นายกฯ สั่งหาวัคซีนเพิ่ม 10-15 ล้านโดส

อนุทิน เตรียมเปิดใช้อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติเป็น “ศูนย์แรกรับและส่งต่อ” กทม.เพิ่มศักยภาพระบบคัดกรองผู้ป่วย ก่อนแยกส่งตามอาการ

นายกฯ สั่งหาวัคซีนเพิ่ม 10-15 ล้านโดส

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โพสเฟซบุ๊กเมื่อช่วงเที่ยงวันนี้ (26 เม.ย.2564) ระบุว่า ได้จัดประชุมหารือกับทีมที่ปรึกษาเรื่องการยกระดับการกระจายวัคซีนเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนสูงสุด เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายผลักดันให้มีการจัดหาวัคซีนให้ได้เพิ่มมากขึ้นในทุกวิถีทาง จำนวน 10-15 ล้านโดสต่อเดือนจากวัคซีนที่มีความหลากหลายในปัจจุบัน โดยรัฐและเอกชนจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด

ให้มีโครงสร้างที่จัดกลุ่ม แบ่งงาน ผสมผสานการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้ชัดเจน โดยต้องให้มีการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง ผลักดันแนวหน้าในการฉีดวัคซีนให้เป็นเชิงรุก รวมทั้งการจัดให้มีศูนย์ฉีดวัคซีนทางเลือกโดยใช้สถานที่ที่เหมาะสม เช่น ศูนย์ประชุมฯ ศูนย์กีฬา โรงแรม โรงพยาบาลเอกชน เพื่อลดภารกิจของโรงพยาบาลหลักและสาธารณสุข ที่ต้องรองรับดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก โดยศูนย์ฉีดวัคซีนฯ จะดึงการมีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนทางเลือกในกลุ่มที่มีศักยภาพเพิ่มเติมจากของภาครัฐ

“เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการฉีดให้ได้ 300,000 โดสต่อวัน หรือมากกว่า และเป้าหมายฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้หรือเร็วกว่า”

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้มีการปรับปรุงการคัดกรอง และระบบการเข้ารับการรักษาพยาบาลให้มีช่องทาง และการขนส่งเคลื่อนย้าย ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เตรียมใช้อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติเป็น “ศูนย์แรกรับและส่งต่อ”

อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมเปิด “ศูนย์แรกรับและส่งต่อ” นำผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างรอเตียงมาดูแลด้วยทีมแพทย์และพยาบาลแห่งแรก โดยจะใช้อาคารกีฬานิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ ในการจัดตั้งศูนย์แรกรับ จำนวน 300 เตียง คาดว่าจะเปิดได้ใน 2-3 วันนี้ ระหว่างนี้จะเร่งทำความสะอาด จัดระบบวงจรปิด และจัดระบบเชื่อมโยงกับระบบส่งต่อของ กทม. และโรงพยาบาลต่างๆ ถือเป็นการการสนับสนุนและแบ่งเบาภาระของ กทม.ในการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ที่ยังอยู่กับบ้าน ให้เข้าถึงการดูแลในมือแพทย์โดยเร็วที่สุด

ศูนย์แห่งนี้ยังจะทำหน้าที่ส่งผู้ติดเชื้อไปโรงพยาบาลในสังกัดในเขตปริมณฑลกรณีเตียงใน กทม.เต็ม และในอนาคตอาจถูกปรับเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 อีกด้วย

กทม. เพิ่มศักยภาพระบบคัดกรองผู้ป่วย ก่อนแยกส่งตามอาการ

กรุงเทพมหานคร (กทม.) เร่งเพิ่มศักยภาพศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร สายด่วน 1669 (ศูนย์เอราวัณ) สำนักการแพทย์ กทม. ในการคัดกรองผู้ติดเชื้อ เนื่องจากการสอบถามข้อมูลและการคัดกรองอาการผู้ติดเชื้อทางโทรศัพท์อาจจะคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งจะทำให้การนำผู้ติดเชื้อส่งโรงพยาบาลไม่ตรงกับระดับความรุนแรงของอาการป่วยโรคโควิด-19 ที่จำแนกความรุนแรงเป็น สีเขียว สีเหลือง สีแดง

โดยศูนย์เอราวัณจะนำผู้ติดเชื้อที่รอเข้าสู่ระบบรักษาไปทำการคัดกรองที่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน และโรงพยาบาลสิรินทร เพื่อทำการคัดแยกว่าเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระดับใด จากนั้นจะนำส่งโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามต่อไป

ก่อนหน้านี้ ศูนย์เอราวัณได้เพิ่มประสิทธิภาพการรับโทรศัพท์ โดยจัดเจ้าหน้าที่ผลัดดึกมาช่วยปฏิบัติงานในช่วงผลัดเช้า ระหว่างเวลา 08.00-16.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีปริมาณการโทรเข้ามาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีการประสานสำนักเทศกิจและสำนักงานเขต 50 เขต จัดรถสำหรับรับ-ส่งผู้ติดเชื้อ เพื่อเป็นกำลังสนับสนุนการปฏิบัติงานของรถพยาบาลศูนย์เอราวัณ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนของรถทหารอีก 8 คัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว