ค่าโดยสาร​ BTS 104 บาท​ สวนทางรายได้ขั้นต่ำคนไทย

‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ​ค้านค่าโดยสารแพง เตือน กทม. หยุดใช้ผู้บริโภคเป็นตัวประกัน ชี้รถไฟฟ้าต้องเป็นขนส่งมวลชนที่ทุกคนขึ้นได้ ไม่ใช่แค่บริการทางเลือกของผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 22​ ม.ค.​ 2564​ จากกรณีที่ กทม. ประกาศขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีเสียงคัดค้านจากทั้งภาครัฐและประชาชนจำนวนมาก ถึงประเด็นความไม่โปร่งใส ทั้งยังขัดต่อกฎหมายที่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดสัญญาสัมปทาน รวมถึงการขึ้นราคาค่าโดยสารที่สูงเกินไป สวนทางกับรายได้ขั้นต่ำ ตลอดจนการเร่งรีบขยายสัญญาสัมปทานให้เอกชน ทั้งที่ระยะเวลายังเหลืออีก 9 ปี ซึ่ง พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาตอบโต้คณะกรรมาธิการการคมนาคม โดยยืนยันว่าค่าโดยสารตลอดสาย 104 บาท ไม่แพงเกินไป และจะเริ่มเก็บอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในราคาดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. 2564 เป็นต้นไป นั้น

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายที่ กทม. ประกาศเรียกเก็บในราคา 104 บาท แม้จะน้อยกว่า 158 บาทที่เคยศึกษาไว้ แต่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ค่าแรงขั้นต่ำ หากคิดค่าเดินทางต่อเที่ยวจะเท่ากับร้อยละ 31.5 และหากต้องเดินทางไปกลับด้วยรถไฟฟ้าจะต้องเสียค่าเดินทางมากถึงร้อยละ 63 ของค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายประจำวัน และค่าเดินทางด้วยบริการขนส่งมวลชนประเภทอื่น

โดยข้อเท็จจริงในการใช้ชีวิตของแต่ละคนในขณะนี้ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่แพงกว่านี้อีกมาก ดังนั้น การดึงดันไม่รับฟังเสียงทัดทานของ กทม. จึงเป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายกับผู้บริโภค และมีเจตนาที่ดูเหมือนต้องการให้ผู้ใช้บริการเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองกับรัฐบาล เพื่อให้ยอมรับการขยายสัญญาสัมปทาน จนสุดท้ายทุกฝ่ายต้องยอมรับอัตราค่าโดยสารในราคา 65 บาท อย่างไรก็ตามอัตราค่าโดยสารในราคา 65 บาท ก็ยังสูงเกินสมควรสำหรับผู้บริโภค

“ทุกวันนี้ผู้บริโภคต้องอยู่กับปัญหารถไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น ต้องถูกคิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนถ้าใช้รถไฟฟ้าข้ามสาย ขาดระบบ ‘ตั๋วร่วม’ สำหรับผู้ใช้รถไฟฟ้าและบริการขนส่งมวลชนทุกระบบ จุดเชื่อมต่อบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับผู้พิการหรือผู้สูงอายุในการเดินทางยังมีน้อย หรือบริการห้องน้ำสาธารณะที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งสาเหตุสำคัญ เพราะรัฐทำให้รถไฟฟ้ากลายเป็นบริการทางเลือก แทนที่จะเป็นบริการขนส่งมวลชนที่ทุกคนต้องมีสิทธิเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าด้วยราคาที่เหมาะสมเป็นธรรม”

ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม กล่าวอีกว่า ในขณะที่รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ที่มีการตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2573 จะต้องทำให้ประชากรเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้อย่างปลอดภัย ทุกคนสามารถจ่ายค่าโดยสารได้อย่างเท่าเทียมเป็นธรรม โดยรัฐต้องสนับสนุนให้มีการใช้บริการขนส่งมวลชนที่เพิ่มขึ้น แต่หากรัฐวางเฉยไม่เร่งรัดดำเนินการปกป้องสิทธิประโยชน์ของประชาชนและรัฐ ต่อจากนี้คนไทยอาจต้องล้มละลายจากค่าเดินทางด้วยบริการขนส่งมวลชนทุกประเภทรวมกันมากเกิน 300 บาทต่อวัน หรือร้อยละ 100 ของค่าแรงขั้นต่ำเลยทีเดียว ดังนั้น เพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นมีข้อยุติที่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้อย่างเป็นรูปธรรมและไม่เป็นภาระของผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีข้อเสนอเร่งด่วนที่สำคัญต่อการแก้ปัญหา ดังต่อไปนี้

  1. ขอให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งชะลอแผนการขยายสัญญาสัมปทานโดยทันที และให้กรุงเทพมหานครหยุดการเรียกเก็บค่าเดินทางในวันที่ 16 ก.พ. 2564 ออกไปก่อน
  2. ขอให้เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดสัญญาสัมปทานต่อสาธารณะ เพื่อรับฟังความเห็นจากองค์กรผู้บริโภค ประชาชน และนักวิชาการ ที่ได้ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สุขภาพ อนามัย จากการดำเนินการของรัฐ ตามมาตรา 58 และมาตรา 61 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมติให้ความเห็นชอบ
  3. ขอให้ทบทวนสัญญาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าทุกสายในปัจจุบัน และสัญญาที่จะทำในอนาคตเพื่อศึกษาผลกระทบ กำหนดแนวทาง และสิทธิประโยชน์ของประชาชนและรัฐให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ผู้บริโภคทุกกลุ่มต้องเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรม ยกเว้นค่าแรกเข้ากรณีโดยสารรถไฟฟ้าข้ามสาย พัฒนาระบบตั๋วร่วมและระบบการเชื่อมโยงบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท เพื่อความสะดวกปลอดภัยของผู้บริโภคที่ใช้บริการ
  4. ขอให้กำหนดมาตรฐานค่าใช้จ่ายบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท รวมแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ ซึ่งทั้งรัฐบาลและท้องถิ่นต้องพัฒนาระบบสนับสนุนที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ สะอาด มีคุณภาพในการให้บริการ
  5. ขอให้รัฐบาลประกาศเป็นนโยบายสาธารณะให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนที่ทุกคนต้องขึ้นได้ ไม่เป็นเพียงขนส่งทางเลือกสำหรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS