Change.org กลับมาเปิดอีกครั้ง หลังถูกบล็อกนาน 6 เดือน

เผย พยายามต่อสู้ตามกฎหมายไทย จนศาลสั่งยกเลิกปิดกั้น โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ประกาศ จะรักษาพื้นที่ให้คนธรรมดารวมพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2564 เว็บไซต์ Change.org เปิดเผยว่าได้กลับมาเปิดใช้งานอีกครั้ง หลังถูกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) อาศัยอำนาจศาลบล็อกการเข้าถึงตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 2563 ด้วยเหตุผลว่า เว็บไซต์ดังกล่าวมีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และหรือเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทำให้ผู้ใช้งานในไทยไม่สามารถเข้าเว็บไซต์ได้ แม้คนจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกจะเข้า Change.org ได้ปกติก็ตาม

Change.org ระบุว่า หลังจากถูกบล็อกก็ได้พยายามต่อสู้ตามกระบวนการทางกฎหมายไทยเพื่อให้เว็บไซต์กลับมาเปิดได้อีกครั้ง และล่าสุด ศาลก็ได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการปิดกั้น Change.org เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญไทย

“เราขอใช้โอกาสนี้ยืนยันว่าแม้จะมีอุปสรรคมากมาย แต่เราก็ตั้งใจจะรักษาพื้นที่แห่งนี้ไว้ในประเทศไทย เพื่อช่วยให้คนธรรมดา ๆ (ที่ไม่ค่อยธรรมดา) สามารถรวมพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ต่อไป หลายคนคงรู้ดีว่าการจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนอะไรในสังคมไทยไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนลุกขึ้นมาแล้ว (โดนผลัก) ล้มลงไป แต่ก็ลุกขึ้นมาใหม่ อีกครั้งและอีกครั้ง”

ทั้งนี้ การปิดกั้นดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ในขณะนั้น กำลังจัดการต่อข้อมูลและเว็บไซต์ไม่เหมาะสมในช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมทั้งการขอให้ผู้ให้บริการมือถือทุกรายและไอเอสพี (อินเทอร์เน็ตบ้าน) ให้ความร่วมมือทำการลบ/ปิดกั้นข้อมูล และเนื้อหาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือสื่อสังคมออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย ทั้งในส่วนของการละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

สำหรับ เว็บไซต์ Change.org เปิดให้บริการในไทยมาแล้ว 8 ปี ปัจจุบันมีสมาชิกผู้ใช้งานเกือบ 5 ล้านคนในประเทศไทย และ 438 ล้านคนทั่วโลก Change.org เป็นพื้นที่ให้คนธรรมดาได้ร่วมเสนอทางออก โดยมีหลายกรณีที่มีการรณรงค์ผ่าน Change.org จนประสบความสำเร็จ เช่น การเรียกร้องให้การครอบครองสื่อลามกเด็กเป็นเรื่องผิดกฎหมาย, การรณรงค์ให้บริษัทเอกชนหยุดการเลือกปฏิบัติในการรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าทำงาน, การคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ปลดร่าง ‘ซีอุย’ ออกจากพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งการผลักดันให้สัตว์หายากใกล้สูญพันธ์อย่าง วาฬบรูด้าและนกชนหิน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าสงวน

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว