ผุดกระแสค้าน “ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ” แชทหลุด สพป. ระดมครูร่วมลงชื่อ

ร่อนหนังสือชวนครูค้าน ระบุ ร่างฯ ฉบับผ่าน ครม. “กระทบโครงสร้าง – คุณภาพครู” ขอความร่วมมือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด ลงลายมือชื่อคัดค้าน

ทำเอาคนในแวดวงการศึกษาต่างสงสัยว่าอยู่ในอำนาจผู้บริหารหรือไม่ หลังได้เห็นแชทไลน์ฝ่ายบริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร (สพป.สมุทรสาคร) แนบหนังสือบันทึกข้อความส่วนราชการ ที่ ผอ.สพป.สมุทรสาคร ขอความร่วมมือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด ร่วมลงชื่อคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้เขียนข้อความไว้ว่า

“เรียน ผอ.รร. ในสังกัด สพป.สมุทรสาคร ทุกโรงเรียน ขอความร่วมมือในการลงลายมือชื่อข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนในสถานศึกษา พร้อมแนบสำเนาบัตรทางราชการที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ฉ. ผ่าน ครม. ส่งกลุ่มบริหารงานบุคคล ภายในวันที่ 16 มิ.ย. 64 ขอบคุณครับ”

นอกจาก สพป.สมุทรสาคร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังปรากฏว่ามีแชทไลน์ ที่ระบุว่าเป็น ผอ.สพป.บร. 1 (บุรีรัมย์) ส่งถึงผู้อำนวยการโรงเรียนในสังกัด ให้ขอความร่วมมือไปยังครูและบุคลากรทางการศึกษา ในลักษณะเดียวกัน

The Active ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาบางแห่ง ที่ใช้วิธีเช็กชื่อรายโรงเรียน ว่าส่งหรือไม่ส่งเอกสาร ทำเอาหลายคนตั้งข้อสงสัยว่าการคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับผ่านความเห็นชอบ ครม. ที่เขียนเหตุผลว่า “ยังมีข้อกังวลใจของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในหลายประเด็น อาจส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนและขวัญกำลังใจบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในอนาคต” เป็นการคัดค้านโดยครู หรือผู้บังคับบัญชา

ทำความรู้จัก ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่

ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้ ถือเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและการจัดการศึกษาให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา และยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) เพื่อดูแลการจัดการศึกษาของประเทศ ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ทั้งจัดโดยภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แทน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ใช้เป็นกฎหมายกลางของการศึกษามานานเกิน 20 ปี

เริ่มยกร่างโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่มี ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน ให้น้ำหนักไปที่การปฏิรูปครูในฐานะผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดต่อประสิทธิภาพผู้เรียน ซึ่งมีการออกมาคัดค้านจากเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาบางส่วน ในสาระสำคัญที่เกี่ยวกับตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ที่ให้ใช้คำว่า “ครูใหญ่” แทน “ผู้อำนวยการโรงเรียน” และ ปรับแก้เรื่องการออก “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” ซึ่งถือเป็นวิชาชีพชั้นสูงตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 มาเป็น “การออกใบรับรองความเป็นครู”

ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี 25 พ.ค. 2564 ในประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดให้วิชาชีพครู เป็น “วิชาชีพชั้นสูง” แก้ไขคำว่า “หัวหน้าสถานศึกษา” เป็น “ผู้บริหารสถานศึกษา” และแก้ไขคำว่า “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” เป็น “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” โดยได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2564

ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงความก้าวหน้าต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร วันที่ 6 มิ.ย. 2564 ตอนหนึ่งว่า

“ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนในการจัดการศึกษาในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนที่แตกต่างไปจากเดิม เน้นพัฒนาให้เด็กมีสมรรถนะในการนำองค์ความรู้ไปปรับใช้กับชีวิต สามารถคิดวิเคราะห์ในมุมมองที่แตกต่าง มีความคิดอย่างรอบด้าน มีวิจารณญาณ ในส่วนของครู ก็จะต้องมุ่งเน้นพัฒนาครูให้มีคุณภาพ มีจิตวิญญาณความเป็นครู”

ขณะที่เมื่อ 23 มิ.ย. 2564 มติชนออนไลน์ รายงานว่า รัชชัยย์ ศรสุวรรณ ประธานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครู (คอท) และประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณานั้น อยากเรียกร้องให้รัฐบาลถอนกฎหมายดังกล่าว ออกจากการพิจารณาของสภาฯ เพราะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิตครู ดังนี้

1. ร่างกฎหมายฉบับนี้มีเจตนาเปลี่ยนสถานะข้าราชการครูเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” จาก มาตรา35 ระบุว่า “ให้มีกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคล สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีหลักประกันความเป็นข้าราชการหรือความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีสถานะและได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเคียงได้กับข้าราชการ” เมื่อวิเคราะห์จากสาระแล้วเห็นว่ามาตรานี้ไม่ได้ใช้คำว่า “ข้าราชการครู” แต่ใช้คำว่า “ครูและบุคลากรทางการศึกษา” ที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาของรัฐซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงจากข้าราชการครูที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นสถานะอื่นที่ไม่ใช่ข้าราชการ ส่งผลเสียต่อวิถีชีวิตครู เพราะหากครูปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกใจผู้มีอำนาจอาจถูกเลิกจ้างได้อย่างไม่เป็นธรรม ที่สำคัญคือจะทำให้ไม่มีแรงจูงใจให้คนเก่งมาเป็นครู

2. ครูในสถานศึกษาของรัฐ อาจอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายทุน พ่อค้าหรือเอกชน โดย มาตรา11 (5) บัญญัติไว้ว่า “รัฐมีหน้าที่จัดการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามมาตรา 8 และมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือและอุดหนุนการจัดการศึกษาตาม (1) (2) (3) และ (4) ในการจัดการศึกษาดังกล่าวรัฐจะมอบหมายให้เอกชนเข้าบริหารจัดการหรือดำเนินการโดยใช้ทรัพยากรของรัฐก็ได้” การกำหนดเช่นนี้ให้อำนาจรัฐสามารถใช้ดุลพินิจให้เอกชนเข้าบริหารจัดการสถานศึกษาของรัฐ โดยใช้ทรัพยากรของรัฐ ซึ่งข้าราชการครูก็ถือว่าเป็นทรัพยากรของรัฐ

3. หน่วยงานระดับกรมและเขตพื้นที่การศึกษาจะถูกยุบ เพราะในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯกำหนดโครงสร้างส่วนราชการระดับกรมไว้ในมาตรา 34 และมาตรา35 ให้มีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดโครงสร้างของหน่วยงานระดับกรมไว้ มาตรา 106 มีสาระสำคัญว่า “…ให้การบริหารราชการศธ.อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการศธ.และปลัดศธ.ซึ่งค่อนข้างชัดเจน ว่า น่าจะมีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ทุกจังหวัดเพราะถือว่าเป็นตัวแทนปลัดศธ.

“ขณะที่บทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯฉบับนี้ กำหนดให้ผู้อำนวยการสถานศึกษา รองผู้อำนวยการสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มีสิทธิได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะและประโยชน์ตอบแทนอื่นเช่นเดียวกับที่ได้รับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จึงตั้งข้อสังเกตว่า ร่างกฎหมายนี้ไม่มีการพูดถึงผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แสดงให้เห็นว่าจะมีการยุบเขตพื้นที่ฯ ดังนั้น ขอเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯออกไปก่อนแล้วให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่างกฎหมายการศึกษาขึ้นใหม่โดยให้ข้าราชการครูมีส่วนร่วม”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active