ไร้ข้อสรุป ค่าตั๋ว​รถไฟฟ้า​ BTS​ จ่อฟ้อง​ กทม. เรียกค่าเดินรถส่วนต่อขยาย​ 3​ หมื่นล้าน

ภาคประชาสังคม​เดินหน้าเรียกร้องรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นระบบขนส่งมวลชนในราคาที่ทุกคนขึ้นได้​ 25 บาทตลอดเที่ยว​ รองปลัดคมนาคม​ ระบุ​ กทม. ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล​ต้นทุน-รายได้

เมื่อวันที่ 31​ มี.ค.​ 2564 วงเสวนาผ่าทางตันค่าโดยสาร BTS ที่อาคารรัฐสภา เสียงสะท้อนจากประชาชนที่ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ยังคงเห็นตรงกันว่ามีค่าโดยสารที่แพงเกินไป ต้องการให้รัฐบาลควบคุมราคาให้ต่ำลง​ เพื่อช่วยลดค่าครองชีพ จากผลกระทบทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 โดยสภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอราคารถไฟฟ้าสายสีเขียวควรอยู่ที่ 25 บาทตลอดสาย

สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม​ เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา​ วิษณุ​ เครืองาม​ รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียก กระทรวงคมนาคม​ กรุงเทพมหานคร และ​ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เข้าพูดคุยถึงปัญหาสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว​ และการคิดค่าโดยสารใหม่ควรอยู่ที่ราคาเท่าไร่ โดยกระทรวงคมนาคมใช้ข้อมูลคาดการณ์รายได้และจำนวนผู้โดยสารเท่ามีอยู่ คำนวณดูแล้วพบว่าราคาที่เหมาะสม ควรอยู่ที่ 49.50 บาท​ ตลอดเที่ยว ขณะที่ กทม. เสนอราคาอยู่ที่ 65​ บาท​ โดย กทม. ยังไม่สามารถให้คำตอบใน 8-9 ประเด็นที่กระทรวงฯ สงสัย ซึ่งตอนนี้ กทม. ตอบกลับเพียงประเด็นเดียวเท่านั้น มีการส่งเพียงเอกสารร่างสัญญาเข้ามาให้ ส่วนประเด็นอื่น ๆ ไม่มีการตอบกลับ และขอไม่เปิดเผยว่าประเด็นที่ยังติดค้างอยู่มีอะไรบ้าง

ด้าน​ จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์​ โฆษกกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค เห็นว่า ค่าโดยสารที่แพง แม้จะยังไม่สามารถระบุเหตุผลได้ เนื่องจากกรุงเทพฯ ไม่ยอมเปิดเผยต้นทุนและกำไรที่แท้จริง แต่ถึงอย่างนั้น หากครบอายุสัมปทานในปี 2572 ก็ไม่ควรที่จะต่อสัมปทานให้กับเอกชนเจ้าเดิม แม้เอกชนรายนั้นจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างรางรถไฟฟ้า เพราะปัจจุบันก็เข้าสู่จุดคุ้มทุนของการลงทุนก่อสร้างไปแล้ว​ และที่เหลือคือกำไรที่เอกชนได้รับมาโดยตลอด จึงไม่ควรต่อสัญญาสัมปทานและให้รถไฟฟ้าตกเป็นทรัพย์สินของรัฐ​ เพื่อกำหนดราคาที่ต่ำลงได้

สำหรับค่าโดยสาร​ BTS​ ที่ยังไร้ข้อสรุป​ ทำให้​ต้องเลื่อนการเสนอวาระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าที่ประชุม ครม. ไปอีก​ ขณะเดียวกัน BTSC ก็เตรียม​ฟ้องเรียกค่าเดินรถส่วนต่อขยาย ที่วิ่งฟรีอยู่ในปัจจุบัน​ จาก กทม. กว่า 3​ หมื่นล้านบาท เป็นที่มาที่ทำให้ กทม. มีข้อเสนอ ต้องการต่อสัญญาสัมปทานกับเอกชนเจ้าเดิมเพื่อแลกกับหนี้สินทั้งหมด โดยไม่สามารถลดค่าโดยสารลงมาได้

สำหรับข้อเสนอแก้ปัญหาสัมปทาน​และค่าโดยสาร​รถไฟฟ้า​สายสีเขียวแพง โฆษกกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค​ ระบุ​ว่ามีแนวทาง ดังนี้

  1. เมื่อครบสัญญา พ.ศ. 2572​ ทรัพย์สินทั้งหมดจะตกกลับมาเป็นของรัฐ ไม่จำเป็นต้องรีบขยายสัมปทานให้เจ้าเดิม
  2. เมื่อครบสัญญา สามารถดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44
  3. ควรทำสัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ไปก่อนรอจนถึงปี 2572 ที่ส่วนสายสีเขียว หลังหมดสัมปทาน ค่อยดำเนินการปรับระบบการจัดการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบใหม่หมด
  4. ข้อมูลผู้ชี้แจงขาดความน่าเชื่อถือ ไม่มีหลักฐานการประชุมของคณะกรรมการเจรจา และหลักฐานทางการเงินที่ชัดเจน รวมถึงแหล่งที่มา
  5. สัญญาสัมปทานเป็นสัญญาทางปกครอง ควรเปิดเผยรายละเอียดของสัญญา
  6. ควรทบทวนอัตราค่าโดยสารทั้งระบบ ให้เหมาะสมกับรายได้ประชาชนผู้ใช้บริการ และเปรียบเทียบค่าโดยสารต่างประเทศที่มีระบบและรายได้ใกล้เคียงกับประเทศไทย

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS