“ภาคใต้แห่งความสุขในวิถี New Normal” ตั้งเป้าเคลื่อนขบวน 4 ประเด็นการเปลี่ยนแปลง

สสส. จัดเวที “สร้างสุขภาคใต้” ครั้งที่ 12 สานงาน เสริมพลัง ก้าวข้ามขีดจำกัด สู่ภาคใต้แห่งความสุขในวิถี New Normal แนะดึงทุน กลไกพื้นที่ หนุนเสริม ยกระดับการทำงานแบบข้ามเครือข่าย ข้ามพื้นที่ ข้ามประเด็น สร้างความสุขคนใต้อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564 ที่ห้องประชุมมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สถาบันพัฒนานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดงานสร้างสุขภาคใต้ ครั้งที่ 12 ภายใต้หัวข้อ “สานงาน เสริมพลัง ก้าวข้ามขีดจำกัด สู่ภาคใต้แห่งความสุขในวิถี New Normal” ผ่านระบบออนไลน์ มีผู้ร่วมประชุมรวมกว่า 2,000 คน

สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1เป็นประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า การจัดงานเวทีวิชาการครั้งนี้ มุ่งเน้นสนับสนุนการขับเคลื่อนงานของภาคีเครือข่ายสุขภาวะ สร้างกระบวนการสานงาน เสริมพลังข้ามประเด็น ข้ามพื้นที่ ในประเด็นปัญหาสำคัญของพื้นที่ภาคใต้เป็นหลัก ซึ่งทุกพื้นที่จำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงต่อปัจจัยกำหนดสุขภาพ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลกระทบมาจากภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล สังคมออนไลน์ ตลอดจนโรคอุบัติใหม่ หรือภาวะวิกฤตทางสุขภาพต่าง ๆ

“ข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกิดขึ้นในเวทีนี้ จะเป็นแนวทางหนึ่งที่นำไปสู่เป้าหมายภาคใต้แห่งความสุข ใน 4 ประเด็นหลัก คือ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสุขภาพ ความมั่นคงทางฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางมนุษย์ ซึ่งภาคีเครือข่ายที่ขับเคลื่อนงานจะต้องบูรณาการ เชื่อมร้อยกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น วิชาการ และภาคประชาชน ให้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ปัญหาที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยใช้ทุนและกลไกที่มีในพื้นที่ เช่น กลไกกองทุนตำบล คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) กลไกสมัชชาสุขภาพระดับจังหวัด กลไกเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข กลไกเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) กลไกของคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) และกลไกคณะทำงานพัฒนาองค์กรชุมชน หนุนเสริมและยกระดับการทำงานแบบข้ามเครือข่าย ข้ามพื้นที่ ข้ามประเด็น เพื่อพัฒนาภาคใต้อย่างมีประสิทธิภาพและนำไปสู่ความสุขของคนใต้อย่างยั่งยืน”

รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ในคณะกรรมการกองทุน สสส.

รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ในคณะกรรมการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคใต้ ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดกลุ่ม องค์กรชุมชน เครือข่าย และภาคีความร่วมมือต่าง ๆ ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพหลากหลายประเด็น และมีองค์กรภาคีเครือข่ายสุขภาวะกระจายตัวอยู่ในแต่ละจังหวัดเป็นจำนวนมาก ซึ่งทิศทางและเป้าหมายในระยะ 10 ปี ของ สสส. มียุทธศาสตร์การทำงานเพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การสนับสนุนงานวิชาการและรังสรรค์นวัตกรรม 2. พัฒนาศักยภาพบุคคล ชุมชน และองค์กร 3.สานเสริมพลังเครือข่าย 4.พัฒนากลไกทางนโยบาย สังคม และสถาบัน และ 5.สื่อสาร จุดประกาย ชี้แนะ สังคม การขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ด้าน จะอยู่บนฐานของการบูรณาการ และสานพลังด้วยยุทธศาสตร์ไตรพลัง ได้แก่ พลังนโยบาย พลังความรู้ และพลังสังคม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมโดยรวมและมีความยั่งยืน

“เวทีวิชาการวันนี้ ภาคีเครือข่ายภาคใต้ และหน่วยงานยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ได้จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ออกแบบการร่วมกันในระดับจังหวัด 14 จังหวัดมาอย่างเข้มข้น เพื่อนำบทเรียน ข้อสรุป ตลอดจนข้อเสนอนโยบาย มาแลกเปลี่ยนร่วมกัน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต้องก้าวข้ามวิกฤตทางสุขภาพ และก้าวสู่เป้าหมายใหม่ที่ท้าทายภายใต้สถานการณ์ชีวิตวิถีใหม่ (new normal) จึงจำเป็นต้องทำงานแบบเชื่อมโยงเป็นภาคีเครือข่าย เสริมพลังสร้างการทำงานแบบมีส่วนร่วม เตรียมเครือข่ายให้มีความพร้อมสามารถปรับตัวทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงมีทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์อยู่เสมอ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม