รัฐบาลเดินหน้าแผนปฏิรูปด้านสิ่งแวดล้อม

ตั้งเป้า ปี 2565 ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบยุติธรรมสิ่งแวดล้อม ด้าน เลขาธิการ EnLAW ระบุ รัฐยังผูกขาดการทำแผน ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน ชี้ อาจไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้ง

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2564 รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้กำหนดให้การปฏิรูประบบยุติธรรมสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบยุติธรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกลไกระงับข้อพิพาทด้านสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยภายในปี 2565 ตั้งเป้าว่าจะต้องมีวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม และมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเพียงพอ เพื่อให้มีระบบสืบสวนสอบสวน ระบบนิติวิทยาศาสตร์ กระบวนการพิจารณาคดี ระบบบังคับคดี การเยียวยาความเสียหาย ตลอดจนการเลือกใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นทางเลือก รวมทั้งมีบทลงโทษทางแพ่งและอาญาและการเข้าถึงการพิจารณาความได้คล่องตัวมากขึ้น

ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดทำร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม พ.ศ. … พัฒนากระบวนการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมให้มีมาตรฐานและเกิดการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้มีความทันสมัย เท่าที่จำเป็น และไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการปฎิบัติของประชาชน รวมถึงสอดคล้องกับบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงกฎหมายไปแล้ว 13 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2562, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2562 ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้าว่า ในปี 2565 จะต้องมีการปรับปรุงหรือพัฒนากฎหมายเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปในเรื่องนี้อย่างน้อย 30 ฉบับ โดยเป็นการปรับปรุงกฎหมายเดิม 20 ฉบับ และจัดทำกฎหมายใหม่ 10 ฉบับ

ด้าน สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) เห็นว่า การที่รัฐบาลอยากให้ประชาชนเข้าถึงระบบกระบวนการยุติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ ความพยายามเสนอกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นเป้าหมายที่ดี แต่ปัญหา คือ ยังขาดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมทั้งที่มาของการจัดทำแผนปฏิรูปก็ยังเกิดในยุค คสช. ขณะที่กฎหมายหลายฉบับที่รัฐบาลพูดถึง ทั้งกฎหมายป่าไม้หรือกฎหมายโรงงาน ก็ผลักดันในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งก็เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง และยังมีข้อโต้แย้งจากประชาชนต่อปัญหาการมีส่วนร่วมในการจัดทำกฎหมายเหล่านี้

“ประชาชนก็มีข้อโต้แย้งจำนวนมาก เช่น พ.ร.บ.อุทยานฯ ก็มีปัญหาว่าไม่มีส่วนร่วม เป็นเรื่องการจัดการของรัฐโดยแท้ หรือ พ.ร.บ.โรงงาน ก็มีการเปลี่ยนนิยามเกี่ยวกับเรื่องโรงงาน ทำให้หลายโรงงานหลุดพ้นจากการดูแลตาม พ.ร.บ.โรงงาน โดยยังไม่เห็นมาตรการใดๆ ที่จะเข้ามาดูแล หรือการผลักดันกฎหมายต่าง ๆ”

สุรชัย กล่าวว่า รัฐบาลพูดเหมือนกับว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผน แต่สิ่งที่รัฐลืมพูดไปก็คือ การปฏิรูปไม่สามารถดำเนินการผ่านกระบวนการของรัฐได้เพียงฝ่ายเดียว ต้องมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่น ๆ รวมทั้งคนที่ได้รับผลกระทบด้วย ยกตัวอย่างกรณีปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกะเหรี่ยงที่แก่งกระจานกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ก็ต้องมาคุยกันว่า กฎหมายอุทยานฯ ที่ใช้บังคับอยู่ ไม่ตอบโจทย์อย่างไร ควรจะมีการปรับปรุงแก้ไขตรงไหน ซึ่งเรื่องนี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงระบบกระบวนการยุติธรรมที่ต้องมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

หรือยกตัวอย่าง ร่าง พ.ร.บ.การเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งเข้าใจว่าก็อาจถูกตีความได้ว่า เป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน และจะทำให้ร่างนี้ตกไป ทั้ง ๆ ที่ก็เป็นประเด็นที่อยู่ในแผนปฏิรูป พูดง่าย ๆ ว่า รัฐจะผลักดันเฉพาะสิ่งที่รัฐอยากจะผลักดันเท่านั้น

ส่วนเรื่องกฎหมายวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมที่ระบุให้ศาลต่าง ๆ มาร่วมพูดคุยนั้น สุรชัย เห็นว่า ยังมีคำถามว่าแล้วภาคส่วนอื่น ๆ อย่างทนายความ หรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งภาคประชาสังคม จะได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยในเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ หรือให้เป็นแค่การตกลงกันเฉพาะหน่วยงานรัฐ ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ต้องเรียกว่าเป็นแผนปฏิรูปโดยการผูกขาด ขณะที่การมีส่วนร่วมเป็นแค่แบบพิธีกรรมเท่านั้น

“สิ่งแวดล้อมที่ดี ก็ต้องมีการเมืองสนับสนุนที่ดี ซึ่งก็คือการเมืองที่มีช่องทางเปิดให้ทุกฝ่ายในสังคมสามารถเข้ามาพูดคุย เจรจา ตกลงในเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติหรือสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี ให้มันมีผลบังคับใช้ได้จริง แต่โดยการเมืองที่ผูกขาดแบบนี้ คิดว่าจะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง แม้อาจจะผลักดันกฎหมายได้ แต่ก็ไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้”

ทั้งนี้ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ (25 ก.พ. 2564) ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) 13 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข สื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สังคม พลังงาน การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ การศึกษา และด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว