“ขอโทษ” คุมเหตุรุนแรง #ม็อบ13กุมภา ไม่ได้

‘รุ้ง ปนัสยา’ เปิดใจขอโทษ ด้าน ‘ไผ่ ดาวดิน’ นำจัดกิจกรรม “เดินทะลุฟ้า” โคราช-กทม. เรียกร้องปล่อย 4 แกนนำ คาด ใช้เวลาเดิน 15 วัน

“รุ้ง ปนัสยา” เปิดใจ “ขอโทษ” ควบคุมเหตุรุนแรงไม่ได้

วันนี้ (16 ก.พ. 2564) ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เดินสายยื่นหนังสือถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม 5 หน่วยงาน ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ กระทรวงยุติธรรม ศาลอาญา รัชดาภิเษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี

โดยจดหมายเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานพิจารณาและดำเนินคดีความตามกระบวนการยุติธรรม โดยคำนึงถึงหลักนิติรัฐ นิติธรรม และประโยชน์สุขของประชาชน ไม่เร่งรัดคดีและละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งตามหลักสากลหากยังไม่มีการตัดสินเป็นที่สิ้นสุด ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้นั้นเป็นผู้บริสุทธิ์และมีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว 

แต่ที่ผ่านมา กรณีการขอประกันตัว 4 แกนนำราษฎร ศาลให้เหตุผลที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวว่า หากปล่อยไปอาจกระทำผิดซ้ำ จึงตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการตัดสินความผิดผู้ถูกฝากขังเหล่านั้นไปแล้วหรือไม่ พร้อมเรียกร้องให้มีการประกันตัว 4 แกนนำราษฎร และผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองทั้งหมด

ปนัสยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนคดีที่ตนกำลังจะถูกอัยการสั่งฟ้องในวันพรุ่งนี้ (17 ก.พ.) นั้น ตนได้เตรียมใจไว้แล้ว เพราะเป็นคดีเดียวกับ 4 แกนนำราษฎรที่ถูกสั่งฟ้องไปก่อนหน้านี้ โดยเห็นชัดเจนว่ามีธงที่ต้องการให้แกนนำถูกขังและไม่ได้รับการประกันตัว

ส่วนคำถามว่าจะมีผลกระทบต่อขบวนการเคลื่อนไหวหลังจากนี้หรือไม่ ปนัสยา กล่าวว่า คงไม่มีผลกระทบมาก เพราะตนเป็นแค่ฟันเฟืองหนึ่ง แต่ยังมีคนอื่นออกมาต่อสู้ และยังมีมวลชนที่จะยังออกมาอีกมากที่แม้จะไม่มีแกนนำ และยังมีความหวังว่าจะไม่เกิดความรุนแรงอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ก.พ.

“ทุกครั้งที่ผ่านมาก็จะสังเกตว่ามีบางคนที่ไม่ได้ยึดมั่นในแนวทางสันติวิธี ซึ่งทางกลุ่มก็พยายามจัดการเรื่องนี้มาตลอด แต่วันนั้นเราควบคุมไม่ได้ อันนี้ต้องยอมรับจริง ๆ ว่าเราควบคุมตรงนี้ไม่ได้ เราผิดจริง ๆ ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บในหลายคน เราขอโทษจริง ๆ ที่เราควบคุมไม่ได้ แต่หลังจากนี้ทุกอย่างจะรัดกุมมากขึ้น เราจะทำอย่างดีที่สดุเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นอีก และยังยืนยันว่าจะยังคงยึดมั่นในแนวทางสันติวิธี”

โดยหลังจากนี้คงต้องมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ความเคลื่อนไหว ซึ่งในกลุ่มก็กำลังถกเถียงกันหนักมาก แต่ยังขอโอกาสให้เชื่อมั่นว่าจะทำอย่างดีที่สุด ส่วนการชุมนุมวันที่ 20 ก.พ. ยังยืนยันว่าจะยังเป็นไปตามกำหนดเดิม แต่ความเคลื่อนไหวจะเป็นอย่างไรนั้น ปนัสยา กล่าวว่า ไม่อยากพูดเอง เพราะพรุ่งนี้ (17 ก.พ.) ก็ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็จะเป็นสิ่งที่คนที่เหลืออยู่ดำเนินการต่อไป

“ไผ่ ดาวดิน” นำกิจกรรม “เดินทะลุฟ้า” จากโคราช – กรุงเทพฯ คาดใช้เวลาเดิน 15 วัน

ขณะที่เมื่อช่วงเช้า (16 ก.พ.) ที่ลานย่าโม จ.นครราชสีมา จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา แกนนำราษฎร และประชาชนในนามกลุ่ม พีเพิล โก เน็ตเวิร์ก (People GO network) จัดกิจกรรม “เดินทะลุฟ้า” โดยเริ่มเดินเท้าจากลานย่าโม จ.นครราชสีมา เวลา 09.00 น. ไปกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 247.5 กิโลเมตร เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว 4 แกนนำราษฎรที่ถูกขังในเรือนจำในคดีมาตรา 112 และไม่ให้มีการจับเพิ่มอีก คาดว่าจะใช้เวลาเดินประมาณ 15 วัน เฉลี่ยวันละประมาณ 16 กิโลเมตร

ภาพ: People GO network

จตุภัทร์ เปิดเผยว่า ระหว่างทางจะพยายามรณรงค์สื่อสารประเด็นที่ราษฎรและกลุ่ม พีเพิล โก เน็ตเวิร์ก ให้ประชาชนได้รับรู้ เช่น ทำไมจึงเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ ลาออก ทำไมจึงต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และทำไมจึงต้องการปฎิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

รวมทั้งต้องการสื่อสารประเด็นสำคัญ อย่างสิทธิการประกันตัวของผู้ถูกกล่าวหาด้วย กระบวนการยุติธรรมควรจะการมองเห็นคนเหล่านั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ และควรให้สิทธิประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี ไม่ใช่มองว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นคนผิดทันทีและไม่อนุญาตให้ประกัน เพราะนั่นคือการลงโทษก่อนศาลมีคำพิพากษา

ทั้งนี้ วันพรุ่งนี้ (17 ก.พ.) ทั้ง จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ภาณุพงศ์ จาดนอก, อรรถพล บัวพัฒน์, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง รวมทั้ง ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธ์ หรือแอมมี่ และนักกิจกรรมคนอื่น รวมทั้งหมด 19 คน จะต้องเดินทางไปฟังคำสั่งฟ้องของอัยการ ในคดีความผิดต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คดีเดียวกันกับที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเมื่อเย็นวานนี้ (16 ก.พ.) ยังไม่ให้ประกัน 4 แกนนำราษฎร โดยระบุเหตุผลว่า การปราศรัยนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และมีลักษณะชักนำประชาชนให้ล่วงละเมิดต่อกฎหมายของแผ่นดิน

นศ.-ปชช. 37 คน ทยอยเข้ารับทราบข้อหา ม.116-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่สภ.เมืองเชียงใหม่

ส่วนที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ นักศึกษา นักกิจกรรม และประชาชน 37 คน ทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกมาตรา 116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากเหตุการชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน ที่ข่วงประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563 โดยคดีนี้ บัญชา บุญหยุง หัวหน้ากลุ่ม “คนรักแผ่นดินเกิด” เป็นผู้กล่าวหา ทำให้วันนี้ (17 ก.พ.) เป็นการออกหมายเรียกผู้ต้องหาในคดีเดียวมากที่สุดตั้งแต่เริ่มการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก เป็นต้นมา

โดยผู้ถูกออกหมายเรียกเริ่มเดินทางไปตั้งแต่ช่วงเช้า และมีกิจกรรมแสดง Performance Art หลายรูปแบบ ทั้งการเขียนป้ายผ้า การแสดงสด และการแสดงเชิงสัญลักษณ์ ก่อนเดินเข้ามาในบริเวณ สภ.เมืองเชียงใหม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว