เด็กเล็กรับกรรม ปิดเทอมยาว “เรียนรู้ถดถอย” ขอครู ยอมเหนื่อยชดเชยเวลาเรียน

นักการศึกษา-ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก ห่วงแนวโน้มโรงเรียน, ศูนย์เด็กเล็กพื้นที่แดงเข้มโควิด-19 ยังระบาดหนัก ส่อแววเปิดเทอม 14 มิ.ย.นี้ ไม่ได้ หวั่นเด็กปฐมวัย กระทบหนักสุด ภาวะเรียนรู้ถดถอย ทักษะ สติปัญญาลด จี้ทุกฝ่ายประเมินความเสี่ยงอย่างเหมาะสม เป็นไปได้ขอให้เปิดห้องเรียนเด็กเล็กก่อน  


ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย ม.หอการค้าไทย และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) เปิดเผยกับ The Active แสดงความเป็นห่วงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเด็กและเยาวชน จากกรณีการเลื่อนเปิดเทอมของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่ยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูง โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้ม อย่างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเห็นว่า การเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2564 ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. มาเป็นวันที่ 1 มิ.ย. จนล่าสุด 14 มิ.ย.นี้ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าการระบาดที่ยังคงวิกฤตจะทำให้บางจังหวัดยังไม่สามารถเปิดเรียนได้ตามกำหนดอีกหรือไม่ หรืออาจต้องเลื่อนเปิดเรียนออกไปอีก สิ่งนี้ส่งผลต่อการเรียนรู้ที่ถดถอยของเด็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ผศ.ดร.วีระชาติ  ย้ำว่า จำนวนวันที่หยุดเรียนจะส่งผลโดยตรงต่อความถดถอยทางการเรียนรู้ของเด็ก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กปฐมวัย 2-6 ปี สะท้อนผลกระทบชัดเจนจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลระดับความพร้อมของเด็กปฐมวัย (School Readiness) ที่ประเมินจากเด็กปฐมวัยใน 25 จังหวัดทั่วประเทศในช่วงการระบาดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า เด็กอนุบาลใน จ.นนทบุรี, พระนครศรีอยุธยา, กาญจนบุรี และสมุทรปราการ ที่มีปัญหาการระบาดจนต้องปิดโรงเรียนนั้น ส่งผลให้ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ของเด็กลดลง 1.98 เดือน และ ด้านสติปัญญาลดลง 1.39 เดือน  ซึ่งเป็นผลกระทบระยะสั้นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะส่งผลกระทบในระยะยาวรุนแรงหรือไม่

ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย ม.หอการค้าไทย


ผลการศึกษาที่เคยนำเสนอไป ยืนยันชัดเจนว่า ความรู้ที่ถดถอยของเด็กปฐมวัยมาจากปัจจัยของการเรียนรู้ที่หยุดชะงัก เช่น เด็กต้องหยุดเรียนมา 3 สัปดาห์ ทักษะทางการเรียน ก็จะหดหายไปราว 2-3 สัปดาห์เช่นกัน และที่น่าตกใจมากกว่านั้นผลการวิจัยยังพบอีกว่า ความพยายามใช้รูปแบบเรียนออนไลน์ เพื่อมาทดแทนการเรียนในห้องเรียนของเด็ก ๆ โดยเฉพาะในระดับปฐมวัยได้ผลเพียง 20% เห็นภาพชัด ๆ ก็สามารถเทียบได้ว่า เรียนในโรงเรียน 1 วัน เท่ากับ เรียนออนไลน์ 5 วัน

“ถ้าเราเชื่อว่า ทักษะสร้างเสริมได้ต่อเนื่อง หากมีต้นทุนน้อย ก็จะสร้างได้น้อยลงเรื่อย ๆ จนอาจกลายเป็นความล้มเหลวทางการเรียนในอนาคต  ถ้าต้องเลือกก็คงต้องเลือกเด็กอนุบาลก่อน ด้วยเหตุผลทางการเรียน และการดูแลของผู้ปกครอง เพราะนี่ไม่ใช่ปัญหาเล็ก ๆ ทางออกมีไม่มากนัก ถ้าเปิดได้ต้องเปิดเรียนในระดับเด็กเล็กให้เร็วที่สุด แต่สิ่งที่ต้องตระหนักด้วย คือ ผู้ปกครองมีสิทธิ์ไม่ให้เด็กมาโรงเรียน เพราะการประเมินความเสี่ยงแต่ละคนไม่เท่ากัน นี่คือสิทธิส่วนบุคคล ในสถานการณ์ที่เรายังมีวัคซีนไม่เพียงพอที่จะฉีดให้เด็กอนุบาล ครู และชุมชน”



โควิด-19 ตัวฉุดรั้งโอกาสทองการพัฒนาสมองเด็ก

กรองทอง บุญประคอง หรือ ครูก้า ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก และผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) ซึ่งเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวผลักดันแคมเปญรณรงค์ผ่าน change.org ให้การยกเลิกการสอบเข้า ป.1 ระบุเหตุผล ที่ต้องพิจารณาเปิดเรียนสำหรับเด็กปฐมวัยเป็นลำดับแรก ๆ เพราะเด็กวัย 2-6 ปี ต้องอาศัยการลงมือทำ การเรียนออนไลน์จึงไม่มีประสิทธิภาพ และไม่เหมาะสมกับเด็กเล็ก ขณะเดียวกันยังเป็นช่วงโอกาสทองที่มนุษย์จะได้ พัฒนา สมองส่วนหน้า Executive Function หรือ EF ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่จะช่วยให้มนุษย์เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ ทั้งด้านความคิด การเรียนรู้ การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุขหรือไม่ ล้วนมาจากการพัฒนาสมองส่วนนี้


ดังนั้นหากได้รับประสบการณ์ที่ดีเหมาะสม สมองส่วนหน้าจะเติบโตเร็วมากที่สุดในช่วงวัย 2-6 ปี และจะติดตัวไปทั้งชีวิต  แต่ถ้าช่วงปฐมวัยขาดโอกาส ขาดการรับประสบการณ์เข้ามากระตุ้นการทำงาน การเติบโตจะช้า และกลายเป็นต้นทุนที่ต่ำไปตลอดชีวิต  นี่คือเหตุผลที่ทำให้หลายฝ่ายกังวลการไม่ได้ไปโรงเรียนของเด็กปฐมวัย ขณะที่ผู้ปกครองหลายคนก็ไม่เข้าใจ ว่าจะช่วยพัฒนาสมองส่วนนี้ให้เหมาะสมได้อย่างไร เช่น การเร่งเรียน เขียนอ่าน จนเกิดความเครียด ก็จะส่งผลให้สมองหยุดการเจริญเติบโตได้ ตรงกันข้ามหากผู้ปกครองเข้าใจ และมีครูเป็นโค้ชที่ดี ก็จะช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้ได้ดีตามไปด้วย

กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก, ผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย)

“หยุดนานแค่ไหนไม่ใช่ระยะเวลาการปิดเทอม แต่ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ และสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ วิธีการเรียนแบบ Home School เด็กๆ ก็อาจจะไม่มีปัญหา ดังนั้น ผู้ปกครอง มีบทบาทสำคัญต้องเรียนรู้ และช่วยลูก ในช่วงที่กำลังปิดภาคเรียน โรงเรียนเองก็ต้องเป็น โค้ชที่ดีให้กับคนที่บ้านด้วย”



เสนอเร่งสอนชดเชยเปิดเทอม ฟื้นภาวะการเรียนรู้ถดถอย

สำหรับข้อเสนอจากทั้งนักการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เห็นสอดคล้องกันว่าหากพื้นที่ และโรงเรียนมีความพร้อมควรเปิดเรียนในระดับปฐมวัยโดยเร็วที่สุด โดยให้พิจารณาดังนี้

  • หากจำเป็นต้องเปิดเรียน และไม่ใช่พื้นที่สีแดง ให้โรงเรียนจัดกลุ่ม Bubble เพื่อให้ง่ายต่อการคุมระบาด เพราะต้องไม่ลืมว่าเด็กวัยนี้ต้องมีความใกล้ชิด เล่น กอด สัมผัสกันอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นหากมีความเสี่ยงจะได้ควบคุมการระบาดได้ง่าย

  • โรงเรียนในพื้นที่สีแดง ที่ยังคงปิดอยู่ และเด็ก ๆ มักเจอกับปัญหาเรียนออนไลน์ ผู้ปกครองจึงควรใช้การเรียนออนไลน์ เป็นเพียงตัวช่วยการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย เช่น ใช้เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับครูและเพื่อนในช่วงปิดภาคเรียน ใช้เพื่อจุดประกายให้เด็กคิดต่อยอดเองที่บ้าน โดยนำอุปกรณ์ที่มีในบ้านมาปรับใช้กับการเล่นของลูก เช่น ลังกระดาษ ฯลฯ โดยมีครูคอยแนะนำ หรือเป็นโค้ช จนกว่าจะเปิดเทอม พร้อมเน้นย้ำการใช้เทคโนโลยีออนไลน์กับเด็กเล็กอย่างเหมาะสมใน 3 ประเด็น คือ ใช้ดูให้น้อยและเน้นลงมือทำให้มาก, ใช้เพื่อการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของเด็กเท่านั้น และ ใช้สอนพ่อแม่ ผู้ปกครอง

  • พิจารณาเปิดภาคเรียนตามความเหมาะสม อย่างโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่เสี่ยงน้อยแต่เพาะเหตุใดจึงยังปิดเรียนอยู่ ดังนั้นการประเมินความเสี่ยงถือเป็นเรื่องสำคัญ พื้นที่ชุมชนเมืองแม้มีความซ้ำซ้อน แต่ก็จำเป็นต้องเปิดเรียนให้เร็วที่สุดโดยเฉพาะระดับชั้นเล็ก ๆ

  • ให้ท้องถิ่นตัดสินใจการเปิดเรียนอย่าให้ส่วนกลางสั่งแบบหน้ากระดาน คือ สั่งการลงมาด้วยจดหมายฉบับเดียว แต่ต้องปิดเรียนทั้งหมดโดยไม่ได้พิจารณาถึงความเสี่ยงในมิติอื่น ๆ ท้องถิ่นจึงน่าจะมีบทบาทสำคัญเพื่อช่วย ประเมินความเสี่ยง

  • ต้องยอมรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากความถดถอยของทักษะ การเรียนรู้ของเด็ก หากกลับมาเปิดเรียนได้ สิ่งที่ต้องเร่งทำคือชดเชยเวลาที่เด็กสูญเสียไปให้มากที่สุด

“ด้วยสถานการณ์ที่บางพื้นที่ การระบาดยังพุ่งสูง เหตุผลของการปิดเรียนจึงเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ต้องยอมรับในความถดถอยด้านทักษะการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย ดังนั้นเมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจนกลับมาเปิดเรียนได้แล้ว ครู และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้ จึงจำเป็นต้องเสียสละเพื่อเร่งสอนชดเชย โรงเรียนไหนปิดเรียนยาว ก็ไม่ต้องปิดเทอม เพื่อให้นักเรียนได้ชดเชยเวลาการเรียนรู้ที่เสียไปให้ครบถ้วนที่สุด ที่สำคัญคือจะชดเชยกันกี่วันก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบ โดยที่ครู ผู้คนในชุมชน ก็ควรได้รับวัคซีนให้ครบถ้วนเพื่อสร้างความมั่นใจด้วย”



คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย ม.หอการค้าไทย บอกด้วยว่า ในวันที่ 11 มิ.ย.นี้ คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย ม.หอการค้าไทย ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จะร่วมกันเปิดเผยการวิเคราะห์ข้อมูลระดับความพร้อมของเด็กปฐมวัย ซึ่งถือเป็นข้อมูลอีกชุดล่าสุดเพื่อสะท้อนภาพผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นกับเด็กเยาวชน พร้อมข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อร่วมกันหาทางออกด้านวิกฤตการเรียนรู้ของเด็กไทย ภายใต้ข้อจำกัดการระบาด



  

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน