กู้ภัยถ้ำหลวง มี 3 แผน แต่จัดการโควิด-19 มีกี่แผน?

วงสนทนาตั้งคำถาม ย้อนถอดบทเรียน 3 ปี ถ้ำหลวง นับถอยหลัง 120 วัน เปิดประเทศ “วีระศักดิ์” ชี้ การสื่อสารช่วยเรียกความเชื่อมั่น “ผศ.ทวิดา” ระบุ Single Command ไม่ใช่รวมศูนย์อำนาจ 

23 มิ.ย. 2561 จากข่าวภูมิภาคเล็ก ๆ กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลก

3 ปีผ่านไป วนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ถูกพัฒนากลายเป็นอุทยานแห่งชาติ พื้นที่โดยรอบกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงราย ความสำเร็จในการกู้ภัยครั้งนั้น ทำให้หลายฝ่ายถอดบทเรียน และพบจุดแข็งสำคัญหลายด้าน 

23 มิ.ย. 2564 ในวันครบรอบ 3 ปี ปฏิบัติการกู้ภัยระดับโลก วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ก็กำลังส่งผลกระทบกับคนทั้งโลก เป็นภัยพิบัติโรคระบาดขนาดใหญ่กว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งนั้นหลายเท่า แต่หลักการและจุดแข็งของความสำเร็จในการจัดการความเสี่ยงในภาวะวิกฤตในอดีต จะสามารถนำมาปรับใช้กับวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้อย่างไร?

“วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” สมาชิกวุฒิสภา อดีต รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อีกหนึ่งเบื้องหลังในภารกิจกู้ภัยถ้ำหลวง ยังคงจำเหตุการณ์ความร่วมมือของคนทุกภาคส่วนได้เป็นอย่างดี ถ้าหากจะเปรียบเทียบเหตุการณ์ระหว่างทีมฟุตบอลเยาวชน 13 คนติดในถ้ำหลวงฯ กับการแก้ไขปัญหาโรคระบาดขนาดใหญ่ มีหลายปัจจัยที่ต่างกัน แต่พอจะมองหาปัจจัยร่วม คือ เรื่องของการสื่อสาร 

เหตุการณ์ถ้ำหลวงมี “ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย หรือที่เรียกว่า ผู้ว่าหมูป่า เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์และและเป็นคีย์แมนในการให้ข้อมูลหลักเพียงคนเดียว ข้อมูลทุกข้อมูลจะได้รับการยืนยันว่าจริงหรือไม่ จากการแถลงข่าวรายวัน และยังได้เห็นการจัดระเบียบสื่อมวลชน และการรายงานข่าว ที่ไม่ให้กระทบกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ หรือไม่ให้กลายเป็นอุปสรรคการทำงานของเจ้าหน้าที่ 

“ภาวะวิกฤตโควิด-19 เวลาผ่านมาเป็นปี มีผู้รู้ให้ความเห็นมากมาย การสื่อสารกระจัดกระจายหลายด้าน ไม่เป็นหนึ่งเดียว ต้องยอมรับว่าการสื่อสารเป็นพลังสำคัญในภาวะวิกฤต ที่จะช่วยทั้งเรียกความเชื่อมั่น และทำให้สถานการณ์ไม่ตื่นตระหนกไปได้”

สอดคล้องกับ “ผศ.ทวิดา กมลเวชช” คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักจัดการภัยพิบัติ ระบุว่าการสื่อสารในภาวะวิกฤตจะต้องสื่อสารไปถึงอนาคต และการจัดการในภาวะวิกฤตย่อมมีแผนหลัก แผนสำรองและแผนสุดท้ายเสมอ อาจจะไม่เป็นธรรมนักหากจะเปรียบเทียบเหตุการณ์วิกฤตที่มีขนาดต่างกันทั้งสองเหตุการณ์ ระหว่างถ้ำหลวงกับโควิด-19 

แต่หากพิจารณาบนหลักการของการจัดการความเสี่ยง จะพบว่า การกู้ภัยถ้ำหลวงฯ มีการวางแผนหลัก คือ การนำเด็กออกจากหน้าถ้ำ แผนรอง คือ สำรวจโพรงต่าง ๆ ที่อยู่บนภูเขา และแผนสุดท้าย คือ การเจาะภูเขาเพื่อช่วยเหลือชีวิต ซึ่งทั้ง 3 แผนดำเนินการไปพร้อมกัน โดยไม่รู้ว่าแผนใดจะสำเร็จก่อน แต่แผนหลักหรือแผน A ถูกประเมินแล้วว่าจะเป็นแผนที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด

“วิกฤตโควิด-19 ซึ่งขนาดใหญ่กว่า กินระยะเวลามา 2 ปี มีเป็นล้านแผนในการจัดการกับหลายเหตุการณ์ และหลายเป้าหมาย ถ้าเหตุการณ์ถ้ำหลวงฯ เป้าหมาย คือ การช่วยเด็กออกจากถ้ำ ส่วนโควิด-19 เป้าหมาย คือ การจัดหาวัคซีนให้เร็วที่สุด แผนการจัดหาวัคซีนในปัจจุบันมีแผนหลัก แต่มีแผนสำรอง และแผนสุดท้ายหรือไม่ ความชัดเจนของแผนการจัดการจะนำไปสู่ความชัดเจนของการสื่อสาร ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจร่วมกันของคนในสังคม และนำไปสู่การให้ความร่วมมือ”

ขณะที่หลักการของการสั่งการแบบเชิงเดี่ยวหรือ Single Command ไม่ใช่การรวมศูนย์อำนาจ หรือสั่งคนเดียว แต่หมายความถึงการสั่งการทั้งระบบ ภาพเหตุการณ์ที่หน้าถ้ำ ใช้ Single Command ในพื้นที่น้อย และใช้ในภาวะการฉุกเฉินที่มีผู้บัญชาการเหตุการณ์หน้างาน ส่วนระบบที่เป็นการสั่งการแบบคำสั่งเดียวในขนาดใหญ่ขึ้นอย่าง​ ศบค.​ ต้องใช้วิธีการสั่งให้เกิดเอกภาพของการประสานงานกับทุก ๆ หน่วย ทั้งหน่วยที่ไม่มีปฏิบัติการภายใต้พ.ร.บ. เดียวกัน และหน่วยที่อยู่ในพื้นที่ปลายทาง ที่มีบริบทต่างกัน ดังนั้น มันจะไม่ใช่การสั่งด้วยคนคนเดียวแน่นอน

120 เปิดประเทศ ปฏิบัติการกู้ภัยจากโรคระบาด?

ถ้าการช่วยชีวิตเด็กมีดีเดย์ของวันที่จะต้องนำเด็กออกจากถ้ำ การขีดเส้นเปิดประเทศ 120 วัน ไม่ต่างอะไรกับการกู้ภัยชีวิตของคนทั้งประเทศ 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลกระทบจากโรคระบาด ทำให้หลายธุรกิจไปต่อไม่ได้ หนึ่งในนั้นคือภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ การเปิดประเทศจึงเป็นทางเดียวที่จะทำให้ ภาคเศรษฐกิจ และปากท้องคนรากหญ้าฟื้นคืนกลับมา แต่ก็ดูเหมือนว่าจะมีความเสี่ยงมากมายหลายด้านเหลือเกิน

การนำร่องเปิดประเทศที่ จ.ภูเก็ต หรือ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา บอกว่า เหมือนเป็นการเปิดหน้าต่างบ้าน แต่ยังไม่เปิดประตู ที่ต้องเปิดหน้าต่างก็เพื่อดูว่าลมแรงแค่ไหน ฝนสาดมากน้อยอย่างไรก่อนจะเปิดประตูบ้าน คือเปิดทั้งประเทศ

การใช้ จ.ภูเก็ต เป็นแซนด์บ็อกซ์ เพื่อทดสอบทั้งเรื่องของจํานวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นหรือไม่หลังจากการฉีดวัคซีนไปแล้ว ศักยภาพในการรองรับผู้ติดเชื้อ การบริหารจัดการจะเป็นอย่างไรเมื่อรับคนต่างชาติเข้ามาเที่ยวจริง ๆ เม็ดเงินทางเศรษฐกิจจะเพิ่มมากขึ้นเท่าไร แต่เกาะภูเก็ตจะเป็นกระบะทรายให้ทดลองได้ ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาคม คนจังหวัดภูเก็ต ซึ่งทุกฝ่ายก็เห็นด้วยจึงเดินหน้าตามกำหนดการเดิม คือ 1 กรกฎาคม

ถามหาความเห็นอกเห็นใจที่มาจาก “นายกรัฐมนตรี”

“500 กว่าวันแล้วที่อยู่กับโควิด-19 ความเห็นอกเห็นใจต้องไม่ได้มาจากฝั่งของประชาชนอย่างเดียว รัฐเองก็ต้องแสดงความเห็นอกเห็นใจ หรือ เข้าอกเข้าใจประชาชน ผู้นำบางท่านอาจต้องมีการปรับสื่อสารที่เข้าใจมากกว่านี้ ทำให้คนรู้สึกว่าเราเจ็บปวดเหมือนกัน”

“ผศ.ทวิดา” ในฐานะนักรัฐศาสตร์ สะท้อนมุมมองที่มีต่อการสื่อสารในภาวะวิกฤตของนายกรัฐมนตรี และฝาก 3 เรื่องเพื่อการเดินต่อไปข้างหน้า

1. มองให้เห็นเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดขึ้น ความสามารถนี้ต้องมีอยู่ในบริบทของผู้นำ มองให้ออกว่าจะต้องเจออะไร อย่าเอาแต่มองภาพสวยงาม

2. การทำให้ข้อมูลเป็นเอกภาพ และใช้ได้จริงในการตัดสินใจทั้งในระดับนโยบายและพื้นที่ 

3. ในวิกฤตเป็นภาวะที่เราไม่หาฮีโร่ วิกฤตเป็นภาวะที่ฮีโร่เกิดขึ้นเอง หมายความว่าอย่าหิวแสง ช่วงชิงพื้นที่ และอย่าพยายามทำให้ตัวเองถูกมากกว่า และผิดน้อยกว่า ความรับผิดรับชอบเกิดร่วมกันทั้งระบบ ขอโทษไม่เป็นไร แต่ต้อง Action ให้ไว และอย่าให้มีความผิดพลาด เพื่อต้องขอโทษซ้ำ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS