ขอให้ยึดหลัก รธน. คดี 112/116 สันนิษฐานว่าจำเลยบริสุทธิ์ ก่อนพิพากษา

ทีมทนายยื่นอุทธรณ์ขอประกันตัว 4 แกนนำราษฎร ด้าน “ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน” เรียกร้องศาลยึดหลัก รธน. คดี 112/116 สันนิษฐานว่าจำเลยบริสุทธิ์ ก่อนพิพากษา

วันนี้ (11 ก.พ. 2564) ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ส่งหนังสือถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และประธานศาลฎีกา เรียกร้องให้สถาบันตุลาการทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หลังศาลอาญามีคำสั่ง (9 ก.พ.) ไม่ให้ประกันตัว 4 แกนนำราษฎรในคดีกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116

โดยหนังสือระบุว่า จากการที่ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกกล่าวหาข้างต้น โดยให้เหตุผลว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระ ตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีกจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว…”

ภาคีนักฎหมายฯ เห็นว่า การไม่ได้ประกันตัวดังกล่าวมีผลให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คน ถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ซึ่งหากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างพิจารณา ทั้ง 4 คนก็จะถูกคุมขังจนกว่าจะมีคำพิพากษา หมายความว่าการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนี้ จะเป็นผลให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คน ถูกพรากเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม และไม่สามารถเป็นแกนนำในการชุมนุมในระหว่างที่มีการพิจารณาคดีนี้

การตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 ในกรณีนี้จึงมีจุดประสงค์ซ่อนเร้นเพื่อยุติการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้ถูกกล่าวหาเป็น “การฟ้องคดีปิดปาก” ซึ่งถือว่าเป็นการคุกคามประชาชนด้วยกระบวนการยุติธรรม การไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดีจะมีผลเป็นการทำให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 ต้องยุติบทบาทในการนำการชุมนุมสาธารณะเสียก่อนที่พวกเขาจะได้รับการพิพากษาว่าได้กระทำความผิด

ภาคีนักกฎหมายฯ จึงขอคัดค้านการใช้ดุลพินิจของศาลอาญาในการมีคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาภายใต้บทบัญญัติมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีหลักการให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด จนกว่าจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดและการจะควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยจะกระทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้บุคคลนั้นหลบหนี

อีกทั้งมาตรา 107 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็บัญญัติให้สิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตในการปล่อยชั่วคราวเป็นหลัก โดยการพิจารณาสั่งคำร้องปล่อยชั่วคราว ให้ศาลอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 108 เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นในมาตรา 108/1

การที่ศาลอาญาได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดี 112 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์นั้น สะท้อนว่าผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนผู้มีคำสั่งไม่ตระหนักถึงสิทธิของผู้ต้องหา ในการที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวตามเจตจำนงค์แห่งรัฐธรรมนูญ และใช้อำนาจแห่งตนที่สามารถใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่งลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยมิชอบ ทำให้ผู้ต้องหาไม่สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้อย่างเต็มที่

ภาคีนักกฎหมายฯ ยังเห็นว่า ผู้พิพากษาต้องคำนึงถึงหลักความเป็นอิสระและเที่ยงธรรม ในการพิจารณาออกหมายจับบุคคลที่แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมือง ศาลจำเป็นต้องพิจารณาภายใต้หลักการที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและไม่ยอมตนรับใช้อำนาจใด หากแต่ต้องใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ศาลต้องเป็นหลักอันศักด์สิทธิและเป็นไม้หลักสุดท้ายในการผดุงความยุติธรรมให้ประชาชนได้เข้าถึงความยุติธรรมโดยเสมอภาค

อีกทั้ง ต้องดำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของหลักการให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด จนกว่าจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด ไม่ก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยการมีดุลพินิจในทางที่เป็นผลร้ายต่อผู้ต้องหาหรือจำเลย และผู้พิพากษาต้องมีความกล้าหาญในการใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หาไม่แล้วสถาบันตุลาการเองจะกลายเป็นสถาบันที่สร้างแต่ความอยุติธรรมให้แก่ประชาชน

ส่วนความคืบหน้าในการขอประกันตัวแกนนำทั้ง 4 คน วันนี้ (11 ก.พ.) ทีมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลอาญาที่ไม่ให้ประกันตัวดังกล่าวตั้งแต่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยคาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน ถึงจะทราบผลว่าจะอนุญาตให้ประกันตัวแกนนำทั้ง 4 คนหรือไม่ โดยทีมทนายความกล่าวว่า หากยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ก็ยังสามารถยื่นขออุทธรณ์คำสั่งได้อีก

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว