“สภาองค์กรผู้บริโภค” เบรก “กทม.” ต่อสัญญาสัมปทาน BTS จ่อชง ครม. สัปดาห์หน้า

ชี้ กทม. คำนวณหนี้สินเกินจริง ยันค่าโดยสารรถไฟฟ้า 25 บาทตลอดสายทำได้ และสามารถส่งเงินเข้ารัฐ ถึง 23,200 ล้านบาท พร้อมรอผู้ว่าฯ กทม. จากการเลือกตั้ง เคาะต่อสัมปทาน

วันนี้ (16 มี.ค. 2564) สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า วันศุกร์ที่ 19 มี.ค. นี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค เตรียมสรุปข้อมูล และมีข้อเสนอถึงที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันอังคารที่ 23 มี.ค. กรณีค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 25 บาทตลอดสาย พร้อมชะลอและทบทวนการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบริษัท BTS โดยหลังจากที่ กทม. เตรียมขยายอายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ BTS ออกไปอีก 30 ปีจากเดิมจะสิ้นสุดพ.ศ. 2572 เป็น พ.ศ. 2602 แลกกับการเก็บค่าโดยสารตลอดสาย คูคต-หมอชิต-สมุทรปราการ ในอัตรา 65 บาท พร้อมกับปลดหนี้แสนล้านของ กทม. ด้วย

ขณะที่แผนการต่อสัญญายังไม่มีข้อยุติ ต่อมา 15 ม.ค. 2564 ผู้ว่าฯ กทม. ออกประกาศอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสาย 104 บาทและจะเริ่มเก็บทันทีวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา พร้อมย้ำว่า 104 บาท ไม่เป็นราคาที่แพงเกินไป ทำให้มีเสียงคัดค้านจากภาครัฐและประชาชนจำนวนมาก กระทั่ง ผู้บริโภคและภาคีเครือข่ายร่วมยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ก.พ. เพื่อขอให้ กทม. หยุดเก็บ 104 บาท พร้อมชะลอการต่อสัมปทาน และรัฐบาลให้กลับไปพิจารณาใหม่โดยให้คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและภาระของกรุงเทพฯ ให้เกิดความเหมาะสม

นอกจากนี้ปัญหาราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระพิจารณาของคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรถึง 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2564 ผู้แทน กทม. ได้ตอบคำถามประธานกรรมาธิการฯ ว่า กทม. ไม่สามารถเปิดเผยต้นทุนกำไรและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการคำนวณอัตราค่าโดยสารได้ ทำให้คณะกรรมาธิการฯ ไม่สามารถพิจารณาคำนวณหาค่าโดยสารที่แท้จริง คณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีมติทำความเห็นถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อยับยั้งการต่อสัญญา โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

สภาองค์กรของผู้บริโภค เชื่อ กทม. คำนวนหนี้สินเกินจริง

สารี ระบุว่า กรุงเทพมหานคร ใช้ตัวเลขหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวเกินจริง โดยผนวกรวมหนี้ใน 8 ปีข้างหน้าที่ยังไม่เกิดขึ้น รวมเป็นหนี้สินปัจจุบัน เพื่อเป็นข้ออ้างในการต่ออายุสัมปทานสายสีเขียวอีก 30 ปี รวม 38 ปี อย่างไม่โปร่งใส ไม่มีข้อมูล ไม่มีที่มาที่ไปของค่าโดยสารรถไฟฟ้า จากจำนวนตัวเลข 148,716.2 ล้านบาท ที่ กทม. ตั้งขึ้นมาเพื่อแลกกับการต่ออายุสัมปทาน แล้วคิดค่าโดยสารตลอดสาย 15-65 บาท หรือ 130 บาทในการเดินทางไปกลับ เป็นการสร้างภาระให้กับผู้บริโภคล่วงหน้า 38 ปี

“โดยตัวเลขที่กรุงเทพฯค้างจ่ายจริง ปัจจุบันมีเพียง 34,837 ล้านบาทเท่านั้น แบ่งเป็นหนี้การลงทุนโครงสร้าง 18,145 ล้านบาท เงินชดเชยส่วนต่อขยาย 7,090 ล้านบาท หนี้ค้างชำระเดินรถ 3 ปี 9 เดือน 9,602 ล้านบาท มูลค่าหนี้ที่ต่างกันถึง 113,879.2 ล้านบาท โดยคิดรวมค่าใช้คืนดอกเบี้ยและค่างานระบบในอนาคตจนถึง พ.ศ. 2572 หมดอายุสัมปทานเป็นเงิน 88,904 ล้านบาท และหนี้ค้างเดิมรถส่วนต่อขยายตั้งแต่ พ.ศ.2562-2572 อีก 21,132 ล้านบาท ทั้งหมดนี้ถูกนำเป็นยอดหนี้รวมปัจจุบัน ของ กทม.เพื่อแลกกับการต่ออายุสัมปทานไปอีก 30 ปี”

ยันค่าโดยสารรถไฟฟ้า 25 บาทตลอดสายยังทำกำไร

ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสามารถลดเหลือเพียง 25 บาทต่อเที่ยวได้ยังมีกำไรและสามารถนำเงินส่งรัฐได้ 23,200 ล้านบาท สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุพบว่าข้อมูลที่ถูกนำเสนอในการประชุมคณะกรรมาธิการ การคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรพบว่า กรุงเทพมหานครสามารถคืนหนี้สินได้ทั้งหมด แถมยังมีเงินเหลือนำส่งรัฐบาลได้ถึง 380,000 ล้านบาทในปี 2602​ โดยใช้การคำนวณค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ผู้บริโภคต้องจ่ายในราคา 49.83 บาท สภาองค์กรผู้บริโภคจึงเสนอให้กรุงเทพฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยตัวเลขข้อมูลความจริง ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการพิจารณาต่อสัญญาสัมปทาน เพื่อไม่สร้างภาระให้กับผู้บริโภคล่วงหน้า 38 ปีเกิดความเสียหายมากถึง 380,200 ล้านบาท

รอผู้ว่าฯ กทม. จากการเลือกตั้ง เคาะต่อสัมปทาน

สภาองค์กรของผู้บริโภค ขอให้ กทม. ยุติการดำเนินการต่อสัญญาสัมปทานและรอการตัดสินใจ จากผู้ว่าฯ กทม. ที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค หวังว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลการคิดราคาค่าบริการ การจ้างบริการเดินรถ เพราะเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนยาวนานถึง 38 ปีจนถึงปี พ.ศ. 2602 โดยราคา 15 – 65 บาทตลอดสายไปกลับ 130 บาทต่อวันเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 39.27% จากค่าแรงขั้นต่ำ 331 บาทของประชาชนในกรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่สามารถทำให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนเพื่อลดปัญหารถติดในกรุงเทพฯ ได้ ตามที่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยคาดหวังและแจ้งในสภาฯ

ค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่ควรเกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ

แม้ว่าอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS ตลอดสาย 104 บาท ที่ กทม. ประกาศจะขึ้นราคาก่อนหน้านี้จะน้อยกว่า 158 บาท จากที่เคยศึกษาไว้ แต่ยังถือว่าแพงเมื่อเทียบกับรายได้ขั้นต่ำของคนกรุงเทพมหานคร เพราะหากคิดค่าเดินทางต่อเที่ยวจะเท่ากับ 31.5% หรือหากต้องเดินทางไปกลับจะต้องเสียค่าเดินทางมากถึง 63% ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายประจำวัน เช่น จักรยานยนต์รับจ้าง รถเมล์ รถสองแถว หรือแท็กซี่ และเมื่อเที่ยบกับต่างประเทศ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยกลับแพงที่สุดเมื่อเทียบกับรายได้ขั้นต่ำของประชากร พบว่าเมืองใหญ่ของโลก คำนวณราคารถไฟฟ้าตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางแล้ว พบว่ารถไฟฟ้าแต่ละประเทศคิดเป็น 3-9% ของค่าแรงขั้นต่ำต่อวันเท่านั้น

ญี่ปุ่นเฉลี่ยเที่ยวละ 62 บาท
ไทยเฉลี่ยเที่ยวละ 59 บาท
เกาหลีเฉลี่ยเที่ยวละ 47 บาท
สิงคโปร์เฉลี่ยเที่ยวละ 36 บาท
มาเลเซียเฉลี่ยเที่ยวละ 33 บาท
ฮ่องกงเฉลี่ยเที่ยวละ 32 บาท

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS