เครือข่าย We Fair เตรียม 9 ชุดข้อเสนอ รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า V.2 หลังสภาฯ เปิด

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair เปิดเวทีนำเสนองานวิจัยถามหาความเป็นไปได้ สร้างหลักประกันขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน เตรียมสรุป 9 ชุดข้อเสนอรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ตามกรอบแนวคิด “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เสนอต่อคณะกรรมาธิการ 9 ด้าน ขับเคลื่อนสังคมไทยสู่รัฐสวัสดิการอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 สภาผู้แทนราษฎร

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair / ผู้จัดการโครงการ คคสส. ระบุสวัสดิการอภิสิทธิ์ชน ที่มาพร้อมกับสวัสดิการสงเคราะห์ ทำให้ประชาชนเชื่องช้า และไม่ตั้งคำถามถึงสิทธิ์ที่ควรได้รับ

แม้จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อนโยบายหาเสียงของแทบทุกพรรคการเมือง ให้ความสำคัญกับการสร้างสวัสดิการสังคม แต่ที่ผ่านมา นโยบายรัฐสวัสดิการที่ฝ่ายค้าน และรัฐบาล เคยนำเสนอก็ยังไม่ถูกสานต่อ  แต่คำว่า “รัฐสวัสิดการถ้วนหน้า” กลับเป็นที่รู้จักมากขึ้น เมื่อคนไทยเจอกับความมั่นคงหลายมิติในสถานการณ์ของโรคระบาดโควิด-19 และความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่คนรุ่นใหม่ และประชาชนบางส่วนออกมาสนับสนุน แนวทางการสร้างรัฐสวัสดิการให้กับสังคมไทย โดยล่าสุดพบว่า ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ที่มาจากการรวบรวมรายชื่อของประชาชนมากกว่า 13,000 รายชื่อ และร่างกฎหมายลักษณะเดียวกันจากพรรคการเมืองก็ถูกตีตก โดยนายกรัฐมนตรี รวม 5 ฉบับ ตามอำนาจที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ให้อำนาจไว้ในมาตรา 134 กรณีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินต้องผ่านความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี  

เหตุผลข้างต้จ จึงเป็นที่มาที่เครือข่ายภาคประชาชนจัดทำชุดข้อมูล V.2 ผ่านเวทีเสวนา “จินตนาการสู่สังคมไทยเสมอหน้า” ข้อเสนอนโยบายการเข้าถึงสวัสดิการสังคมและสุขภาวะ  เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2564 โดยมีตัวแทนจากนักวิจัย, นักเศรษฐศาสตร์, ตัวแทนเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ, นักวิชาการ, แรงงานนอกระบบ-ในระบบ, ผู้สูงอายุ, คนพิการ, ข้าราชกระทรวง พม.  ฯลฯ รวมนำเสนองานวิชาการ และถกเถียงความเป็นไป ที่มาของเงิน ก่อนนำเสนอ คณะกรรมการธิการในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคม โดยประกอบด้วย 9 ประเด็นสำคัญ คือ 1) เงินสนับสนุนเด็กและเยาวชน 2)การศึกษา 3) สุขภาพ 4) ที่อยู่อาศัยและที่ดิน 5) งานรายได้ 6) ประกันสังคม 7) ระบบบำนาญถ้วนหน้า 8) สิทธิทางสังคมพหุวัฒนธรรม ประชากรกลุ่มเฉพาะ และ 9) ปฏิรูประบบภาษี โดยมีรายละเอียดของกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์แต่ละส่วนของสังคมประกอบด้วย

1) เงินสนับสนุนเด็กและเยาวชน

แนวคิดจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน จำเป็นที่รัฐจะต้องมีงบประมาณสนับสนุน ดูแลประชากรตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา อันดับแรกต้องมีสวัสดิการให้เด็กและเยาวชนได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมตามแต่ละช่วงวัย โดยมีข้อเสนอดังนี้

  1. เงินสนับสนุนเด็ก และเยาวชน 0-8 ปี โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน
  2. เงินสนับสนุนเด็ก และเยาวชน 19-22 ปี เพื่อเป็นเงินอุดหนุน สำหรับการเรียนมหาวิทยาลัย โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน
  3. ศูนย์รับเลี้ยงดูเด็ก 0-3 ขวบ

โดยมีกลุ่มเด็กแรก-18 ปี จำนวน 15 ล้านคน และผู้ศึกษาในระดับหลังการศึกษาภาคบังคับ 1.8 ล้านคน รวมประมาณ 17 ล้านคน หรือร้อยละ 25 ของประชากรทั้งประเทศ นอกจากนี้ ยังมีผู้ปกครองชุมชน และเศรษฐกิจระดับฐานรากที่จะได้กำลังซื้อจากชุมชนเพิ่มขึ้น

2) ด้านการศึกษา

แม้ไทยจะมีรัฐธรรมนูญ 40 ที่นำมาสู่การประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 โดยจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรีไม่น้อยกว่า 12 ปี แต่ในข้อเท็จจริงประชาชนก็ยังมีภาระค่าใช้จ่ายรวมกว่า 2 แสนล้านบาท เฉลี่ยปีละ 11,330 บาทต่อคน โดยครัวเรือนยากจนแบบรับภาระด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา 22% ของรายได้ สูงกว่าครัวเรือนที่มีฐานะร่ำรวยที่รับภาระ 6% ของรายได้ ขณะที่ระดับอุดมศึกษามหาวิทยาลัยก็ทยอยปรับบทบาทเป็นธุรกิจการศึกษามากขึ้น  ทางเครือข่ายฯ จึงมีข้อเสนอ

  1. การศึกษาระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไม่เก็บค่าใช้จ่าย
  2. การศึกษาระดับอุดมศึกษา ไม่เก็บค่าใช้จ่าย มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน การควบคุมค่าหน่วยกิจสู่การเรียนฟรี ระดับมหาวิทยาลัย/ปวส.
  3. เงินสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้ และการพัฒนาศักยภาพในหลักสูตรที่รัฐกำหนด ตามช่วงวัยของประชากร

กลุ่มที่ได้รับประโยชน์โดยตรง คือเด็กแรกเกิด-18 ปี จำนวน 15 ล้านคน และผู้ศึกษาในระดับหลังการศึกษาภาคบังคับประมาณ 1.8 ล้านคน รวมทั้งสิ้น 17 ล้านคน ทำให้การตกหล่น หลุดออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับจากปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็น 0

3) สุขภาพ

สถานการณ์ปัจจุบัน จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ระบบหลักประกันสุขภาพทำให้ครัวเรือนยากจน จากค่ารักษาลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ 2.01 ในปี 2545 อยู่ที่ร้อยละ 0.24 ในปี 2560 ในขณะที่งบประมาณปี 2561 คิดเป็นร้อยละ 6.05 สะท้อนถึงการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีความเหลื่อมล้ำ และเข้าไม่ถึงการรักษาระบบหลักประกันสุขภาพ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการกำหนดให้สวัสดิการข้าราชการฯ คลอบคลุมการจ่าย “ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ” และ “ยานอกบัญชีหลักแห่งชาติ” ในขณะที่ สิทธิการรักษาพยาบาลจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และประกันสังคม ครอบคลุมเฉพาะยาในบัญชียาหลักเท่านั้น จึงมีข้อเสนอ

  1. กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระบบเดียวที่มีคุณภาพสูง
  2. งบประมาณด้านสุขภาพ คิดตามรายหัวประชากร 8,000 บาท/คน/ปี

การปรับงบประมาณการรักษาพยาบาล 3 กองทุน ได้แก่  ระบบหลักประกันสุขภาพ ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการให้เป็น 8,000 บาท/คน/ปี  หรือประมาณ 3.75% ของ GDP จะทำให้การรวมกองทุนสามารถเกิดขึ้นได้ ในเงื่อนไขที่เศรษฐกิจของประเทศมีการเติบโต และผู้คนมีสุขภาพที่ดีมากขึ้น แม้การคำนวณผลได้ทางเศรษฐกิจจากนโยบายทางด้านการสาธารณสุขทำได้ค่อนข้างยาก แต่สามารถระบุตัวชี้วัดสำคัญคือ ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของครัวเรือนลดลงร้อยละ 1, การล้มละลายจากการรักษาพยาบาลเป็นศูนย์, ความเหลื่อมล้ำการรักษาพยาบาลหายไป คนที่มีรายได้สูง และคนที่มีรายได้น้อยของประเทศสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลได้เท่าเทียมกัน

4) ที่อยู่อาศัยและที่ดิน

คนจนเมืองมีรายได้ต่ำ คนชั้นกลางรายได้ปานกลางไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ขณะที่ภาพรวมของที่ดินคนไทยร้อยละ 90 ถือครองที่ดินไม่เกิน 1 ไร่ ส่วนที่เหลือถือครองมากกว่า 100 ไร่ ส่วนที่ดินที่มีผู้จับจองร้อยละ 70 ถูกปล่อยทิ้งให้รกร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือ ใช้ไม่เต็มที่ จึงมีข้อเสนอจากภาคประชาชน ดังนี้

  1. การเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยไม่เกิน 2% โดยคำนึงถึงประชากรกลุ่มเฉพาะ
  2. ที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนในพื้นที่ตำบลละไม่น้อยกว่า 1,000 ห้อง
  3. ครัวเรือนเกษตรกรต้องเข้าถึงที่ดินที่ทำกินเพื่อเกษตร 15 ไร่ต่อครอบครัว
  4. การเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อที่ดินการเกษตรโดยคำนึงถึงประชากรกลุ่มเฉพาะ
  5. การกระจายการถือครองที่ดิน ด้วยระบบภาษีอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน การปฏิรูปที่ดิน การนำที่ดินของรัฐมาให้ประชาชนใช้ประโยชน์  ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง

การสร้างที่อยู่อาศัย 7,000,000 หน่วย รองรับประชาชนได้มากกว่า 10 ล้านคน ลดค่าใช้จ่ายในการเช่าที่อยู่อาศัยได้ร้อยละ 70 ของค่าใช้จ่ายในตลาด, การจัดเก็บภาษีที่ดิน ทำให้เกิดการกระจายรายการถือครองที่ดินและราคาที่ดินอยู่ในระดับเพื่อการเป็นมูลค่าใช้สอยมากกว่ามูลค่าแลกเปลี่ยน, ค่าใช้จ่ายในการผ่อนบ้านลดลง 45% จากดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี กล่าวคือบ้านราคา 1 ล้านบาท จากการผ่อน เดือนละ 6,000-7,000 บาท จะลดลงเหลือ 3,500 บาท/เดือน ทำให้ผู้คนเป็นเจ้าของบ้านของตัวเองได้ง่ายขึ้นและทำให้การเข้ารับสิทธิ์ที่อยู่อาศัยของรัฐน้อยลง

5) งานรายได้ ข้อเสนอคือ

  1. ค่าจ้างขั้นต่ำ 500 บาท/วัน ให้ปรับขึ้นทุกปี ตามอัตราเงินเฟ้อ
  2. ค่าจ้างแรงงานให้ปรับขึ้นตามอายุงาน และปรับเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าปีละ 2%
  3. การลาคลอด 180 วัน  ใช้ร่วมกันได้ทั้งชาย หญิง และทุกเพศสภาพ โดยได้รับค่าจ้างปกติ

โดยผู้ได้รับผลประโยชน์ คือผู้ที่รับค่าจ้างขั้นต่ำในตลาดแรงงาน ประมาณ 10 ล้านคน, แรงงานที่อยู่ในระบบการจ้างงานอย่างเป็นทางการ ประมาณ 10 ล้านคน, แรงงานนอกระบบมีหลักประกันยามเกษียณที่สามารถใช้ชีวิตได้จริงมากกว่า 20 ล้านคน

6) ประกันสังคม

สถานการณ์ปัจจุบันพบว่า แรงงานนอกระบบและแรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระขาดการคุ้มครองทางสังคม มากกว่าร้อยละ 70 ขาดหลักประกันการทำงานและรายได้ ทำงานหนัก ไม่มีรายได้ที่แน่นอน ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่ำกว่าแรงงานในระบบประมาณ 2.2 เท่า ไม่มีค่าใช้จ่ายยามเกษียณที่เพียงพอ เข้าสู่ระบบประกันสังคม ม.40 เพียง 2.24 ล้านคน แม้คนกลุ่มนี้จะได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ยังขาดหลักประกันชราภาพ และหลักประกันการว่างงาน ระบบประกันสังคมจะต้องมีการปฏิรูปให้เป็นประกันสังคมถ้วนหน้า ครอบคลุมคนทำงานทุกกลุ่ม การพัฒนาสิทธิประโยชน์ การดูแลคุณภาพชีวิตให้ประกันสังคมเติบโตขึ้น และดูแลคนได้อย่างตรงจุด ข้อเสนอประกอบด้วย

  1. ปฏิรูประบบประกันสังคมเป็นประกันสังคมถ้วนหน้า ครอบคลุมคนทำงานทุกกลุ่ม พัฒนาสิทธิประโยชน์เท่าเทียม
  2. แรงงานในระบบขยายเพดานเงินสมทบประกันสังคม สูงสุด 3,000 บาท/เดือน จากฐานเงินเดือน 30,000 บาท
  3. ปฏิรูประบบประกันสังคมแรงงานนอกระบบ สร้างหลักประกันเงินบำนาญเมื่อเกษียณอายุ
  4. การว่างงานให้ประกันสังคมจ่ายเงินชดเชยทุกกรณี การเลิกจ้าง ลาออก ไล่ออก จำนวน 80% ของฐานเงินเดือน เป็นเวลา 6 เดือน เมื่อพ้นจากการลงทะเบียนว่างงานประกันสังคม 6 เดือน ให้ได้รับค่าจ้างรายวันเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ จนกระทั่งได้งานใหม่ โดยต้องเข้ารับการฝึกอบรมและสัมภาษณ์งาน และเริ่มงานใหม่ภายใน 3 เดือน

ผู้ได้รับประโยชน์ คือ แรงงานที่อยู่ในระบบการจ้างงานอย่างเป็นทางการ ประมาณ 10 ล้านคน, แรงงานนอกระบบมีหลักประกันยามเกษียณที่สามารถใช้ชีวิตได้ มากกว่า 20 ล้านคน, สามารถวางแผนชีวิตหลังเกษียณ หรือการวางงานได้ดีขึ้น และสร้างความยืดหยุ่นในตลาดแรงงาน

7) ระบบบำนาญถ้วนหน้า

  1. เปลี่ยนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจาก 600 – 1,000 บาทต่อเดือน เป็น “บำนาญถ้วนหน้า” เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้ โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจนโดยเฉลี่ยของประเทศ
  2. ปรับเงินบำนาญเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ และดัชนีผู้บริโภค
  3. รัฐบาลจ่ายตรงให้แก่ประชาชนผ่านกรมบัญชีกลาง

ผู้ได้รับประโยชน์ คือ ผู้สูงอายุ 9-10 ล้านคน, ผู้สูงอายุใช้สิทธิ์บำนาญถ้วนหน้าร่วมกับสิทธิประกันสังคม, ลดการพึ่งพาประชากรวัยแรงงานจากร้อยละ 80 ให้เหลือร้อยละ 30 ภายใน 5 ปี

8) สิทธิทางสังคมพหุวัฒนธรรม ประชากรกลุ่มเฉพาะ

  1. เพิ่มเบี้ยยังชีพคนพิการ จาก 800 บาท/เดือน โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจนเฉลี่ย
  2. คนพิการมีอิสระจัดซื้ออุปกรณ์ตามวงเงินที่รัฐจัดให้ เพื่อการดำรงชีวิตได้อิสระ คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เอื้ออำนวยการเข้าถึงและจัดให้มีผู้ช่วยคนพิการ ความสะดวกในการเดินทาง การบริการสาธารณะ
  3. คนพิการได้รับเงินสนับสนุนการอบรมอาชีพในหลักสูตรที่รัฐกำหนด ไม่จำกัดเฉพาะอาชีพที่รัฐกำหนดให้เท่านั้น
  4. ประชาชนทุกเพศสภาพต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ และสิทธิการรักษาพยาบาล ตลอดจนกระบวนการการข้ามเพศถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยไม่ถือเป็นเรื่องสวยงาม
  5. พนักงานบริการทางเพศต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ โดยไม่นำความผิดทางอาญามาเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงสวัสดิการ และทบทวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสวัสดิการ
  6. ชนเผ่าพื้นเมือง ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ไม่จำกัดเฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทย ดำรงชีวิตโดยได้รับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ การเข้าถึงบริการสาธารณะ การรักษาพยาบาล ชนเผ่าพื้นเมืองต้องเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การเอื้ออำนวยให้มีล่าม และการแปลภาษาชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิในที่ดิน และที่อยู่อาศัย
  7. ทบทวนหรือยกเลิกหลักสูตรการเรียนการสอน เนื้อหาข่าวสาร ภาพยนตร์ ที่สร้างให้เกิดอคติ ความเกลียดชัง เหยียดเชื้อชาติ เพศสภาพ สถานะทางชนชั้น ลักษณะทางกายภาพของบุคคล และพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างการเรียนรู้ประชาธิปไตย ตามหลักการสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
  8. สร้างพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด เพื่อสร้างการเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น สิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชน
  9. สร้างสวนสาธารณะ หอศิลปวัฒนธรรม ลานกีฬา เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนชุมชน

ผู้ได้รับประโยชน์ และผลที่เกิดขึ้นกับคนพิการประมาณ 2 ล้านคน มีหลักประกันทางรายได้ มีอาชีพหลากหลาย และมีอิสระในชีวิตมากขึ้น, การเข้าถึงสวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐานของประชากรกลุ่มเฉพาะต่าง ๆ โดยที่การเลือกปฏิบัติต้องเป็นศูนย์, รัฐสวัสดิการวางอยู่บนฐานสิทธิมนุษยชน สลายความเป็นพลเมืองที่ยึดติดกับรัฐชาติ เพศสภาพ วัฒนธรรม ชาติพันธ์ รวมถึงความสามารถในการทำงาน ตัวชี้วัดความสำคัญของรัฐสวัสดิการคือ การนับรวมมนุษย์เข้าถึงระบบสวัสดิการโดยมีการแบ่งแยกน้อยที่สุด

9) ปฏิรูประบบภาษี

ประเทศไทยมีปัญหาสำคัญคือ ระบบฐานภาษีที่ผู้ยื่นภาษีมีจำนวนน้อย ประมาณร้อยละ 30 ของวัยทำงาน และการจัดเก็บภาษีทางตรงทำได้น้อย ในขณะที่การสร้างรัฐสวัสดิการมีหัวใจสำคัญ คือ ภาษีทางตรงอัตราก้าวหน้า  เพื่อให้รัฐสวัสดิการมีความยั่งยืน ไม่อิงกับการเติบโต และหดตัวของระบบเศรษฐกิจ ข้อเสนอคือ

ประเทศไทยมีปัญหาสำคัญคือ ระบบฐานภาษีที่ผู้ยื่นภาษีมีจำนวนน้อย ประมาณร้อยละ 30 ของวัยทำงาน และการจัดเก็บภาษีทางตรงทำได้น้อย ในขณะที่การสร้างรัฐสวัสดิการมีหัวใจสำคัญ คือ ภาษีทางตรงอัตราก้าวหน้า  เพื่อให้รัฐสวัสดิการมีความยั่งยืน ไม่อิงกับการเติบโต และหดตัวของระบบเศรษฐกิจ ข้อเสนอคือ

  1. ลดสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุน BOI จำนวน 240,000 ล้านบาท
  2. ปรับปรุงการลดหย่อนและการยกเว้นภาษี จำนวน 100,000 ล้านบาท
  3. ภาษีผลได้จากทุน (Capital Gain Tax : CGT ภาษีผลได้จากทุน คือภาษีที่เก็บจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าของสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์) และกำไรจากซื้อขายหุ้น 30% จำนวน 150,000 ล้านบาท
  4. ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ส่วนเกิน 10 ไร่ (ยกเว้นที่ดินเกษตร 20 ไร่) เริ่มต้นไร่ละ 2,000 บาท/ปี เนื่องจากที่ดินกว่า 75 ล้านไร่ กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้ถือครองที่ดินประมาณ 3 ล้านคน ประมาณการ 150,000 ล้านบาท
  5. ภาษีมรดกปรับอัตราขั้นต่ำ/เก็บสูงขึ้น 10,000-50,000 ล้านบาท
  6. ภาษีเงินได้อัตราก้าวหน้า 45% (ปัจจุบัน 35%) 50,000 ล้านบาท
  7. ปรับลดงบประมาณกลาโหม ประมาณการ 180,000 ล้านบาท
  8. บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณการ 40,000 ล้านบาท
  9. บำนาญข้าราชการ ประมาณการ 220,000 ล้านบาท
  10. ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ประมาณการ 63,000 ล้านบาท
  11. ประชาชนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พัฒนาฐานข้อมูลรายได้ งบประมาณทั้งหมด 1.5 ล้านล้านบาท

รวมงบประมาณจากการปฏิรูประบบภาษีรวม 1.453 ล้านล้านบาท

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair ระบุว่า ข้อเสนอ 9 ชุดนี้เป็นชุดที่ปรับแก้ไข โดยยังคงเน้นข้อเสนอเร่งด่วน เริ่มจากการมีหลักประกันให้กลุ่มเด็กและเยาวชน แรงงาน ผู้สูงอายุ และกลุ่มคนที่มีความเปราะบาง ซึ่งในเวทีเสวนาทางวิชาการ (ที่จัดขึ้นช่วง 3-4 เม.ย. 2564) ครั้งนี้ ยังได้ขยายการศึกษาความเป็นไปได้ในเรื่องของเงินรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า หรือ UBI ซึ่งกำลังเป็นแนวทางที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้สังคมเห็นภาพของความเหลื่อมล้ำ และความไม่มั่นคงในชีวิตของผู้คน ซึ่งต้องมีมาตรการทางสังคมที่เข้ามารองรับมากกว่าแค่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพียงอย่างเดียว

โดยแต่ละชุดข้อเสนอจะแยกส่งต่อให้กับ คณะกรรมาธิการฯ แต่ละด้าน ศึกษาและพิจารณาต่อ คู่ขนานกับการพูดคุยถึงแนวทางปฏิรูประบบภาษี เตรียมความพร้อมก่อนสภาฯ เปิด

ระหว่างนี้ เครือข่ายสลัม 4 ภาค และเครือข่ายรัฐสวัสดิการ เตรียมยื่นเจตจำนงสำคัญ ถึง ครม. ว่า นายกรัฐมนตรี ควรรับรอง ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ และนำเข้าสู่การพิจารณาในระบบรัฐสภาฯ ต่อไป ในวันที่ 7 เมษายนนี้ คงต้องรอติดตามว่า 9 ชุดข้อเสนอ จะนำไปสู่แนวทางการจัดรัฐสวัสดิการให้กับประชาชนได้ทัน การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 สภาผู้แทนราษฎรหรือไม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน