ส่องทุจริต รื้อความเข้าใจ “โคกหนองนาโมเดล”

งบฯ กว่า 4,700 ล้านบาท จากเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท ถูกคาดหมายให้จ้างงานเกษตรกรได้ 9,188 คน แม้ดำเนินการได้ไม่ถึงปี แต่ที่กำลังถูกจับตา หลังพบพิรุธการดำเนินโครงการฯ  

Active Talk พูดคุยเจาะลึกถึงหัวใจสำคัญของการทำ โคก หนอง นา โมเดล ผ่าน “เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ” พร้อมเปิดใจทีมข่าวไทยพีบีเอส ที่ร่วมตรวจสอบความผิดปกติของโครงการฯ ที่เกิดขึ้น

ActiveTalk รื้อธุรกิจ รื้อหัวใจ “โคก-หนอง-นาโมเดล”

ไพฑูรย์ ธุระพันธ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ที่ถูกมอบหมายให้ติดตามเรื่องนี้ยอมรับว่า โคกหนองนาโมเดล เป็นโครงการที่มีประโยชน์ ถือเป็นองค์ความรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ถูกถ่ายทอดโดยเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ มาไม่น้อยกว่า 20 ปีแล้ว แต่เมื่อภาครัฐทุ่มงบฯ กว่า 4,700 ล้านบาท จากโครงการเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วงวิกฤตโควิด-19 ก็น่าจะช่วยสนับสนุนให้ชาวบ้านและเกษตรกรมีทางรอดจากวิกฤตที่เกิดขึ้น

ไพฑูรย์ ธุระพันธ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

แต่จากการติดตามกลับพบพิรุธในขั้นตอนดำเนินโครงการโคกหนองนาโมเดล โดยแหล่งข่าวชี้เป้าไปในพื้นที่ อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม จนได้รับข้อมูล ว่า พบผู้รับเหมาที่เคยมีกรณีทุจริตโครงการภัยแล้งก่อนหน้านี้ กลับมารับงานโคกหนองนาโมเดล โดยเฉพาะงานขุดลอกโคกหนองนาในพื้นที่ดังกล่าว พบข้อพิรุธแบ่งได้เป็น 3 ประเด็น

ขุดไม่ตรงตามแบบ และไม่เหมาะกับพื้นที่

ช่างท้องถิ่นขาดองค์ความรู้ควบคุมงาน

และ การรับช่วงของผู้รับเหมา พบการหักค่าหัวคิว 25-30%

จากข้อมูลยังได้รับยืนยันจากแหล่งข่าวด้วยว่า การทุจริตครั้งที่ผ่าน ๆ มา ยังพอได้กำไร แต่สำหรับโครงการโคกหนองนา ถือว่าไม่คุ้มค่าจ้าง

พื้นที่ทำโคกหนองนา อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม

ขุดไม่ตรงตามแบบ และไม่เหมาะสมกับพื้นที่

ตัวอย่างหนึ่งที่ทีมข่าวไทยพีบีเอส พบคือกรณีของ ถนอม เล็กเจ็ก อดีตครูที่ อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม เขาลาออกจากราชการ เพื่อมาศึกษาและตั้งใจทำโคกหนองนาอย่างจริงจัง จึงได้เข้าร่วมโครงการโคกหนองนาโมเดล แต่เขากลับพบปัญหา ผู้รับเหมาขุดปรับพื้นที่ไม่ตรงตามแบบ เช่น ความชันของโคก ที่กลายเป็นทางน้ำหลาก ไม่มีที่เก็บดินตามระบบโคกหนองนาโมเดล เมื่อขอให้ภาครัฐและผู้รับเหมาปรับแก้  ก็มีข้อจำกัด เพราะโครงการมีสัญญาจัดซื้อจัดจ้างเฉพาะเจาะจง ผู้รับเหมาดำเนินการตามแบบที่วางเอาไว้แล้ว

พื้นที่ทำโคกหนองนา อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม

ผู้ควบคุมงานขาดองค์ความรู้

ขณะเดียวกันยังพบข้อมูลเชิงลึกว่า ว่า นายช่างของ อบต. ถนัดงานเขียนแบบ แต่ไม่ถนัดงานขุดลอก เมื่อต้องคุมงานขุด จึงไม่มีประสบการณ์และทำงานไม่ได้

ผู้รับเหมารับช่วงต่อ หักหัวคิว 25-30%

อีกข้อพิรุธสำคัญที่ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสได้รับ คือ หลักฐานเป็นคลิปเสียงของผู้รับเหมาที่รับงานโคกหนองนาในพื้นที่ยืนยันว่า ได้รับค่าหัวคิว และได้ขายช่วงต่อจริง คนที่ทำสัญญาไม่ใช่คนที่มาขุด แต่ข้อมูลนี้ ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าเป็นการทุจริตหรือไม่ จนกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. จะเข้ามาตรวจสอบ ขณะเดียวกันยังพบข้อมูลจากผู้รับเหมา ที่อ้างด้วยว่า ได้จ่ายค่าตอบแทนให้กับ “เจ้าหน้าที่รัฐ” โดยบอกว่าส่งค่าหัวคิวให้ “นาย” แต่ไม่รู้ว่าหมายถึงใคร

ผลที่ตามมาภายหลังพบพิรุธ และการดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามแบบและสัญญาจ้าง ทำให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการ ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน

ผู้สื่อข่าว ยืนยันว่า โครงการโคกหนองนาโมเดล ซึ่งขยายผลไปทั่วประเทศ มีหลายพื้นที่ที่ทำได้ดี ส่วนที่ ภาคอีสาน จะมีการรับเหมา 2 รูปแบบ คือ จ้างผู้รับเหมาขุดดิน 1 ไร่ 40,000 กว่าบาท และ 3 ไร่ 104,000 บาท

เข้าใจ “โคก-หนอง-นาโมเดล”

ไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ยอมรับ ยังมีคนไม่เข้าใจคำว่า “พอเพียง” คือ ให้ทำตามฐานะและกำลัง อย่างชาวบ้าน รู้วิธีการ มีจอบขุดแต่งภูเขา ปั้นคันนาได้ ใช้การลงแขกเอามื้อสามัคคี แต่พอมีงบฯ มาสนับสนุนก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะทำแล้วชาวบ้านได้ประโยชน์ แต่ก็ต้องมาพร้อมกับการตรวจสอบอย่างเข้มงวด

ไตรภพ โคตรวงษา

ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ยืนยันว่า มีเงินอย่างเดียวทำเรื่องนี้ไม่ได้ ต้องมีใจ มีอุดมการณ์ ความรู้ มีเพื่อน มีเครือข่าย ประเด็น คือ รัฐบาลมีเจตนาดี ที่พิจารณางบฯ 4,700 ล้านให้ใช้ แต่เรื่องใหญ่ คือ องค์ความรู้ ประชาชนพร้อมแล้วหรือไม่ คนอยากทำต้องไม่ใจร้อน เพราะจริง ๆ แล้ว โคกหนองนา คือ การออกแบบชีวิต เปลี่ยนความคิด ให้สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ ของโลกยุคนี้ ผ่านกระบวนการ 5 ขั้นตอนสำคัญ ที่เรียกว่า “สูตรยา 5 เม็ด”

  1. อบรมกสิกรรมธรรมชาติ แก้คนใจร้อน ถูกหลอก (5 วัน)
  2. เรียนรู้การออกแบบโคกหนองนา (5 วัน)
  3. ถ้ามีพร้อมลงมือขุดได้เลย เห็นตัวอย่าง มีงบประมาณ  
  4. เอามื้อสามัคคี ช่วยคนอื่น สื่อสารกัน (2 วัน 1 คน)
  5. เกิดเครือข่ายแลกเปลี่ยนแบ่งปันเมล็ดพันธุ์

ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ  ย้ำด้วยว่า การตรวจสอบโครงการที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นสิ่งที่ผิดพลาด ดังนั้น ผิดแล้วก็ต้องแก้ไข เครือข่ายฯ ช่วยกันสอดส่อง ยิ่งเป็นเงินรัฐยิ่งต้องร่วมกันตรวจสอบ เพราะนี่คือเรื่องใหญ่ที่หากทุกคนเห็นประโยชน์และร่วมกันทำ ประเทศจะสามารถเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง ทั้งโลกเปลี่ยน วิกฤตเปลี่ยน ความมั่นคงทางอาหารเปลี่ยน

บุญล้อม เต้าแก้ว จากศูนย์เรียนรู้เกษตรพอเพียงชุมชน สวนล้อมศรีรินทร์ จ.สระบุรี ย้ำว่า โครงการโคกหนองนาโมเดล จะประสบความสำเร็จได้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ก่อน เพราะถ้านักพัฒนาไม่มีองค์ความรู้ การจะไปส่งเสริมให้ชาวบ้านทำก็ยาก ดังนั้นไม่ว่าโครงการฯ จะผ่านมาโดยงบฯ เงินกู้ หรือ งบฯ ของหน่วยงานต่าง ๆ การออกแบบโคกหนองนาอย่างเหมาะสมกับพื้นที่ ไม่ว่าจะ 1 ไร่ หรือ 3 ไร่ ก็ต้องเน้นจากความเหมาะสมผ่านแบบสำเร็จตามมาตรฐานที่มีถึง 100 กว่าแบบ และต้องให้ผู้เชี่ยวชาญ วิศวกรไปควบคุม เพื่อให้แบบที่เลือกสอดคล้องกับข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่ เพราะหากชาวบ้าน เกษตรกร เลือกแค่แบบสวย ๆ ให้มาอยู่ในที่ดินของตัวเอง แต่ไปขุด ไปทำไม่เป็น ก็จะเกิดปัญหา

บุญล้อม เต้าแก้ว ศูนย์เรียนรู้เกษตรพอเพียงชุมชน สวนล้อมศรีรินทร์ จ.สระบุรี

เมื่อมีงบฯ แล้วภาครัฐจะเร่งมือเพื่อให้ได้ขุดตามสัญญา นี่เป็นวิกฤตที่จะทำให้ได้คนมาทำงานผิด ๆ ถูก ๆ ทั้งที่ความจริงแล้ว ต้องมีพื้นที่ต้นแบบก่อน ไม่ใช่ปล่อยให้ไปทำโดยไม่มีตัวอย่าง ต้องทำให้เป็นโมเดลในหลาย ๆ รูปแบบ เพื่อให้คนขุด และเกษตรกร จะได้รู้ว่ากระบวนการที่ถูกต้อง ผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้ว แบบนี้จะช่วยลดการปัญหาได้

องค์ความรู้ที่ลางเลือน สู่ปัญหาเมื่อลงมือทำ

ขณะที่ วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อาจารย์ยักษ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะของผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง เชื่อมั่นในความพยายามของกรมการพัฒนาชุมชน ต้องการดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาช่วยกันทำเรื่องนี้ให้เกิดประโยชน์ แต่ก็ต้องเริ่มจากเปลี่ยนความคิด สร้างองค์ความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ผู้รับเหมา และเปลี่ยนใจคนที่เข้าร่วมโครงการ นี่คือสิ่งที่เครือข่ายฯ ต้องช่วยกันสื่อสาร

วิวัฒน์ ศัลยกำธร

อาจารย์ยักษ์ยืนยันว่า ปัญหาที่พบจากการดำเนินโครงการที่ไม่ตรงตามแบบ อย่างปัญหาเรื่องการขุดบ่อ ขุดแล้วเก็บน้ำไม่ได้ ก็ต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่ความผิดของคนขุด ไม่ใช่ความผิดชาวบ้าน ข้าราชการ แต่คือความไม่สมบูรณ์ของกระบวนการ และความไม่เข้าใจในองค์ความรู้ เพราะถ้าบ่อเก็บน้ำไม่ได้ ก็ต้องเอาขี้วัว ขี้ควายไปใส่ไปย่ำที่ก้นบ่อก่อนก็จะช่วยได้ แต่นี่คือองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ที่อาจลืมเลือนไปบ้าง ทำอย่างไรจึงจะปลุกเรื่องนี้ให้กลับมา ทำให้คนที่รับผิดชอบโครงการ มีองค์ความรู้ร่วมกันก่อน

แม้จะมีงบฯ หลายพันล้าน แต่ 3 ปีแรกคือการเรียนรู้ ต้องมีตัวอย่าง ต้องเรียนผิด เรียนถูก ทำแล้วไม่ผิดเลยเป็นไปไม่ได้ แต่หน่วยงานก็ต้องจริงใจ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหา ถ้าไม่คอร์รัปชัน อะไรมันก็ง่าย แต่ถ้ามีก็ต้องแอบ ต้องหมกเอาไว้ เศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีความเพียร อดทน ไม่ใจร้อน ไม่พูดมาก ไม่ทะเลาะกัน ถ้าทำโดยเข้าใจกันเชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้

ถอดประสบการณ์ “โคกหนองนา” ความสำเร็จ-เปลี่ยนชีวิต

วรชิต บุญศักดิ์ หรือ ไฟท์ อดีตนักโทษที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เล่าว่า ช่วงแรกทำโคกหนองนาด้วยความใจร้อน จึงถูกผู้รับจ้างหลอกขุดหน้าดินในที่ดินของตัวเองไปขายกว่า 1,000 คันรถ หรือราว ๆ 60,000 บาท แต่สุดท้ายก็ได้ไปอบรมเรียนรู้กับเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ จนสามารถออกมาทำโคกหนองนาได้จริง ปัจจุบันเขาทำโคกหนองนาในพื้นที่ 4 ไร่ โดยมีครอบครัวคอยช่วยสนับสนุน จนประสบความสำเร็จ มีผู้ที่สนใจมาขอดูงาน และมีผลผลิตอย่างเพียงพอ

วรชิต บุญศักดิ์ เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ

โคกหนองนา ทำให้รู้ว่าตลอดชีวิตเราหาเงิน ไม่ได้ทำมาหากิน หาเงินเอาไปซื้อกิน โดยไม่รู้ที่มาของสิ่งที่กิน ปัจจุบันยังใช้ชีวิตอยู่อย่างคนจน ทำแบบคนจน สิ่งดี ๆ ก็เกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ ที่สำคัญคือได้ครอบครัวกลับมา

ศูนย์ฝึกหลักสูตรโคกหนองนาในเรือนจำ

การนำองค์ความรู้โคกหนองนามาใช้ปรับเปลี่ยนชีวิตของอดีตผู้ต้องขัง พบว่า ที่ผ่านมาใช้เวลาเพียงไม่นานสามารถสร้างศูนย์ฝึกหลักสูตรโคกหนองนาในเรือนจำทั่วประเทศ 137 ศูนย์ฝึก สามารถฝึกอบรมนักโทษก่อนถูกปล่อยตัวได้ 7-8 รุ่น โดยพบว่าการให้นักโทษได้เรียนรู้หลักสูตรนี้ ก่อนออกจากเรือนจำ ช่วยลดการทำผิดซ้ำของนักโทษได้จริง อย่างที่ผ่านมาพบการกระทำผิดซ้ำ 17% แต่ผ่านไปเพียง 6 เดือน ลดเหลือเพียง 1%


อ่านเพิ่ม

ศาสตร์พระราชา 2020 | ปรัชญามีชีวิต


Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน