถึงการล็อกในสำนักงานให้เหลือคนน้อยที่สุด work from home เป็นส่วนใหญ่ ใน กทม.ขณะนี้ครึ่งหนึ่งก็อาจจะยังไม่พอต้องเหลือน้อยที่สุด

การสอบสวนโรคยังจำเป็นอยู่ แต่ทำได้แค่ไหน ปกติในการสอบสวนโรคนักระบาดจะเช็คดูไทม์ไลน์ว่าไปไหนบ้าง โดยเฉพาะไปกินข้าวกับเพื่อนต้องสัมภาษณ์ผู้สัมผัสใกล้ชิดหมด ถ้าเราไม่ล็อกดาวน์ เราก็จะมีคนที่สัมผัสเยอะ แต่พอเราล็อกดาวน์ แล้วคนสัมผัสน้อยก็สามารถกลับมาควบคุมโรคได้อีกครั้ง

หากล็อกดาวน์สนิท ก็ควรจะเห็นผลใน 2 สัปดาห์ตัวเลขก็จะลดลงตามลำดับ แต่ตัวเลขขณะนี้ไม่ใช่ตัวเลขจริง เป็นตัวเลขเท่าที่เราสอบสวนได้ ที่สอบสวนไม่ได้ยังมีอีกเยอะ ผู้ติดเชื้อคนหนึ่งเราต้องสอบสวนเฉลี่ย 20 คน เวลาติดเชื้อเป็นหมื่นคน เราจะสัมภาษณ์อีก 2 แสนคนในวันเดียวกันทำให้ได้ตัวเลขที่เราเห็นอยู 8-9 พันคน เป็นตัวเลขที่สอบสวนได้ ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังสอบสวนไม่ได้ยังมีอีกเยอะ

“เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นเราก็จะเห็นตัวเลขลดลง จะลดลงไปเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับว่าเราสัมผัสกันได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเราสัมผัสน้อยการสอบสวนโรคก็จะทำได้ดีขึ้น”

ผลลัพท์ที่ได้จากการล็อกดาวน์ ควรดูที่ตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิต แต่จะเห็นผลช้าหน่อย ขณะนี้เสียชีวิตเฉลี่ย 80-90 คนต่อวัน จำนวนผู้ป่วย 3 สัปดาห์เพิ่มขึ้นเท่าตัว​ แต่คนเสียชีวิต  1 สัปดาห์จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว เพราะตายสะสมจากอย่างอื่นเนื่องจากคนไม่ได้เข้าถึงบริการ ทั้งคนไข้โควิด 19 และโรคอื่นๆก็ต้องตายเยอะขึ้น 

คาดหาก กทม.ฉีดวัคซีนเกิน 50% ผู้ติดเชื้อจะลดลง 

ล็อกดาวน์แล้วให้จบ ก็ต้องรอวัคซีนหาก กทม.ฉีดได้ 50% จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลง “ศ.นพ.วีระศักดิ์” มองว่าชนิดของวัคซีนมีความสำคัญน้อยกว่าจำนวนที่ฉีดต่อให้วัคซีนได้ประสิทธิภาพ 90% แต่ฉีดได้จำนวนน้อยก็ยังลำบากอยู่ 

“การฉีดวัคซีนมากๆก็จะสู้ได้ ต้องฉีดวัคซีนให้ครบหมดทุกคน ไม่ใช่หวังแต่ว่าได้วัคซีนดีที่สุด แล้ววัคซีนที่มีอยู่เราปฏิเสธ อย่างนี้เราก็จะมีโรคระบาดต่อ”

หากป้องกันการแพร่เชื้อได้ เราจะป้องกันผู้สูงอายุได้ไม่ให้ติดเชื้อได้ หากฉีดให้ผู้สูงอายุ แล้วไม่ฉีดให้คนหนุ่มสาว โรคก็จะแพร่ระบาดต่อไป 

อัตราการตายขึ้นอยู่กับว่า เรามีสัดส่วนผู้สูงอายุมากเท่าไหร่ในประชากรถ้าเรามีประชากรผู้สูงอายุเยอะ ยกตัวอย่างผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไปมีน้อย เราไปฉีดพวกนี้คนที่ตายคือคนที่อายุต่ำกว่า 70 ปีที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

“เราต้องดูฐานประชากรว่าจะฉีดวัคซีนกลุ่มไหน แล้วจะป้องกันกลุ่มนั้นได้เท่าไหร่ แล้วจะป้องกันกลุ่มอื่นได้เท่าไหร่ ดังนั้นการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ จะเป็นเพียงป้องกันรายบุคคล แต่หากฉีดกลุ่มแรงงานจะป้องกันประชากรกลุ่มอื่นๆ ด้วย”

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS