สมาคมคราฟท์เบียร์ วอน ศบค. ออกมาตรการคำนึงถึงผู้ประกอบการรายย่อย

หลังพบโควิด-19 แพร่กระจายอีกระลอกจากคลัสเตอร์สถานบันเทิง หวั่น หากออกมาตรการคุมเข้ม แต่ไม่มีแนวทางเยียวยา ผู้ประกอบการ เสี่ยงปิดถาวร

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2564 สมาคมคราฟท์เบียร์ ออกแถลงการณ์ ถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ คณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กรณีมีการระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มนักท่องเที่ยวกลางคืนและสถานบันเทิงย่านทองหล่อ โดยระบุว่า สมาคมฯ คาดว่า ศบค. มีแนวโน้มจะมีคำสั่งให้พื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และนครปฐม เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และอาจมีคำสั่งให้ปิดบริการเวลา 21.00 น. รวมไปถึงมีคำสั่งห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้าน ซึ่งจะส่งผลอย่างหนักต่อผู้ประกอบการฯ ตามที่ ศบค. ชุดเล็กเสนอ

แถลงการณ์ ยังระบุอีกว่า ธุรกิจประเภทคราฟท์เบียร์ มากกว่า 90% จะนั่งบริโภคที่ร้าน หากมีคำสั่งห้ามบริโภคแอลกอฮอล์ภายในร้านอีกครั้ง จะเป็นการชี้ตายต่อธุรกิจนี้ด้วยเช่นกัน จะส่งผลให้ธุรกิจร้านคราฟท์เบียร์ต้องปิดตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ พนักงาน บริษัทขนส่ง บริษัทจัดจำหน่าย บริษัทนำเข้า จึงขอให้ ศบค. พิจารณาคำสั่งอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง ไม่เช่นนั้น อาจทำให้มีบริษัทหรือผู้ประกอบกิจการคราฟท์เบียร์ต้องปิดกิจการถาวรในที่สุด

ตัวแทนสมาคมคราฟท์เบียร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การระบาดรอบที่ผ่านมา ยอดขายในภาพรวมลดลงกว่าร้อยละ 70 และในช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา สมาคมคราฟท์เบียร์ ได้ยื่นหนังสือขอรัฐบาลผ่อนปรนการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 เคร่งครัด เนื่องจากผู้ประกอบการและพนักงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในประเทศไทยมีไม่น้อยกว่า 600 ร้านค้า มีผู้ได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 6,000 ราย มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกว่า 150 ล้านบาทต่อเดือน

ส่วนการระบาดระลอกใหม่ในช่วงมกราคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านคราฟท์เบียร์ต้องปิดทำการ และเพิ่งจะกลับมาประกอบธุรกิจอีกครั้งได้เพียงแค่ 44 วัน ซึ่งร้านส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้นตัวจากการถูกสั่งปิดครั้งล่าสุดไป

“รอบล่าสุดเราโดนสั่งปิดไป 50 วัน และเพิ่งกลับมาขายได้ 44 วัน ยังใช้หนี้เก่าไม่หมด
เราไม่มีปัญหากับการปิด ถ้ารัฐช่วยจ่ายค่าเช่าแบบต่างประเทศ แต่ถ้ารัฐไม่เยียวยาอะไร ก็ต้องให้คนตัวเล็ก ๆ ได้ทำมาหากิน และที่ต่างประเทศ ปิดผับมา 6-8 เดือนได้ เพราะรัฐจ่ายรายเดือนให้ และมีซอฟต์โลน (มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ) แต่เราไม่มีสักอย่าง เป็น SME ที่กู้เงินไม่ได้ แล้วจะให้เราทำอย่างไร”

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ