เลขา อย. ยัน ไม่ปิดกั้น เอกชน นำเข้าวัคซีน

แจง มีเพียง 4 ราย ที่ยื่นเอกสารครบถ้วน รออีก 10 รายมายื่นเอกสาร ย้ำ เอกชนทั้งนำเข้าและให้บริการฉีดวัคซีนได้ แต่ต้องขึ้นทะเบียนก่อน

นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงวันนี้ (8 เม.ย. 2564) ชี้แจงในประเด็นภาคเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนได้หรือไม่ และภาครัฐมีการปิดกั้นหรือไม่ โดยยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุข และ อย. ไม่ได้ปิดกั้น และยังเชิญชวนภาคเอกชน ทั้งโรงพยาบาลเอกชนและบริษัทต่าง ๆ สามารถที่จะนำเข้าวัคซีน และโรงพยาบาลเอกชนก็สามารถให้บริการฉีดวัคซีนได้ด้วย

โดยขณะนี้ อย. ได้อนุมัติขึ้นทะเบียนเอกชน 3 ราย รายแรก คือ วัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งขึ้นทะเบียนโดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด รายที่สอง คือ วัคซีนโคโรนาแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม และรายที่สาม คือ วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน นำเข้าโดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด

นายแพทย์ไพศาล กล่าวว่า ที่จริงมีบริษัทเอกชนที่ติดต่อขอนำเข้าและขึ้นทะเบียนทั้งหมด 14 ราย แต่ได้ขึ้นทะเบียนไปแล้วคือ 3 รายข้างต้น และอีก 1 รายเป็นวัคซีนจากอินเดียที่มายื่นเอกสารไว้ จึงอยากเชิญชวนอีก 10 รายให้มายื่นเอกสาร ซึ่งใน 10 รายนี้ก็ครอบคลุมวัคซีนเกือบทุกตัว

ส่วนขั้นตอนในการนำเข้านั้น อย. ได้มีการประชุมกับภาคเอกชนไปแล้ว 2 ครั้ง และได้อธิบายขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเพื่อรับอนุญาตเป็นผู้นำเข้า โดยบริษัทที่นำเข้านั้น จะต้องเป็นผู้รับอนุญาตนำเข้าก่อน ซึ่งจะต้องมีสถานที่เก็บยาและเภสัชกรที่ปฏิบัติการ

ต่อจากนั้นเป็นเรื่องการขึ้นทะเบียน โดย อย. จะพิจารณา 3 เรื่องใหญ่ ๆ คือ ความปลอดภัยของวัคซีน คุณภาพ และประสิทธิภาพ โดย อย. จะใช้เวลาเพียง 30 วันนับแต่วันที่เอกชนยื่นเอกสารได้ครบถ้วน

ส่วนเรื่องการให้บริการฉีดวัคซีน นายแพทย์ไพศาล ยืนยันด้วยว่า โรงพยาบาลเอกชนก็สามารถให้บริการฉีดได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่การขึ้นทะเบียนวัคซีนในขณะนี้ยังอยู่ในเงื่อนไขการใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้น หากโรงพยาบาลเอกชนจะนำไปฉีดก็ต้องมีการควบคุม หรือต้องมีการลงทะเบียนผู้ที่จะรับบริการฉีด รวมทั้งต้องมีการติดตามความปลอดภัยและผลข้างเคียงภายหลังการฉีด แต่เนื่องจากตอนนี้มี Demand มากกว่า Supply

“จริง ๆ เชิญชวนมากกว่า ไม่ได้ปิดกั้น แต่เนื่องจากการนำเข้าได้นั้น ต้องขึ้นทะเบียนก่อน และการจะขอขึ้นทะเบียนนั้น ต้องเอาข้อมูลเอกสารการวิจัยพัฒนาจากผู้ผลิต ณ ต่างประเทศมาแสดง ซึ่งเอกชนนั้นต้องมีตัวแทนที่ไว้ใจได้ในประเทศไทย”

ทั้งนี้ หลังเกิดการระบาดรอบล่าสุด ทำให้เกิดคำถามถึงประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัคซีนของภาครัฐที่มีความล่าช้า โดยเฉพาะมีคำถามว่า ทำไมไทยถึงมีแค่วัคซีนที่นำเข้ามาโดยรัฐบาล แต่ไม่มีการนำเข้าวัคซีนของเอกชน ทำให้คนไทยจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงวัคซีน

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว