ประกันตัว 4 คน คดี 112 รวม “ไผ่ – สมยศ” ศาล ยื่นเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมให้สถาบันฯ เสื่อมเสีย

เลขาฯ ศาลยุติธรรม แจง ศาลยุติธรรมให้ความสำคัญกับสิทธิปล่อยชั่วคราว แต่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างสิทธิของจำเลย กับความสงบเรียบร้อย

วันนี้ (23 เม.ย. 2564) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลอาญา รัชดามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน และสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร

โดยศาลพิเคราะห์ว่า กรณีนี้ไม่มีเหตุผลเพียงพอว่าจะเป็นเหตุไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 จึงให้ประกันตัวในวงเงิน 2 แสนบาท กำหนดเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย และห้ามออกนอกประเทศ

ทั้งนี้ ไผ่ ได้ถูกขังในระหว่างพิจารณาคดีเป็นเวลา 46 วัน (1 เดือน 15 วัน) และ สมยศ ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีมาเป็นเวลา 73 วัน (2 เดือน 12 วัน)

นอกจากนี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ยังมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาคดีปาระเบิดสามย่านมิตรทาวน์ #ม็อบ16กุมภา หลังผู้รับมอบฉันทะนายประกันวางหลักทรัพย์จำนวน 4 แสนบาทเป็นหลักประกันสำหรับผู้ต้องหาแต่ละคน โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

และ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว “พรพิมล” ในคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊ก หลังทนายความยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวเมื่อช่วงเช้า โดยให้วางหลักทรัพย์ 150,000 บาท ขณะนี้กำลังทำเอกสารขอประกันตัวที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่

ส่วนที่ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ก็มีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน “พรชัย” ชาวปกาเกอะญอ วัย 37 ปี ซึ่งถูกขังตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 2564 คดี ม.112 หลังศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวตั้งแต่เมื่อวานนี้ (22 เม.ย.) โดยยื่นหลักทรัพย์ 150,000 บาท จากกองทุนดาตอร์ปิโด โดย พรชัย จะถูกปล่อยจากเรือนจำกลางเชียงใหม่ในช่วงค่ำวันนี้ (23 เม.ย.) หลังถูกคุมตัวมาทั้งหมด 44 วัน

เลขาฯ ศาลแจง ศาลยุติธรรมให้ความสำคัญกับสิทธิในการปล่อยชั่วคราวของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา

ขณะที่ สำนักงานศาลยุติธรรม เผยแพร่ข่าว พงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งคำถามต่อการพิจารณาและมีคำสั่งของศาลยุติธรรมในการร้องขอปล่อยชั่วคราวในคดีอาญาในคดีบางคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลยุติธรรมว่า ศาลยุติธรรมให้ความสำคัญกับสิทธิในการปล่อยชั่วคราวของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาตลอดมาว่าเป็นสิทธิประการหนึ่งของผู้ต้องหาในคดีอาญา

“ท่านประธานศาลฎีกาเองก็ให้นโยบายที่เน้นย้ำถึงการลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นในทุกขั้นตอน แต่การพิจารณาและมีคำสั่งศาล จำเป็นต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดประกอบกับพฤติการณ์และความจำเป็นในแต่ละคดีซึ่งย่อมมีความแตกต่างกัน”

โดยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 กำหนดให้ศาลอาจสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวหากปรากฎกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่ออันตรายประการอื่น หรือการปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนหรือการดำเนินคดี โดยเมื่อเจ้าพนักงานหรือศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวก็ต้องระบุเหตุผลโดยอ้างอิงไปยังเหตุตามกฎหมายด้วย

กรณีที่เกรงว่าจำเลยหรือผู้ต้องหาอาจก่ออันตรายประการอื่นนั้น กฎหมายมุ่งป้องกันมิให้จำเลยหรือผู้ต้องหาไปกระทำซ้ำในสิ่งที่ถูกฟ้องร้องหรือถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดหรือกระทำความผิดอย่างอื่น หากจำเลยหรือผู้ต้องหาคนใดมีพฤติการณ์หรือแนวโน้มที่จะกระทำเช่นนั้นและไม่มีมาตรการอื่นใดที่จะป้องกันได้ ศาลย่อมไม่อาจปล่อยชั่วคราวได้

“การที่กฎหมายกำหนดในลักษณะดังกล่าวเพื่อให้ศาลชั่งน้ำหนักระหว่างสิทธิของจำเลยกับความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของผู้เสียหาย ชุมชนและสังคมที่ต้องพิจารณาประกอบนอกเหนือจากสิทธิของจำเลย”

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวด้วยว่า หลักการกฎหมายและแนวปฏิบัติดังกล่าวสอดคล้องกับหลักการสากล นอกจากนี้ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 9 เองก็ได้กำหนดไว้ด้วยว่าอาจมีการควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างพิจารณาได้ เพียงแต่ไม่พึงใช้มาตรการดังกล่าวเป็นการทั่วไปเท่านั้น

ส่วนกรณีที่ในการควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาแม้จะทำให้จำเลยหรือผู้ต้องหาถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง แต่หาได้ทำให้ถึงขนาดขาดความสามารถในการต่อสู้คดีอย่างมีนัยสำคัญ เพราะตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ฯ จำเลยหรือผู้ต้องหามีสิทธิปรึกษาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดีแก่ทนายความของตนได้อย่างเต็มที่ และอาจปรึกษาเป็นการลับก็ได้หากมีความจำเป็นในการดำเนินคดี การสืบพยาน และซักถามพยานในกระบวนพิจารณาตามปกติ

“ทนายความซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความรู้โดยเฉพาะทางกฎหมาย สามารถช่วยเหลือและเป็นตัวแทนของจำเลยหรือผู้ต้องหาได้อยู่แล้ว หากมีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนแก่ทนายความ ทนายความย่อมดำเนินการต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อตระเตรียมคดีในการว่าต่างแก้ต่างให้แก่จำเลยได้เช่นเดียวกับแนวปฏิบัติในคดีทั่ว ๆ ไปอีกเป็นจำนวนมาก”

นอกจากนี้ หากผู้ขอปล่อยชั่วคราวไม่เห็นด้วยกับคำสั่งไม่อนุญาตของศาล ก็สามารถอุทธรณ์ไปยังศาลที่สูงกว่าได้ หรือสามารถยื่นขอปล่อยชั่วคราวใหม่ได้โดยมิได้จำกัดจำนวนครั้งของการยื่นคำร้อง ซึ่งทางปฏิบัติก็มีกรณีที่หากมีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงจากเดิม แล้วศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว แม้จะเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตก่อนหน้านั้นก็ตาม เพราะการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเป็นการใช้ดุลพินิจในกรอบของกฎหมาย ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อศาลจากในคำร้องหรือทางไต่สวน

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุด้วยว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีจำเลยหรือผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวรวม 237,875 คดี ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวถึง 217,904 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 91.26 ย่อมแสดงให้เห็นว่าการพิจารณาและมีคำสั่งของศาลยุติธรรมได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยเสมอมา และไม่ได้เป็นการพิจารณาและมีคำสั่งไปในทางใดทางหนึ่งด้วยเหตุอื่นอื่นใดนอกเหนือจากเหตุผลตามที่กฎหมายกำหนด

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว