เครือข่ายแรงงานฯ เรียกร้องเยียวยาถ้วนหน้า

ครอบคลุมผู้ประกันตน ม.33 เตรียมบุกถามความคืบหน้ากระทรวงการคลัง 29 ม.ค. นี้

วันนี้ (26 ม.ค. 2564) เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล ยื่นจดหมายจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องรัฐบาลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 อย่างถ้วนหน้า

จดหมายระบุว่า จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2564 ที่เห็นชอบโครงการ “เราชนะ” เยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยกำหนดจ่ายเงินเยียวยาจำนวน 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รวม 7,000 บาทต่อคน ทั้งหมด 31.1 ล้านคน โดยเน้นอาชีพอิสระ เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย คล้ายกับโครงการเราไม่ทิ้งกัน แต่กลับไม่ให้เป็นเงินสด และจะโอนผ่านแอปพลิเคชันสัปดาห์ละครั้งจนครบ

แต่คำแถลงของ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่กล่าวว่า ไม่อยากให้ประชาชนสัมผัสตัวเงินเพราะอาจสัมผัสเชื้อโควิด-19 และต้องการให้ประชาชนปรับตัวเป็นสังคมไร้เงินสด รวมทั้งหากให้เป็นเงินสดรัฐบาลจะควบคุมการใช้เงินไม่ได้ และจะหายไปกับสิ่งที่ควบคุมได้ยาก เช่น สุรา การพนัน ห้างร้านขนาดใหญ่ 

คำแถลงดังกล่าวสะท้อนว่า วิธีคิดของรัฐบาลเหมือนอยู่โลกคนละใบกับผู้ใช้แรงงาน ที่ต้องนำเงินไปใช้จ่ายตามความจำเป็นเร่งด่วนของแต่ละคน เช่น จ่ายค่าเช่าบ้าน ใช้หนี้ และยังสะท้อนความต้องการควบคุมอำนาจการตัดสินใจของประชาชน ซึ่งมีลักษณะเผด็จการ เหมือนคุณพ่อรู้ดี ไม่สนใจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ดังเห็นได้จากมาตรการเยียวยารอบสองของรัฐบาลที่ยังคงทิ้งคนกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง คือ แรงงานในระบบประกันสังคม ม.33 จำนวนกว่า 11 ล้านคน

เครือข่ายฯ ยืนยันว่า รัฐต้องเยียวยาแรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ซึ่งเป็นลูกจ้างในธุรกิจ หน่วยงานทุกภาคส่วน รวมถึงแรงงานข้ามชาติที่เข้าระบบประกันสังคมประมาณ 1.5 ล้านคน และนายจ้างร่วมสมทบเงินประกันสังคม เพราะพวกเขากำลังเผชิญปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่การระบาดรอบแรกเช่นเดียวกับแรงงานนอกระบบ

การผลักให้พวกเขาไปใช้เงินกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นเงินของลูกจ้างตามประกาศของกระทรวงแรงงาน (จ่าย 62% ของค่าจ้างพื้นฐาน และ 50% ในรอบสอง) ทำให้พวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะตกงานและถูกละเมิดสิทธิ เพราะกระทรวงแรงงานไม่สามารถตรวจสอบบริษัทหรือโรงงานที่ปิดกิจการชั่วคราวที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดโดยตรง

จึงพบเห็นว่ามีหลายบริษัทปรับโครงสร้างลดต้นทุน และโยนภาระให้ลูกจ้างไปใช้เงินทดแทนว่างงานซึ่งควรจ่าย 75 % ตามกฎหมายแรงงาน และรัฐควรทดแทนรายได้ให้ครบ 100 % แต่กลับไม่ทำไม่ว่าในกรณีใด ทำให้ลูกจ้างสูญเสียรายได้และสวัสดิการ หลายกรณีถูกลดวันทำงาน โอที ลดค่าจ้าง ลาไม่ได้รับเงินเดือน ถูกปรับสภาพการจ้างงานให้ยืดหยุ่นกว่าเดิมคือ No work no pay

และเมื่อตกงาน อยู่ระหว่างเปลี่ยนสถานะผู้ประกันตนเป็นแรงงานนอกระบบ ก็กลายเป็นช่องว่างไม่ได้รับเงินเยียวยา หลายรายถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ถูกเบี้ยวค่าจ้างค่าชดเชยต้องเป็นภาระไปฟ้องศาล ท้ายสุดลูกจ้างเป็นหนี้มากขึ้นแทนที่รัฐจะแบกหนี้เหล่านี้

เครือข่ายฯ ต้องการให้รัฐใช้หลักคิดถ้วนหน้าเท่าเทียม ไม่กำหนดเงื่อนไขให้ยุ่งยาก ไม่ต้องลงทะเบียน ผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบจากคำสั่งต่างๆ ของรัฐกับการใช้อำนาจในทางที่ผิดของเจ้าหน้าที่ แรงงานทุกภาคส่วน เช่น ภาคศิลปวัฒนธรรม คนทำงานกลางคืน แรงงานข้ามชาติ ในระบบและนอกระบบต้องได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน

“หากงบประมาณไม่เพียงพอต้องพิจารณานำงบฯ กองทัพหรือสถาบันฯ ที่ใช้เงินฟุ่มเฟือย และเพิ่มฐานภาษีความมั่งคั่งจากมหาเศรษฐี 1 % ของประเทศเพื่อนำมาสร้างสวัสดิการถ้วนหน้าให้แก่ประชาชน 99 % ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกกาลเทศะมากกว่าหาเรื่องปวดหัวรายวันให้ประชาชน”

หนึ่งในตัวแทนแรงงานที่ร่วมชุมนุมกล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการมาทวงสัญญาหลังจากที่เคยยื่นเรียกร้องไปเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา และจริง ๆ แล้วเรียกร้องมาตั้งแต่ปี 2563 แต่ไม่มีสัญญาณตอบรับจากรัฐบาล สะท้อนว่ารัฐบาลไม่เคยเห็นความสำคัญของผู้ประกันตามมาตรา 33 รวมถึงคนที่ถูกนายจ้างให้หยุดกิจการแต่ไม่จ่ายเงินเยียวยา

“มีคนที่ยังไม่ได้รับเงินโบนัส เงินเดือนที่ต้องจ่ายตั้งแต่เดือน ธ.ค. ก็เลื่อนจ่าย ไม่ออกตามกำหนด คนที่เกษียณอายุไปแล้วก็ยังไม่ได้รับเงินชดเชย จึงมาทวงถามข้อเรียกร้อง รัฐคิดว่าเราไม่เดือดร้อนจึงไม่เยียวยา วันนี้เลยมาย้ำว่าเดือดร้อนจริงๆ”

นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนแรงงานข้ามชาติ ตัวแทนสหภาพแรงงานย่านรังสิต สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ ตัวแทนกลุ่มศิลปิน เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียม รวมทั้งตัวแทนนักเรียนร่วมปราศรัยเรียกร้องด้วย โดยตัวแทนเครือข่ายฯ ระบุว่า จะไปตามความคืบหน้าที่กระทรวงการคลังอีกครั้งในวันที่ 29 ม.ค.

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว