ดีเดย์​ 14​ ก.พ.​​ ขึ้นทะเบียน​วัคซีนจีน​ ถึงไทย 28​ ก.พ.​

ฉีดให้กลุ่มเสี่ยง บุคลากรทางการแพทย์ อสม. ทหาร-ตำรวจ ด่านคัดกรองก่อน​ ‘นพ.ยง’ เผย โควิด-19 จะสงบต้องมีภูมิคุ้มกัน 4 พันล้านคน ทั่วโลก

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2564 ที่กระทรวง​สาธารณสุข​ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์​ กล่าว​ว่า​ กรณีการแพร่ระบาดของโรคในโลกนี้ วัคซีนเป็นตัวช่วยยับยั้งการระบาด จนทำให้การแพร่ระบาดยุติ โดยมีหลักการ คือ ให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกัน ไม่ต้องครบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เพียงมีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่ง จะทำให้อำนาจการแพร่เชื้อในสังคมลดลง และท้ายที่สุดจะหยุดการแพร่ระบาด หลักสำคัญ คือ ปกป้องการแพร่ระบาดในชุมชนก่อน โดยให้ครอบคลุมระดับหนึ่ง การได้มาของวัคซีนต้องผ่านการทดลอง และมีความปลอดภัยต่อร่างกายมนุษย์ ซึ่งจะทดลองใน 3 เฟส

นพ.ศุภกิจ ระบุถึงสิ่งที่ต้องพิจารณา คือ 1. คุณสมบัติของวัคซีน 2. ราคาที่เหมาะสม 3. จำนวน และ 4. เวลาที่จะได้รับวัคซีนจากผู้ผลิต ต้องนำมาประมวลและหาทางเลือก เพราะไม่ต้องการให้ไทยมีวัคซีนเป้าหมายเพียงชนิดเดียว ซึ่งต้องเผื่อกรณีต่าง ๆ เช่น อาจไม่ได้ผล ซึ่งต้องเตรียมจัดหาประมาณ 3 ชนิด เพื่อสะดวกต่อการจัดเตรียมวัคซีน เนื่องจากวัคซีนแต่ละชินมีการจัดเก็บและเตรียมแตกต่างกัน

นอกจากนี้ กระบวนการจัดหาวัคซีน ประเทศไทย มีกลไกคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และให้รองนายกฯ ดูแล ได้มอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นเลขาฯ และสถาบันโรคติดต่อ กรมควบคุมโรค และ สำนักงานอาหารและยา (อย.) พิจารณาคุณภาพในการนำเข้ามายังไทย และการตรวจสอบคุณภาพ และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบกรณีการนำวัคซีนเข้ามา​

ส่วน คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนเพื่อคนไทย นำโดย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการเจรจานับครั้งไม่ถ้วน ขณะที่ข้อกังวลจากสังคมออนไลน์ พร้อมรับไว้พิจารณา แต่หลายอย่างพบว่ามีความคลาดเคลื่อนและบางส่วนเห็นไม่ตรงกัน เช่น กรณีเอกชนนำเข้านั้น ยืนยันไม่ได้ห้าม แต่ต้องผ่านมาตรฐานของ อย. ขณะที่ กรณีของวัคซีนจาก บริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค ของประเทศจีน ซึ่งมีข่าวว่า เอกชนไปซื้อหุ้นเพิ่ม ยืนยันไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งวัคซีนในการจัดหาหลายทาง นั้นทางหนึ่ง คือ ของจีนจำนวน 2 ล้านโดส ซึ่งมาจากความสัมพันธ์อันดีของไทย-จีน ขณะที่ แอสตร้าเซนเนก้า ของประเทศอังกฤษ ก็มีการเจรจาและขอให้ส่งมอบโดยเร็ว

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้มีวัคซีนที่ผ่านขึ้นทะเบียนในประเทศตนเอง 5 ชนิดจาก 6 ชนิด คือ 1. วัคซีน บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา/เยอรมนี มีประสิทธิภาพ 95 %  2. วัคซีน บริษัท โมเดอร์นา สหรัฐอเมริกา ประสิทธิผล 94.5 % 3. วัคซีน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ของอังกฤษ/สวีเดน ประสิทธิผล 62- 90 % 4. วัคซีนสปุตนิกวี ของรัสเซีย ประสิทธิผล 92 % 5. ของ Beijing Institute of Biological products ประสิทธิผล 79% และ 6. วัคซีนของ บริษัท ซิโนแวค ของจีน ประสิทธิผล 78 % ซึ่งอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน

ทั้งนี้ วัคซีนแต่ละบริษัท​ มีผลข้างเคียงต่างกัน เช่น บริษัท ไฟเซอร์ ผลข้างเคียง คือ ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ มีอาการแพ้ 11 ต่อ 1 ล้านการฉีด

วัคซีน บริษัท​ โมเดอร์นา มีอาการข้างเคียง คือ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บริษัท​ แอสตร้าเซนเนก้า มีอาการข้างเคียง ปวดบริเวณที่ฉีดชั่วคราว ปวดปวดศีรษะ เป็นไข้ ปวดกล้ามเนื้อ

วัคซีน สปุตนิกวี ยังไม่พบรายงานผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่นเดียวกับ Beijing Institute of Biological products ยังไม่พบรายงานผลข้างเคียงที่รุนแรง

บริษัท ​ซิโนแวค ยังไม่พบรายงานผลข้างเคียงที่รุนแรง รวมถึงการเก็บรักษาวัคซีนแต่ละชนิดก็แตกต่างกันด้วย

นพ.นคร กล่าวต่อไปว่า ทางกระทรวงฯ ได้ร่วมกันพิจารณาข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่การจองซื้อและจัดหา กรณีวัคซีน บริษัท​ แอสตร้าเซนเนก้า จองซื้อ 25 ล้านโดส ซึ่งจากนั้นจะมีการร่วมผลิต โดยมีกำลังการผลิตราว 200 ล้านโดสต่อปีในไทย สามารถผลิตป้อนประเทศในระดับภูมิภาคได้

การใช้วัคซีนในภาวะเร่งด่วน ผลข้างเคียงที่พบได้ยากในจำนวน 1 ล้านคนขึ้นไป จะพบมากขึ้น ต่างจากช่วงทดลองที่จำนวน 50,000 คน หรือทดลองในจำนวนน้อย วัคซีนทุกตัวจะมีการเก็บข้อมูล และเราได้รวบรวมข้อมูลเพื่อระมัดระวัง และต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลข้างเคียงและผลการยับยั้งการระบาด ลดอัตราป่วย และเสียชีวิต และเก็บข้อมูลด้วย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การกระจายวัคซีนต้องคำนึงถึงความมั่นคงด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม เทียบเคียงกับประเทศอื่น และสอดคล้องกับสากล โดยยูนิเซฟรายงานว่า ในช่วงแรกวัคซีนจะมีจำนวนจำกัดในช่วงแรก แต่ต่อมาในช่วงไตรมาส 3-4 ของปี 2564 จะเพิ่มขึ้นในไทย ซึ่งเป้าหมายของการให้วัคซีนในระยะแรก คือ ลดอัตราการป่วย และเสียชีวิต โดยฉีดในกลุ่มความเสี่ยงสูงและเสียชีวิต เช่น มีโรคประจำตัว โรคทางเดินหายใจ โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน ความดัน และผู้สูงอายุ และ 2. ปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน อสม. ทหาร ตำรวจ ที่ทำหน้าที่คัดกรอง โดยฉีดในพื้นที่เสี่ยงคือ 5 จังหวัด โดยจำนวน 2 ล้านโดส ต้องผ่านการอนุญาตจาก อย. ให้คนละ 2 โดส ฉีดห่างกัน 1 เดือน

นอกจากนี้ ยังต้องต้องเตรียมความพร้อม สถานบริการ บุคลากร ลงทะเบียน จากนั้นจะกระจายไปทั่วประเทศ ประชาชนจะสามารถรับวัคซีนในพื้นที่ใกล้บ้านได้ และในการฉีดจะต้องมีการเตรียมระบบทะเบียน รวมถึงการติดตามผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อให้รับฉีดวัคซีนครบ 2 ครั้ง จะติดตามผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน

การฉีดวันนี้ ฟรี แต่ต้องมีการคุ้มครอง หลังจากนี้ อาจมีอาการไม่พึงประสงค์ ซึ่งกรมควบคุมโรค และ อย. จะติดตามอาการผู้ฉีดวัคซีนทุกคนเป็นเวลา 4 สัปดาห์ เพื่อติดตามอาการไม่พึงประสงค์และประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อและเสียชีวิต

ขณะที่​ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การได้มาของซิโนแวคจำนวน 2 ล้านโดส ทำมาจากเชื้อตาย ในจีนฉีดให้ประชาชนจำนวนมาก ยังไม่มีรายงานผลข้างเคียงรุนแรง และคาดว่าจะได้ขึ้นทะเบียนในเร็ววัน ในจีนก็เป็นการฉีดในกรณีฉุกเฉิน ขณะที่ของไทยมีระบบซึ่งกรมควบคุมโรคของบประมาณจากรัฐบาล ในกรณีเร่งด่วน 2 ล้านโดส เนื่องจากสามารถเจรจาได้ รวมถึงเจรจา บริษัท​ แอสตร้าเซนเนก้า ได้ 26 ล้านโดส การจัดหาโดยองค์การเภสัชกรรม เนื่องจากจีนไม่มีตัวแทนจำหน่ายในไทย อภ. จึงเป็นตัวแทนจำหน่ายให้ซิโนแวคในไทย

รวมถึงการตรวจคุณภาพโดย อย. หากเรียบร้อย อภ. จะติดต่อกับจีนในการจัดหาและขึ้นทะเบียนให้ทันภายในวันที่ 14 ก.พ. นี้ หากขึ้นทะเบียน อย. ทัน ก็จะแจ้งออเดอร์ไปจีนและภายในวันที่ 28 ก.พ. จะได้วัคซีนชุดแรกจำนวน 2 แสนโดส และในเดือน มี.ค. จำนวน 8 แสนโดส เม.ย. 1 ล้านโดส และในเดือน พ.ค. ล็อตใหญ่ จำนวน 26 ล้านโดส ของ บริษัท​แอสตร้าเซนเนก้า และอีก 35 ล้านโดส ซึ่งจะครอบคลุมประชากรจำนวนมากซึ่งความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนขณะนี้เป็นไปตามแผน

โควิด-19 จะสงบต้องมีผู้ติดเชื้อ-ฉีดวัคซีน​ ​4,000 ล้านคน​ ทั่วโลก​

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า วัคซีนโควิด-19​ ทั่วโลก ฉีดไปแล้วประมาณ 23 ล้านโดส เมื่อก่อนปีใหม่มีรายงานยอดการฉีดวัคซีนทั่วโลกประมาณ 5 ล้านโดส​ มาถึงวันนี้ ประมาณ 10 วันถัดมา ยอดการฉีดวัคซีนทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะมีจำนวนมากชนิด ของวัคซีน ที่ผ่านการรับรองให้ใช้

การให้วัคซีนขณะนี้ ยังไม่มีผลลดการระบาดของ โควิด-19 ทั่วโลก การระบาดของทั่วโลกยังคงเป็นจำนวนมาก คงจะถึง 100 ล้านคนในอีกไม่กี่วัน และการเสียชีวิต น่าจะแตะที่ 2 ล้านคน​ โรคนี้จะสงบจะต้องมีคนติดเชื้อ รวมกับ ฉีดวัคซีน ให้มีภูมิต้านทานอย่างน้อย 60 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรโลก หรือประมาณ 4,000 ล้านคน เป้าหมายยังคงห่างไกล​

ขณะที่ประเทศที่ฉีดวัคซีน ต่อจำนวนประชากร มากที่สุดขณะนี้ คือ อิสราเอล ฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 20 % ของประชากร ผลของการฉีดวัคซีนต่อประชากรหมู่มาก น่าจะมีรายงานจากประเทศอิสราเอลก่อน​ เชื่อว่าในระยะเวลาอันสั้น น่าจะครอบคลุมประชากรได้ตามเป้าหมายของอิสราเอล​

ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศแรกที่ฉีดวัคซีนแล้ว คือ สิงคโปร์ และต่อมา น่าจะเป็นอินโดนีเซีย​ กว่าจะมาถึงประเทศไทยก็น่าจะมีการฉีดไปแล้วหลายร้อยล้านโดส​ จำนวนที่ฉีดเป็นวัคซีนของ จีน กับวัคซีน ของตะวันตก มีจำนวนพอ ๆ กัน ของจีนฉีดมากใน 3 ประเทศ คือประเทศจีน UAE และบาห์เรน

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS