ครม. เห็นชอบ 2 พื้นที่คุ้มครองทางทะเล

หมู่เกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช – เกาะโลซิน จ.ปัตตานี เพื่ออนุรักษ์แหล่งปะการังและพื้นที่วางไข่สัตว์ทะเล และเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่อนุรักษ์เขตป่าชุมชน

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติในการประชุม เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3 เรื่อง แยกเป็นเห็นชอบร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ กำหนดพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง ที่ จ.ปัตตานี และ จ.นครศรีธรรมราช และเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ให้เป็นป่าอนุรักษ์ในพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562

โดยร่างกฎกระทรวงกำหนด 2 พื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พื้นที่แรก ได้แก่ บริเวณหมู่เกาะกระ (กระใหญ่ กระกลาง กระเล็ก) ต.ปากพนังฝั่งตะวันออก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และพื้นที่ที่สอง คือ บริเวณเกาะโลซิน ต.น้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เพื่อสงวนไว้ซึ่งสภาพธรรมชาติเดิม ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของปะการังและสัตว์ทะเลหายากในฝั่งอ่าวไทย

สำหรับสาระสำคัญในกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ ได้กำหนดมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง กำหนดกิจกรรมที่ห้ามกระทำ อาทิ ห้ามทำเหมืองแร่ในทะเล ห้ามทำให้เกิดมลพิษ เช่น ปล่อยน้ำเสีย หรือสิ่งปฏิกูล ห้ามขุดลอกร่องน้ำ ห้ามถมทะเล ห้ามทำกิจกรรมที่เป็นการทำลายหรือเป็นอันตรายตลอดจนส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของแนวปะการัง ซากปะการัง กัลปังหาสัตว์น้ำในแนวปะการัง และสัตว์ทะเลหายาก

เกาะทั้งสองแห่งนี้ มีแนวประการังที่สมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในอ่าวไทย เป็นแหล่งดำน้ำและตกปลาที่มีชื่อเสียง อีกทั้งเกาะกระยังเป็นแหล่งวางไข่ของสัตว์ทะเลหายาก อาทิ เต่าตนุ เต่ากระ โดยการประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนี้ อาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ที่ให้อำนาจอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย มีอํานาจสั่งให้ระงับการกระทําหรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนั้น เป็นการชั่วคราวตามความเหมาะสม

ส่วนร่างกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ พ.ศ. … คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ว่า หากคณะรัฐมนตรีมีมติให้เขตพื้นที่ที่จะกำหนดในร่างกฎกระทรวงนี้ครอบคลุมถึงเขตพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวหรือเป็นพื้นที่เปราะบางของระบบนิเวศด้วย ก็จะทำให้การอนุรักษ์สอดคล้องกับหลักการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหัสวรรษ อาทิ พื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องสงวนรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารโดยแท้จริง หากสูญเสียสภาพป่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง จึงอนุมัติร่างกฎกระทรวงดังกล่าว

โดยที่มาของการเสนอร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เนื่องจากพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 มาตรา 4 บัญญัติให้ “เขตป่าอนุรักษ์” หมายความว่า เขตอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า หรือเขตพื้นที่อื่นใดที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ หรือคุณค่าอื่นอันควรแก่การอนุรักษ์หรือรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ประกอบกับมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง

ดังนั้น เพื่อเป็นการสงวนและรักษาเขตพื้นที่ที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ หรือคุณค่าอื่นอันควรแก่การอนุรักษ์ หรือรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในบางพื้นที่ไว้ให้ยังคงอยู่ในสภาพตามธรรมชาติเดิม และมิให้นำไปจัดตั้งเป็นป่าชุมชน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ พ.ศ. …. เพื่อกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์

ส่วนสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฉบับนี้คือ กำหนดให้พื้นที่ที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ หรือมีคุณค่าแก่การอนุรักษ์หรือรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นเขตป่าอนุรักษ์ที่มิให้นำมาจัดตั้งเป็นป่าชุมชน ได้แก่ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ พื้นที่ป่าที่ได้รับการประกาศหรือขึ้นทะเบียนไว้กับองค์การระหว่างประเทศ พื้นที่ป่าที่เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ พื้นที่ป่าที่เป็นเขตโบราณสถาน

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว