ภาคี #SAVEบางกลอย เชียงใหม่ ประกาศร่วมชุมนุมทำเนียบฯ 8 มี.ค. นี้ เรียกร้องหยุดจับกุม คุมขัง กล่าวหากะเหรี่ยงบางกลอย บุกรุกป่า

ยื่น 5 ข้อเรียกร้อง เดินหน้าพิสูจน์คืนสิทธิที่ดินทำกินอยู่อาศัยชาวกะเหรี่ยงบางกลอย และปลด รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (6 มี.ค. 2564) ที่ประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ ภาคี #SAVEบางกลอยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์โดยมีข้อความระบุว่า นับตั้งแต่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จำนวน 36 ครัวเรือน ประมาณ 70 ชีวิต ได้อพยพโยกย้ายกลับไปปักหลัก แผ้วถางพื้นที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2564 

จนปรากฏเป็นข่าวว่าจะมีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมกับทหารเข้าไปดำเนินการ ในนามภาคี #SAVEบางกลอย จ.เชียงใหม่ ไม่อาจวางใจในสถานการณ์ได้

ภาคี #SAVEบางกลอย ได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อป้องกันสถานการณ์ความรุนแรงและปกป้องสิทธิของพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอยมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเข้ายื่นหนังสือถึง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา  จนถึงการชุมนุมบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ทำเนียบรัฐบาลระหว่างวันที่ 15-17 ก.พ. จนเกิดเป็นบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหากรณีบางกลอย-ใจแผ่นดิน ลงนามโดยฝ่ายการเมืองและข้าราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผู้แทนจากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ภาคี #SAVEบางกลอย และผู้แทนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดีที่อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังมากว่า 25 ปีให้ยุติลงอย่างสันติ

แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อในระหว่างการลงพื้นที่ระหว่างวันที่ 19-23 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยคณะทำงานแก้ไขปัญหาของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จ.เพชรบุรี ซึ่งลงนามแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรากฏว่าการทำงานต้องหยุดชะงักลง ภายหลังมีการดำเนินการตามยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร ซึ่งเราเห็นว่าที่ผ่านมารัฐมีความพยายามในการกดดันให้ชาวบ้านต้องกลับลงมาจากบางกลอยบน-ใจแผ่นดินอย่างน้อย 3 ครั้ง ได้แก่ ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร ระหว่างวันที่ 22-23 ก.พ. การเจรจากับผู้แทนชาวบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน 4 คน ในวันที่ 25 ก.พ. และปฏิบัติการอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา แต่ไม่มีครั้งใดที่ชาวบ้านยินยอมจะกลับลงมา

จนเกิดเป็นภาพปฏิบัติการเมื่อวานนี้ (5 มี.ค.) ที่มีการสนธิกำลังกันเข้าจับกุมชาวบ้านตามหมายจับ 30 ราย ในข้อหา “บุกรุก ก่นสร้าง แผ้วถาง ยึดถือครอบครอง กระทำการใด ๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิมแก่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต” ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 19 (1) ซึ่งจับกุมได้ 22 ราย หนึ่งในนั้น คือ หน่อแอะ มีมิ วัย 59 ปี บุตรชายของปู่คออี้ หรือ โคอิ มีมิ ผู้นำทางจิตวิญญาณกะเหรี่ยงบ้านใจแผ่นดินผู้ล่วงลับ ทั้งหมดถูกฝากขังที่เรือนชั่วคราวเขากลิ้ง จ.เพชรบุรี ทันที 

นอกจากนั้นยังนำชาวบ้านกลับลงมาจากบางกลอยบน-ใจแผ่นดินทั้งหมด รวม 87 ราย

ภาคี #SAVEบางกลอย จ.เชียงใหม่ เห็นว่า การกระทำดังกล่าวของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการกระทำที่อาจเรียกได้ว่า “เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า” ที่แม้ รัฐมนตรีว่าการฯ จะลงนามในบันทึกข้อตกลงเอง แต่ก็กลับกลอกได้อย่างน่าละอาย กลับกลายเป็นเพียงเครื่องมือของข้าราชการกระทรวงฯ ในการกล่าวร้าย ผลิตซ้ำมายาคติกดทับ ลิดรอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มชาติพันธุ์ และอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการรุนแรงทั้งหมด จนกระทั่งเกิดเป็นคดีความที่สร้างบาดแผลร้าวลึกในจิตใจของชาวบ้าน 

พวกเราหลายคนในที่นี้ก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่เคยถูกกระทำเช่นนี้ เราเข้าใจเป็นอย่างดีว่าการต้องถูกย่ำยีโดยผู้มีอำนาจนั้นสร้างความเจ็บปวดขนาดไหน คนเท่ากัน แต่ทำไมได้รับการปฏิบัติไม่เท่ากัน

เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายลง และเปิดช่องทางให้เกิดการแก้ไขปัญหาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พวกเรามีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้

1. รัฐต้องหามาตรการหรือนโยบายในการยกเลิกการจับกุม คุมขัง และการดำเนินคดีชาวบ้านบางกลอยโดยทันที

2. รัฐต้องดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหากรณีบางกลอย-ใจแผ่นดิน เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2564 ซึ่งชอบด้วยกฎหมายทุกประการ หากใครหรือหน่วยงานใดไม่ดำเนินการตามต้องรับผิดชอบกับทุกผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน

3. รัฐต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยใช้การบูรณาการกฎหมายและนโยบายหลายฉบับ ด้วยจุดมุ่งหมายในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เพื่อการปราบปราม เช่น พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 64 และ 65, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 70, ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

4. ต้องให้มีการพิสูจน์สิทธิชาวกะเหรี่ยงบางกลอย เกี่ยวกับพื้นที่ทำกินและอยู่อาศัยที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินทั้งหมด หากปรากฏหลักฐานยืนยันว่าชาวกะเหรี่ยงบางกลอยเคยได้อยู่อาศัยและทำกินในบริเวณนั้นมาก่อน ต้องมีมาตรการหรือนโยบายในการคืนสิทธิให้ชาวบ้านโดยไม่มีเงื่อนไข

5. ปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชา โดยเร่งด่วน เนื่องจากรัฐมนตรีคนนี้ไม่มีความสามารถในการบริหาร กำกับ บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ในกระทรวงได้ ไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในคำสั่งและนโยบายในการแก้ไขปัญหาใด ๆ ได้อีก รวมทั้งขาดความเข้าใจในปัญหา และไม่รับฟังข้อมูลที่รอบด้านประกอบการแก้ไขปัญหา จึงเป็นเพียงเครื่องมือของข้าราชการกระทรวงฯ เพื่อมาทำร้ายชาวบ้าน

พร้อมกันนี้ภาคี #SAVEบางกลอย จ.เชียงใหม่ ยังประกาศร่วมชุมนุมกับกลุ่มภาคี #SAVEบางกลอย และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ในวันที่ 8 มี.ค. นี้ ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามเร่งรัดให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างถึงที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ