ศบค. เคาะ ผ่อนมาตรการโควิด-19 เหลือเข้มสูงสุดแค่ “สมุทรสาคร”

เหตุยังพบผู้ติดเชื้อ 98 % พื้นที่อื่น เปิดเรียน เดินทางข้ามจังหวัด ได้ปกติ ส่วน กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี เป็น พื้นที่ควบคุมสูงสุด

วันนี้ (29 ม.ค. 2564) นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ระบุว่า พื้นที่สีแดงที่เคยมีการติดเชื้อเริ่มลดน้อยลง ส่วนพื้นที่สีเขียวที่ไม่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 7 วัน เริ่มเยอะขึ้น ที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ จึงได้เห็นชอบแนวปฏิบัติในการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

กำหนดพื้นที่เขตพื้นที่สถานการณ์ใหม่ โดย พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เหลือจังหวัดเดียว คือ สมุทรสาคร, พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) เหลือ 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี และสมุทรปราการ, พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) มี 20 จังหวัด, พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) มี 17 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) มี 35 จังหวัด

กรณีพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) คือ จ.สมุทรสาคร ยังคงให้ปิดสถานที่และห้ามกิจกรรม ดังนี้

สถานบริการ สถานประกอบการคล้ายกับสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ, สนามมวย สถานที่ออกกำลังกายในร่ม ห้าง ฟิตเนส, สนามชนไก่ ชนวัว กัดปลา บ่อน สนามพระเครื่อง, กิจการอาบน้ำ อาบอบนวด สปา นวดแผนไทย, โรงเรียน โรงเรียนกวดวิชา สถาบันการศึกษา, สนามเด็กเล่น สวนสนุก เครื่องเล่นเด็ก ตู้เกมส์ ร้านเกมส์ ร้านอินเตอร์เน็ต, การประชุมงานเลี้ยง กิจกรรมประเพณีที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก การจัดแสดงสินค้า และสถานีขนส่งสาธารณะ

แต่ให้เปิดสถานที่ ภายใต้มาตรการป้องกันโรค ดังนี้ ตลาด ตลาดนัด จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ และกำกับการเว้นระยะห่าง, ร้านอาหาร เปิดบริการได้ไม่เกิน 21.00 น. งดดื่มสุราในร้าน, ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า จำกัดเวลาเปิดไม่เกิน 21.00 น., ศูนย์เด็กเล็กและสถานที่พักผู้สูงวัย เฉพาะเข้าพักเป็นประจำ และสถานประกอบการ โรงแรม พร้อมกำกับมาตรการป้องกันโรคในองค์กร จัดให้มีระบบติดตามตัวของผู้เดินทางเข้าออกทุกคน

กรณีพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี และนนทบุรี ให้มีมาตรการ ดังนี้ ปิดสถานบริการ สถานประกอบการคล้าย ผับบาร์ คาราโอเกะ แต่ให้ซื้ออาหารนำไปรับประทานที่อื่นได้, ให้เปิดร้านอาหาร จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ให้นั่งรับประทานอาหารได้ ไม่เกิน 23.00 น. งดดื่มสุราในร้าน แต่ซื้อกลับได้ และต้องจำกัดจำนวนคนต่อโต๊ะ

ในส่วนการเรียนการสอน การสอบ และการฝึกอบรม ให้จัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (On site, Online, On air) งดกิจกรรมที่มีผู้ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก กรณีโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่มีนักเรียนรวมทั้งโรงเรียนไม่เกิน 120 คน หรือ รร.ตชด. ทุกพื้นที่ให้เปิดการเรียนได้ตามปกติ และมีการกำกับมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด

การประชุม สัมมนา จัดเลี้ยง การแจกจ่ายอาหาร/สิ่งของ ให้จำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมไม่เกิน 100 คน งดดื่มสุรา และงดแสดงดนตรีที่มีการเต้นรำ, ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ให้เปิดบริการได้ตามเวลาปกติ แต่งดกิจกรรมที่มีผู้ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากในสถานที่ ส่วนศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม และการจัดนิทรรศการ ให้เปิดบริการได้ตามเวลาปกติ และจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1 ตร.ม./คน

แรงงานข้ามชาติ ให้จำกัดการเดินทางและเคลื่อนย้าย และใช้แอปพลิเคชันหมอชนะ กรณีมีความจำเป็นในการเดินทางและเคลื่อนย้าย ให้ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด, ยังให้ปิด บ่อนการพนัน สนามชนไก่ ชนวัว ส่วนสถานบริการ อาบน้ำ อาบอบนวด ให้ปิดสถานที่และงดให้บริการนอกสถานที่ ส่วนสถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง ในอาคาร ยิม ฟิตเนส สนามมวย ให้เปิดได้ แต่ต้องเป็นการแข่งขันแบบไม่มีผู้ชม

กรณีพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 20 จังหวัด ให้เปิดสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะได้ แต่ให้นั่งรับประทานอาหารและดื่มสุราในร้านได้ไม่เกิน 23.00 น. แสดงดนตรีได้ แต่งดเต้นรำ ร้านอาหารให้นั่งรับประทานในร้านได้ แต่จำกัดเวลาจำหน่าย-ดื่มสุราในร้าน ไม่เกิน 23.00 น.

ให้เปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ การประชุม สัมมนา จัดเลี้ยง จำกัดผู้เข้าร่วมไม่เกิน 300 คน แสดงดนตรีได้ แต่งดเต้นรำ ห้างสรรพสินค้าเปิดบริการได้ตามปกติ แต่งดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก สถานบริการอาบน้ำ อาบอบนวด สปา นวดแผนไทย เปิดบริการได้ โดยจำกัดผู้ใช้บริการ

สถานที่ออกกำลังกายใน-นอก อาคาร ยิม ฟิตเนส สนามมวย แข่งขันได้ แต่ให้มีผู้ชมตามเกณฑ์ที่กำหนด คนไทยเดินทางข้ามจังหวัดได้ แต่บ่อนการพนัน สนามชนไก่ ชนวัว ยังให้ปิดสถานที่

กรณีพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 17 จังหวัด ให้เปิดสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะได้ แต่ให้นั่งรับประทานอาหารและดื่มสุราในร้านได้ไม่เกิน 24.00 น. ร้านอาหารให้นั่งรับประทานในร้านได้ แต่จำกัดเวลาจำหน่าย-ดื่มสุราในร้านไม่เกิน 24.00 น. ห้างสรรพสินค้าเปิดบริการได้ตามปกติ แต่งดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก สถานบริการอาบน้ำ อาบอบนวด สปา นวดแผนไทย เปิดบริการได้ โดยจำกัดผู้ใช้บริการ

สถานที่ออกกำลังกายใน-นอก อาคาร ยิม ฟิตเนส สนามมวย แข่งขันได้ แต่ให้มีผู้ชมตามเกณฑ์ที่กำหนด คนไทยเดินทางข้ามจังหวัดได้ แต่บ่อนการพนัน สนามชนไก่ ชนวัว ยังให้ปิดสถานที่

กรณีพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) 35 จังหวัด ให้เปิดสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะได้ แต่ให้มีการจำกัดเวลา จำหน่าย/ดื่มสุราได้ ตามที่กฎหมายกำหนด แสดงดนตรีและเต้นรำได้ เน้นการเว้นระยะห่าง ร้านอาหารให้นั่งรับประทานในร้านได้ แต่จำกัดจำนวนโต๊ะ มาก สถานบริการอาบน้ำ อาบอบนวด สปา นวดแผนไทย เปิดบริการได้ โดยจำกัดผู้ใช้บริการ

สถานที่ออกกำลังกายใน-นอก อาคาร ยิม ฟิตเนส สนามมวย แข่งขันได้ แต่ให้มีผู้ชมตามเกณฑ์ที่กำหนด คนไทยเดินทางข้ามจังหวัดได้ แต่บ่อนการพนัน สนามชนไก่ ชนวัว ยังให้ปิดสถานที่

โดยระบุว่า การคลายมาตรการดังกล่าว จะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้เริ่มปฏิบัติในวันที่ 1 ก.พ. 2564 เพื่อให้การผ่อนคลายนี้ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี แต่หากหลังผ่อนคลายแล้วมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น สามารถเปลี่ยนแปลงมาตรการได้ทันที จึงขอความร่วมมือประชาชนและผู้ประกอบการ คงมาตรการป้องกันควบคุมโรคต่อไปอย่างเคร่งครัด

ไฟเขียวจัดแข่งขันกีฬา – เตรียมพื้นที่กักตัวเฉพาะองค์กร

นอกจากนี้ ยังให้มีการผ่อนคลายมาตรการเพื่อจัดแข่งขันกีฬา และได้เห็นชอบกีฬาที่ให้ดำเนินการได้ เช่น การแข่งขัน ฟุตบอลอาชีพไทยลีก 31 ม.ค.-เม.ย. การแข่งขันวอลเลย์บอล ไทยแลนด์ ลีก 13 ก.พ.-11 เม.ย. รวมทั้งการอนุญาตให้จัดงานประกวด Miss Grand International 2020 และการแข่งขันกอล์ฟ LPGA ที่ จ.ชลบุรี

รวมทั้งการอนุมัติให้มีการจัดทำ Organizational Quarantine (OQ) ในพื้นที่ของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่ภาคตะวันตก ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคอีสานท ตามลำดับ โดยเน้นย้ำที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จ.เชียงราย จ.ระนอง จ.สงขลา จ.จันทบุรี จ.สระแก้ว และ จ.หนองคาย รวม 14 แห่ง ใช้งบประมาณ 680,792,280 บาท และสามารถกักตัวได้รวม 84,000 คน โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่าย งบกลาง รายการเงินสำรองกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

เล็งใช้ “บับเบิล” เชื่อมต่อการเดินทาง ที่พัก – ที่ทำงาน ของแรงงานข้ามชาติ

ทั้งนี้ นายแพทย์ทวีศิลป์ แถลงด้วยว่า ผลการจัดการควบคุมในระลอกสองที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้เคสส่วนใหญ่ หรือ 98 % อยู่ที่สมุทรสาคร – กรุงเทพฯ ประมาณ 1.2% และที่อื่น ๆ อีก 0.8 % ขณะที่วันนี้ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 802 คน โดยจังหวัดที่พบเยอะที่สุด ยังคงเป็น สมุทรสาคร 765 คน และกรุงเทพฯ 10 คน

ส่วนกรณี จ.สมุทรสาคร ที่เจอตัวเลข 3 หลัก ก็มีการคุยกันในที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ วันนี้ว่าจะทำอย่างไร เพราะถ้าใช้วิธีการค้นหาเคสแบบที่ทำอยู่ ต้องใช้เงินมากถึงวันละประมาณ 20 ล้านบาท ถ้าทำวิธีนี้ต่อไป ก็มีคำถามว่าจะไหวหรือไม่ จึงมีการเสนอหลายวิธี

1. ถ้าเป็นพื้นที่ใหญ่ ที่มีทั้งโรงงานและหอพักในที่เดียวกัน ก็จะให้ซีลไว้ในนั้นเลยในที่เดียวกัน แล้วเข้าไปสุ่มตรวจด้วยวิธีแอนติบอดีที่อาจจะราคาถูกมาหน่อย ถ้าเจอบวกก็ตรวจด้วยวิธี PCR และหากป่วยก็แยกไปรักษ แต่หากไม่ป่วยก็ให้ทำงานไป

2. วิธี “บับเบิล” คือ ระหว่างที่พักกับที่ทำงาน หากอยู่กันคนละที่ ต้องหาทางเชื่อมการเดินทางให้เชื่อมต่อกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ไปแพร่เชื้อที่อื่น

3. กรณีเป็นโรงงานขนาดเล็ก จะเข้าไปตรวจทุกคน ในทุก 2 สัปดาห์ เพราะมีจำนวนคนไม่มาก

แต่ทั้งหมดนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการและแรงงานเองด้วย และเน้นการทำงานที่ อ.เมือง ส่วน อีก 2 อำเภอ คือ อ.บ้านแพ้ว และ อ.กระทุ่มแบน ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาว่า จะมีการผ่อนคลายมาตรการลงแค่ไหน

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว