“นพ.โสภณ” ปรับกลุ่มเป้าหมายรับวัคซีน เล็งฉีดครู-ผู้ค้าตลาดสด

ชี้ ผลข้างเคียงไม่ได้เกิดจาก “ตัววัคซีน” แต่เกิดจาก “การฉีดวัคซีน” ระบุ เป้ากระจายวัคซีน 70% ของประชากรสิ้นปี 64 ขึ้นกับความต้องการฉีดของประชาชน ปี 65 อยากเห็นคนไทย “เดินถอดหน้ากากอนามัยได้อย่างอิสราเอล”

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2564 นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เปิดเผยผ่านรายการ Active Talk ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นทำสถิติใหม่ในรอบ 2 วันที่ผ่านมา สังเกตได้ว่ายังระบาดมาจากกิจกรรมที่เป็น Super spreading Event เช่น โต๊ะสนุ๊ก การสังสรรค์ และการติดเชื้อภายในองค์กร รวมถึงคนใกล้ชิดที่ติดเชื้อจากการระบาดก่อนช่วงสงกรานต์

มาตรการทางสาธารณสุขในขณะนี้คือต้องตรวจจับและแยกผู้ติดเชื้อออกมาอยู่ในโรงพยาบาลสนามและฮอสพิเทลที่จัดไว้ให้เร็วที่สุด โดยช่วงเวลาที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในเวลานี้ กรมควบคุมโรคถือเป็นพีคสุด และหลังจากนี้คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลง สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่เพื่อรับมือกับสถานการณ์คือการขยายเตียง การเพิ่ม ICU รวม แต่ปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือบุคลากรทางการแพทย์ ที่ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ จำเป็นต้องเอาบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลอื่นที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อมาช่วยเหลือพื้นที่ที่มีการติดเชื้อการระบาดหนัก

“สถานการณ์ปัจจุบันเรื่องเตียงที่มีไม่เพียงพอรัฐบาลคงมองว่าจะต้องมีการออกมาตรการอะไรที่เข้มงวดมากขึ้นหรือไม่ การ work from home ต้องทำอย่างจริงจัง ถ้าเตียงไม่พออาจจะได้เห็นการให้กักตัวอยู่ที่บ้านหรือ Home isolation ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่ที่สำคัญก็คืออย่าป่วยดีกว่าเพราะระบบสาธารณสุขตอนนี้จะรับไม่ไหวแล้ว”

ขอประชาชนมั่นใจ ผลข้างเคียงไม่ได้เกิดจาก “ตัววัคซีน”

ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค แล้วเกิดผลข้างเคียงกับบุคลากรทางการแพทย์ ในล็อตเดียวกัน 3 โรงพยาบาล​ นายแพทย์โสภณ​ กล่าวว่า ตรวจสอบดูแล้วก็พบว่าอาการคล้าย ๆ กับการฉีดวัคซีนปากมดลูกให้กับเด็กนักเรียนหญิงชั้น ม.5 ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกยอมรับได้ สำหรับวัคซีนจากซิโนแวค ที่นำเข้ามาก็มีการตรวจสอบแล้วจากกรมวิทยาศาสตร์ ไม่พบความผิดปกติ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดพบผลข้างเคียงคาดว่า อาจกินยาบางชนิดมาก่อนหน้านี้ หรือเพิ่งออกจากการอยู่เวร ทำให้ร่างกายอ่อนแรง

“เรามั่นใจว่าไม่เกี่ยวกับวัคซีน เป็นเรื่องของการฉีดมากกว่าคือทำร่างกายให้พร้อม และความกังวล กลัวฉีดแล้วจะเป็นอะไรไหมก็ ทำให้เกิดความเครียด และยังยืนยันจะเดินหน้าฉีดต่อไป ไม่หยุดฉีดอย่างแน่นนอน”

ถอดบทเรียนระบาดรอบ 3 ปรับกลุ่มเป้าหมายรับวัคซีน

นายแพทย์โสภณ ระบุต่อว่า การฉีดวัคซีนเกิดประโยชน์มากกว่า ดังนั้น แผนการกระจายวัคซีนวันนี้มีการกระจายในภาพรวมครบ 1 ล้านโดสทั่วประเทศ เดิมจะกระจายให้บุคลากรการแพทย์ 40 ต่อกลุ่มเสี่ยง 40 แต่หลังการระบาด วัคซีนล็อต 1 ล้านโดส ที่มาถึงวันที่ 24 เมษายนนี้จะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ 60% เพื่อปูพรมฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ให้ครบ 100% สิ้นเดือนนี้

สอดคล้องกับเป้าหมายการฉีดวัคซีนตอนนี้คือ 1. เพื่อรักษาระบบสาธารณสุขให้สามารถเดินต่อไปได้ มีบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาไม่ติดเชื้อเพิ่ม 2. ลดอัตราการป่วย การตาย การเข้าห้องไอซียู และ 3. การขับเคลื่อนพื้นที่เศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์อย่างเช่น เดิมจังหวัดภูเก็ตที่จะมีการเทวัคซีนลงไปถึง 500,000 โดส ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างจัดสรรแต่พยายามจะทำให้เป็นไปตามแผน โดยต้องยอมรับว่าแผนกระจายวัคซีนปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์

ช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม วัคซีนแอสตราเซเนกา จำนวน 16 ล้านโดส จะปูพรมฉีดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ขณะเดียวกันก็มองไปที่ กลุ่มเป้าหมายเฉพาะอื่น ๆ พิจารณาจากบทเรียนการระบาด เช่น อสม. ซึ่งเป็นด่านหน้าและอาชีพครู ที่กลายเป็นคลัสเตอร์ของการระบาดในโรงเรียน รวมถึงแม่ค้าพ่อค้าในตลาดสด และอีกกลุ่ม คือกลุ่มพื้นที่เฉพาะ เพื่อสอดรับกับนโยบายวัคซีนพาสปอร์ต ที่ยังคงเดินหน้าดำเนินการตามแผนที่ตั้งเป้าว่าจะเปิดประเทศในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ อาจจะต้องพิจารณาเป็นรายพื้นที่ไป ยกตัวอย่าง เช่น ภูเก็ต สมุย หรือ เชียงใหม่ หากมีการฉีดวัคซีนครบก็สามารถเปิดประเทศเฉพาะพื้นที่ตรงนั้นได้ สำคัญที่สุดก่อนรับนักท่องเที่ยวที่แม้จะฉีดวัคซีนแล้ว คือต้องทำให้คนในพื้นที่ปลอดภัยด้วยการได้ฉีดวัคซีนแล้วเช่นกัน

รพ.เอกชน ต้องฉีดวัคซีนต่างยี่ห้อกับรัฐที่ฉีดประชาชน​ฟรี

ข้อท้าทายในการกระจายวัคซีน นายแพทย์โสภณ มองเป็น 3 มิติ คือ 1. ความต้องการของประชาชน 2. จำนวนวัคซีนมีพอในการฉีด และ 3. ศักยภาพในการฉีด โดยความต้องการของประชาชนต้องยอมรับว่าหลังมีข่าวเกิดผลข้างเคียงพบผลสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนของประชาชนลดลง ในขณะที่ถามว่าวัคซีนมีพอหรือไม่ ตอนนี้มีแผนจัดหาเพิ่มในจำนวนถึงร้อยล้านโดสก็นับว่ามีเพียงพอแล้ว ส่วนศักยภาพในการฉีดไม่เป็นที่กังวล เนื่องจากหากพิจารณาจำนวนโรงพยาบาลที่มีอยู่กว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศ แต่ละโรงพยาบาลเฉลี่ยฉีดวันละ 300 โดส ก็จะครบ 3.3 แสนโดส ต่อวันเป็นไปตามแผนวัคซีนต่อเดือนที่ได้ 10 ล้านโดส ยังไม่นับรวม รพ.สต. ที่อาจเป็นหน่วยฉีดวัคซีนได้อีกด้วย

“ปี 2565 อยากเห็นคนไทยเดินถอดแมสออกได้อย่างประเทศอิสราเอล ที่สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้สำเร็จ”

นอกจากนี้ หอการค้าระบุว่าจะจัดซื้อ 5-10 ล้านโดสเพื่อฉีดให้กับลูกจ้างพนักงานในสถานประกอบการอีก ทั้งนี้ ปัจจุบันมีวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. ไทยแล้ว 3 บริษัท คือ ซิโนแวค แอสตราเซเนกา และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ส่วนบริษัทไฟเซอร์ และ สปุตนิก วี ที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าเจรจาสำเร็จ อยู่ระหว่างขึ้นทะเบียน อย. ทุกฝ่ายก็กำลังเร่งทำอย่างเต็มที่

ในส่วนของการจัดสรรวัคซีนที่ตอนนี้แบ่งเป็น 3 ภาคส่วนคือ 1. รัฐจัดหาแล้วฉีดให้ฟรี 2. หอการค้าจัดหาให้เพื่อที่จะฉีดให้กับพนักงานของตนเอง และ 3. โรงพยาบาลเอกชน จะเรียกเก็บค่าฉีดวัคซีน ก็คงต้องเป็นคนละยี่ห้อกับที่รัฐจัดหาให้ฟรี

“ส่วนกรณีว่ารัฐจัดหาวัคซีนช้าเกินไปหรือไม่นั้น เรื่องนี้พูดยากและเห็นใจคนตัดสินใจในตอนนั้น แต่มาถึงวันนี้ต้องเดินหน้าต่อ อยากตั้งเป้าฉีดให้เกิดภูมิคุ้มกันเร็วที่สุด โดยตอนนี้ภาคเอกชนที่เข้ามาช่วยแบ่งกลุ่มฉีดวัคซีน เอกชนฉีดลูกจ้างประชาชนที่อายุ 20 – 40 ปี ซึ่งตอนนี้เป็นกลุ่มที่มีอาการที่เป็นผู้ติดเชื้อมากที่สุด ส่วนรัฐก็จะได้ฉีดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มเสี่ยงโรคประจำตัว อยากให้ช่วยไปพร้อมกันทั้ง 2 ทางแบบนี้”

หวังวัคซีนสร้างภูมิในร่างกายนาน 1 ปี

ส่วนเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ว่าจะอยู่นานเท่าไร นายแพทย์โสภณ บอกว่ายังไม่มีผลสำรวจออกมา แต่คาดว่าน่าจะอยู่ได้ 1 ปี ดูตัวอย่างการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เข็มแรกสามารถกระตุ้นภูมิขึ้นไปได้ถึง 76% ในเดือนมิถุนายนไปจนถึงกันยายน คาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมมากที่สุดครอบคลุมถึง 40 ล้านคน ก็จะได้เห็นภาพว่าจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อก็จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด

“ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าวัคซีนแต่ละตัวสร้างภูมิคุ้มกันอยู่ในร่างกายได้นานเท่าใด กรณีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฉีดวัคซีนเข็มแรกของซิโนแวค ไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์และฉีดเข็ม 2 กลางเดือนมีนาคมผ่านไป 6 เดือน ก็คงจะต้องเจาะเลือดเพื่อตรวจภูมิคุ้มกันอีกครั้ง เป็นการศึกษาไปพร้อมกัน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS