นักการศึกษา ค้าน “ตรีนุช” จัดติวเตอร์-วิทยากรดัง “อบรมครู” เตรียมพร้อมก่อนเปิดเทอม

เชื่อตั้งโจทย์ผิด สะท้อนแนวคิดการศึกษาถอยหลัง 100 ปี แนะ 3 ข้อเสนอ เปิดโอกาสครูแชร์ประสบการณ์ ปรับการเรียนรู้ฝ่าวิกฤต ให้อิสระเด็กได้พักสมอง ประสานสถาบันผลิตครู สนับสนุนจัดการเรียนรู้ช่วยครูในระบบ  


กรณีกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมจัด อบรมออนไลน์เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับครู บุคลากรทางการศึกษา  “สร้างทางเลือกการศึกษา ก่อนเปิดภาคเรียน ฝ่าวิกฤตโควิด-19” ระหว่างวันที่ 12 – 28 พ.ค.นี้ โดยมีวิทยากร ติวเตอร์ชื่อดัง ร่วมสร้างแรงบันดาลใจ สร้างแนวทางการเรียนรู้ก่อนเปิดเทอมนั้น

วันนี้ (10 พ.ค.64) ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมแท็กชื่อ “ตรีนุช เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งข้อสังเกตต่อการจัดโปรแกรมอบรมครูทั่วประเทศดังกล่าว โดยระบุถึงวิธีการคัดเลือกวิทยากร ซึ่งระดมครูจากสถาบันกวดวิชา และเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมจากสถาบันเอกชน มาอบรมครูในระบบ ซึ่งจากการศึกษานโยบายพัฒนาครูในหลายประเทศตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ไม่พบว่ามีประเทศใดใช้แนวทางนี้

“ธรรมชาติของงานที่ติวเตอร์ทำ กับครู​เต็มเวลาในโรงเรียนทำ​ต่างกันมาก​ การดึงพวกเขามาไม่ใช่ความผิดพวกเขาเลย​ แต่มันสะท้อน ว่า การกำหนดนโยบายยังขาดความเข้าใจเรื่องการศึกษา​ และไม่ได้กำหนดนโยบายบนฐานปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม ปฏิรูปนิยม​ และมนุษยนิยมใหม่​ อันเป็นหัวใจของการศึกษากระแสหลักที่มีคุณภาพทั่วโลก​ รวมทั้ง​ระบุ อยู่ใน พ.ร.บ.การศึกษาฉบับปัจจุบัน กิจกรรมตามนโยบายนี้ สะท้อนชุดความคิดที่ยังติดอยู่ในโลกของการศึกษา​ 100 ปีที่แล้ว​ ที่คิดว่าต้องหาวิธีถ่ายทอด​อธิบาย​ วิเคราะห์ให้ฟัง​ มองงานสอนเป็นงานเชิงเทคนิค วิธีการมากกว่าการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน”




ผศ.อรรถพล ยังอธิบายถึงแนวทางพัฒนาครูประจำการ  (In-service Teacher Development)​ ในระดับนานาชาติ ที่เน้นการสร้างความแข็งแกร่งของชุมชนเรียนรู้ของครู ​(TLC : Teacher​ Learning​ Community)​ ใช้การสืบสอบ​ (Inquiry)​ การวิจัยชั้นเรียน​ (Classroom​Research)​ การศึกษาบทเรียน (Lesson​ Study)​ ทำให้ครูเป็นนักปฏิบัติที่ชำนาญขึ้นจากการไตร่ตรองสะท้อนคิด​ (Reflective Practitioner) และทำให้โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้​ (SLC​: School​ as Leaning Community​)​ ที่มีชีวิตชีวาสำหรับทุกคน การอบรมแบบฟัง​อย่างเดียวให้ได้ชุดความรู้  (Input) แบบนี้ หลายประเทศยกเลิกไปนานแล้ว จะใช้เฉพาะวาระรับฟังนโยบายบางอย่างที่สำคัญมาก​ ๆ​ หรือเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องระดับนานาชาติมาคุย

“ในลิสต์รายชื่อวิทยากรที่มี​ ผมเชื่อว่าสำหรับครูไทยที่เก่ง​ ๆ​ ใฝ่รู้​ รักดี ก้าวข้ามกำแพงภาษาพอได้​ เห็นเข้าคงส่ายหัว​ ครูเก่ง​ ๆ​ ของเราเป็นวิทยากรอบรมระดับประเทศกันหลายคน​ พวกเขาน่าจะทำหน้าที่นี้ในการสื่อสาร​ แชร์ประสบการณ์จากห้องเรียนจริง​ ๆ​ สร้างแรงบันดาลใจ​ และพูดจาภาษาห้องเรียนเช่นเดียวกับเพื่อนครูได้มากกว่า”



ผศ.อรรถพล  ให้ความเห็นอีกว่า ปรากฎการณ์นี้ยังสะท้อนเรื่องใหญ่​ที่สำคัญในการพัฒนา ครู​ คือการขาดการเชื่อมต่อยึดโยง​ กับสถาบันเตรียมครู อย่างคณะครุศาสตร์​-ศึกษาศาสตร์​ ซึ่งเป็นปัญหาทั้ง​ 2 ฝั่ง​ คือกระทรวงศึกษาธิการมองไม่เห็นคุณค่า​ ไม่ศรัทธา เชื่อมั่น​ มองไม่เห็นทั้งความพร้อม​ที่มีอยู่​ และการเปิดให้สาธารณะเข้าถึงได้​ จากสถาบันครุศึกษาในระดับสถาบัน​


ในอีกมุมหนึ่ง​ สถาบันครุศาสตร์ศึกษาต่าง ๆ ก็ทำตัวห่างเหิน​ ไม่แสดงภาวะผู้นำทางการศึกษา​ ไม่กระตือรือร้นมากพอที่จะร่วมรับผิดรับชอบ​กับสถานการณ์ปัญหาทางการศึกษา ลอยตัวจากความล้มเหลวของระบบ​มาอย่างยืดเยื้อเรื้อรังยาวนาน



ขณะที่ในปัจจุบันมีกลไกสภาคณบดีครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ฯ​ และที่ประชุมคณบดีครุศาสตร์ฯ​ กลุ่ม 16+1 และกลุ่ม​มหาวิทยาลัย​ราชภัฏ​อยู่​ แม้กระทรวงศึกษาธิการ จะไม่ได้มีอำนาจสั่งการโดยตรง แต่ก้ควรทำงานร่วมกันใกล้ชิ​ดกับสถาบันเตรียมครูพัฒนาครู​ อย่างคณะครุศาสตร์ ศึกษา​ศาสตร์ ซึ่งสถาบันการศึกษาก็ต้องหารือกับ​ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม​ (อว.​) ให้จัดแพลตฟอร์มหารือกัน


“เปรียบเทียบโดยง่าย​ กำลังเจอโจทย์ยากทางการแพทย์​ เช่น​ ​โรคระบาด​ ไม่มีประเทศใดจะกะเกณฑ์หมอ​ พยาบาล​ มานั่งฟังบรรยายจากนักเทคนิคการแพทย์​ หรือตัวแทนจำหน่ายยา ซึ่งทำหน้าที่ในฟังค์ชั่นอื่น มาอธิบายแนะนำ​ เครื่องมือ​ และ​ สินค้า แต่เขาจะสนับสนุนให้ระบบผู้ให้คำปรึกษา (Consultation)​ ระหว่างหมอและพยาบาลด้วยกันเข้มแข็ง​ ใช้ข้อมูลจากงานวิจัยและข้อมูลที่อัพเดตที่สุดให้คนทำงานภาคสนาม ผมหาได้กล่าวโทษ​ หรือดูแคลนวิทยากรทุกท่านในลิสต์​ พวกเขาแค่ถูกเชิญ​ และเป็นการเลือกกำหนดโจทย์ที่ผิดจากผู้กำหนดนโยบาย”


ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 


3 ข้อเสนอ ถึง รมว.ศธ. เตรียมพร้อม “ครู-นักเรียน” ก่อนเปิดเทอม

ก่อนเปิดเทอม 1 มิ.ย.นี้ ผศ.อรรถพล จึงเสนอให้ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ พยายามหาช่องทางรับฟังและสื่อสารกับครูในระบบที่เป็นคนอยู่หน้างานจริง และฟังเสียงผู้เรียนให้มากขึ้น ก่อนกำหนดแผนการทำงานบนหลักวิชา ความรู้​ และงานวิจัย โดยมีข้อเสนอ 3 ข้อ​ ก่อนถึงวันเปิดเทอม


1. สนับสนุนให้ทุกโรงเรียนจัดประชุมออนไลน์ ถอดบทเรียนการทำงานในรอบปีที่ผ่านมา​ ซึ่งครูทุกคนมีประสบการณ์ตรง และลงมือแก้ปัญหามาแล้ว​ จึงควรแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันเองกับครูที่ดูแลนักเรียนในบริบทเดียวกัน​ ให้เวลาครูได้คุย หารือ​ ได้พัก​ ได้เตรียมตัวสอน จะดีกว่าบังคับให้เปิดหน้าจอเช็คชื่ออบรมออนไลน์

2. ให้เด็ก​ ๆ​ ได้พัก​ ได้เล่นสนุกตามใจก่อนเปิดเทอม หรือ ให้โรงเรียนประสานงานกับเด็กล่วงหน้าว่าไม่มีงาน​ ไม่มีการบ้าน​ ให้เล่นเต็มที่​ แต่ฝากให้เขียนสั้น ๆ หรือวาดอะไร​ เตรียมมาเล่าให้เพื่อนและครูฟังในวันแรกที่ได้เปิดเทอม

3. หารือด่วนกับ​ อว.​ และเครือข่ายสถาบันครุศึกษา​ เชิญชวนผู้นำองค์กรของกลุ่มมหาวิทยาลัยที่มีคณะครุศาสตร์ ​ศึกษา​ศาสตร์​ หารือ​ ร่วมกันแบ่งพื้นที่ดูแลสนับสนุนงานของครู ในช่วงต้นของการเปิดเทอม อาจทำในรูปแบบออนไลน์แพลตฟอร์ม​ ให้เรียนรู้สนับสนุนยึดโยงกันระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัย โดยอาจเริ่มจากมหาวิทยาลัยที่ส่งนิสิต นักศึกษาลงฝึกสอน​ ต้องร่วมสนับสนุนงานโรงเรียนนั้น​ และโรงเรียนใดที่ไม่ใช่พื้นที่ฝึกงาน ก็ควร​จัดโซนพื้นที่​ ระดมพลังช่วยสนับสนุนกันทั้งหมด

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม