สภาองค์กรของผู้บริโภค แนะ กทม. ใช้โรงเรียนในสังกัดเปิด Community Isolation

ออกแถลงการณ์เรียกร้อง กทม. หยุดเล่นการเมือง ให้ใช้โรงเรียนในสังกัดกว่า 400 แห่ง สนับสนุนการแยกตัวของครอบครัว เพื่อหยุดการตายที่บ้านผนึกกำลังหน่วยงาน จัดหาวัคซีนคุณภาพ บริการการตรวจเชิงรุกที่เข้าถึงง่าย กระจายยาฟ้าทะลายโจร

15 ก.ค. 2564 สภาองค์กรของผู้บริโภค มีแถลงการณ์ถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า จากการที่สถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 และการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ทำลายสถิติแทบทุกวัน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น 

หลังจากมีการผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการสนับสนุนให้ประชาชนแยกตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือจัดให้มีพื้นที่ของชุมชนในการแยกตัวผู้ป่วยโควิด (Community Isolation) เนื่องจากจำนวนเตียงผู้ป่วยที่มีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการในการรักษาพยาบาล รวมทั้งจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความจำกัด โดยที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการให้กับคลินิกชุมชนอบอุ่นจำนวน 57 แห่ง โรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชนอีกจำนวนหนึ่งร่วมดำเนินการ จัดให้มีระบบในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการ (สีเขียว) จากบ้านของตนเอง เพราะจากข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 เป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ ประชาชนจะได้รับสิทธิในการเข้าถึงบริการจากคลินิกที่เข้าร่วม และเครือข่ายหน่วยบริการเหล่านี้ ในการจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดูแลตนเองเบื้องต้น เช่น1) ปรอทวัดไข้ 2) อุปกรณ์วัดออกซิเจนจากปลายนิ้วของผู้ติดเชื้อ และมีบริการโทรศัพท์เพื่อสอบถามอาการของผู้ติดเชื้อวันละสองครั้ง รวมทั้งสนับสนุนอาหารในการแยกตัววันละสามมื้อทุกวันเป็นระยะเวลา 14 วัน แต่มีข้อจำกัดของชุมชนที่อาจมีผู้อยู่อาศัยในห้องหรือบ้านมากกว่าหนึ่งคน

สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงเรียกร้องให้กรุงเทพมหานครสนับสนุนการแยกตัวของครอบครัวที่มีทั้งผู้ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ โดยให้ผู้ที่ไม่ติดเชื้อสามารถไปพักอาศัยรวมกันในโรงเรียนที่ขณะนี้ไม่ได้มีการเปิดทำการในกรุงเทพมหานครจำนวนไม่น้อยกว่า 400 โรงเรียน

รวมถึงกรุงเทพมหานครควรสนับสนุนให้ศูนย์บริการสาธารณสุขซึ่งมีจำนวนมากถึง 69 แห่ง เป็นแหล่งกระจายยาฟ้าทะลายโจร เพื่อให้ทุกคนในชุมชนได้เข้าถึงยาสามัญประจำบ้านนี้ในการรักษาการติดเชื้อโควิด 19 โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อดูแลรักษาตัวเองเป็นเบื้องต้น พร้อมเรียกร้องให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนมีการให้บริการการตรวจเชิงรุก และจัดให้มีระบบการรายงานผลการตรวจโดยเร็วที่สุดเนื่องจากผู้บริโภคหลายคนเสียชีวิตก่อนทราบผลว่าติดเชื้อ จนทำให้เกิดความเสี่ยงกับชุมชน ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน และส่งผลต่อการควบคุมโรคโดยภาพรวม

ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค ขอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) สนับสนุนให้ สปสช. ร่วมกับกรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นผู้จัดหาวัคซีนและบริหารจัดการวัคซีน เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญโดยตรง โดยขอให้มีระบบควบคุมวัคซีน (VMI) ตามการดำเนินการของ สปสช. อีกทั้ง ทำให้องค์กรด้านสุขภาพ ภาคประชาสังคม สภาองค์กรของผู้บริโภคในฐานะตัวแทนผู้บริโภคทุกคน เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกกลุ่มทุกฝ่าย เกิดความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูล และประชาชนสามารถรับรู้ได้ว่าขณะนี้มีสัญญาวัคซีนที่กำลังจัดหา หรือการจัดซื้อวัคซีนที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นได้อย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน รวมทั้งทำให้เกิดการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงกับทุกคนในประเทศ ด้วยความเป็นธรรม

ท้ายสุด ขอให้กระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่ของตนเองในการควบคุมราคาวัคซีนทางเลือก ซึ่งมีราคานำเข้าไม่เกิน1,000 บาท และ สปสช. จะต้องจ่ายค่าดำเนินการในการฉีดวัคซีน จำนวน 40 บาท ให้กับโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active