พบผู้ป่วยโควิด-19 ซึมเศร้ารุนแรงหลังรักษา

รพ.สนามธรรมศาสตร์ ยืนยัน ยังไม่พบผู้ที่รักษาหายแล้ว กลับไปแพร่เชื้อ วอนชุมชนเข้าใจ ช่วยเหลือ เวลานี้ทุกคนมีสิทธิเป็นผู้ติดเชื้อได้เสมอ

แม้จะมีหน้าที่ในการลดภาระจากโรงพยาบาลหลัก รักษา ดูแลอาการผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อาการไม่รุนแรงมากจนสามารถกลับบ้านได้ แต่จากจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสนามธรรมศาสต์กว่า 400 คน ในเวลานี้ สิ่งที่ตรวจคัดกรองพบเพิ่มเติม คือภาวะทางจิตใจเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 20 

 ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์

The Active พูดคุยกับ ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ที่เวลานี้ต้องเพิ่มบุคลากร ดูแลผู้เข้าพักฟื้นทั้งด้านกาย ใจ สังคม ซึ่งทุกคนจะต้องถูกประเมินทางด้านจิตเวช โดยจิตแพทย์ ก่อนกลับบ้าน โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า ที่เพิ่มขึ้นกว่าการระบาด 2 ระลอกที่ผ่านมา จนถึงขั้นรุนแรงในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของการกักตัว 

ผศ.นพ.ฉัตรชัย ระบุว่า ที่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ มีจิตแพทย์คอยดูแล รักษา จ่ายยา รวมถึงการทำจิตบำบัดแบบกลุ่ม เพื่อจะทำให้ผู้พักฟื้นเกิดความผ่อนคลายสบายใจขึ้น รวมถึงมีทีมดูแลเมื่อกลับบ้าน เพราะหลายคนไม่รู้ว่ากลับบ้านไปจะอยู่อย่างไร สังคมจะรังเกียจหรือไม่ ที่ทำงานจะว่าอย่างไร จะมีนักสังคมสงเคราะห์คอยดูแล และประเมินในการส่งต่อกลับบ้าน

เราเคยคิดว่าระลอกนี้น่าจะไม่มีปัญหาเรื่องชุมชนต่อต้านคนไข้ เพราะผ่านมาถึงสองระลอกแล้ว แต่ความเป็นจริงก็คือยังมีหลายๆ คอนโดฯ หลายๆ ชุมชน ที่ไม่ต้อนรับผู้ที่ผ่านการรักษาแม้ร่างกายจะปลอดเชื้อแล้ว ส่วนหนึ่งอาจมาจากข่าวที่ทำให้สังคมเริ่มตระหนักในรอบนี้ว่า ติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรง กลัวเรื่องเชื้อลงปอด และมีผู้เสียชีวิต

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ยังฝากถึงประชาชนว่า ในรายของผู้พักฟื้นที่ออกจากที่นี่ ยังไม่พบแม้แต่รายเดียวที่แพร่กระเชื้อไปยังบุคคลอื่นต่อได้ แต่สาเหตุที่ต้องให้กลับไปกักตัวที่บ้านเพิ่มเติมอีก 28 วัน เพราะเวลานี้ยังไม่มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ยืนยันได้ว่าหายจากอาการแล้ว 100% แต่ก่อนที่จะออกจากโรงพยาบาลสนาม ทุกคนจะต้องได้รับความรู้ในเรื่องของการกักตัวมาแล้วอย่างเคร่งครัด และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้นสังคมไม่ควรที่จะรังเกียจเนื่องจากคนกลุ่มนี้คือผู้ป่วยที่ชุมชนต้องช่วยเหลือกัน เพราะสถานการณ์เวลานี้ทุกคนมีสิทธิเป็นผู้ติดเชื้อได้เสมอ และต้องการการยอมรับจากสังคมเช่นเดียวกัน 

สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ยังพบว่า การเลือกปฏิบัติและการตีตรา ส่งผลต่อการทำร้าย การรังแก การเลือกปฏิบัติกับผู้ที่ติดเชื้อ รวมถึงคนที่รักษาหายแล้ว อย่างที่ปรากฏในหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ หรือ สื่อสังคมออนไลน์ เช่น กรณี ขับไล่คนออกจากคอนโดฯ การขับไล่คนออกจากหมู่บ้าน ซึ่งพบในทุกระดับของสังคม

สิ่งสำคัญในการไม่ตีตราและไม่เลือกปฏิบัติ คือ ข้อเท็จจริงและข้อมูลที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจร่วมกัน ว่าแม้โควิด-19 จะเป็นโรคที่ดูรุนแรง เป็นโรคเกิดใหม่ที่ทุกคนกังวล แต่โควิด-19 ไม่ใช่โรคเรื้อรัง ฉะนั้นเมื่อหายแล้วก็คือหายแล้ว สามารถที่จะใช้ชีวิตได้ เช่นเดียวกับคนเป็นไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ ยิ่งชุมชนตีตรา เลือกปฏิบัติ และรังเกียจ คนจะยิ่งปกปิดข้อมูล ชุมชนก็จะยิ่งเสี่ยงมากขึ้น  

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน