ปูพรมตรวจโควิด-19 ตลาดท่าเรือคลองเตยกว่า 2,000 แผง

ศูนย์บริการ สธ.41 คลองเตย ปฏิบัติการเชิงรุก ตรวจโควิด-19 ในน้ำลาย ล่าสุดมีผู้ลงทะเบียนตรวจ กว่า 1 พันคน คาดขยายเวลาตรวจเพิ่มจนครบทั้งตลาด



สืบเนื่องจากการพบผู้ป่วยโควิด-19 ที่มักจะมีความเชื่อมโยง การรับซื้อกุ้ง และอาหารทะเลจากตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร เช่นเดียวกับ ตลาดท่าเรือคลองเตย ที่ไม่เพียงมีความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน (Cluster) ในจังหวัดสมุทรสาครเท่านั้น ตลาดท่าเรือคลองเตยยังเป็นตลาดใหญ่ที่มีกลุ่มแรงงานข้ามชาติอยู่หนาแน่น โดยปัจจุบันมีผู้ค้าสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาที่นี่มากกว่า 2,000 แผง

นางกอบกุล จันทร์ตระกูล หัวหน้าพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 คลองเตย สำนักอนามัย กทม. ระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้ทำการตรวจโควิด-19 กลุ่มเสี่ยงสัมผัสโดยตรง ด้วยวิธีการสวอบ (Swab) ในกลุ่มแรงงานที่กลับมาจากสมุทรสาครไปแล้ว

ขณะที่รอบนี้จะเป็นการตรวจผู้ค้าทุกคนในตลาดทั้งสัญชาติไทย เมียนมา ลาว ไทยใหญ่ ฯลฯ ด้วยวิธีการเก็บน้ำลาย โดยตั้งเป้าหมายตรวจครบ 900 คนในวันนี้ (10 ม.ค. 64) และผลตรวจจากแผนกไวรัส โรงพยาบาลรามาธิบดี จากผู้ตรวจเมื่อวานนี้ (9 ม.ค. 64) 750 คน เป็นลบทั้งหมด

ด้วยวิธีการตรวจด้วยน้ำลาย โดยโรงพยาบาลรามาธิบดีทำการวิจัยพบว่า ได้ผลแม่นยำ มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับวิธีการตรวจจากสารคัดหลั่งหลังจากจมูกและคอ หรือวิธีการตรวจหาสารพันธุกรรม (RT-PCR) ซึ่งวิธีการตรวจหาเชื้อในน้ำลายนี้ได้รับการยอมรับ

นางกอบกุล ย้ำว่า วิธีการตรวจแบบเก็บน้ำลายทำได้สะดวก เพื่อคัดกรองเบื้องต้นในกรณีมีผู้รับการตรวจจำนวนมาก ทำให้บุคลากรปลอดภัยมากขึ้น ไม่ต้องใช้หรือลดการใช้ชุดป้องกัน PPE โดยจะส่งต่อให้แผนกไวรัส โรงพยาบาลรามาธิบดี ทราบผลภายใน 24 ชม.



ขณะที่มาตรการตรวจเข้มป้องกัน COVID-19 ของตลาดคลองเตย นางสาวปิยธิดา นิยม ผู้อำนวยการเขตคลองเตย มอบหมายเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ลงพื้นที่ตรวจสอบตลาดคลองเตย ปฏิบัติเป็นไปตามคำแนะนำด้านสุขลักษณะสำหรับตลาดในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด



ทั้งนี้ทางตลาดคลองเตยได้มีมาตรการในการควบคุมป้องกัน เช่น

1. มีการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากสถานที่ โดยใช้แอปพลิเคชั่นที่ทางราชการกำหนด (ไทยชนะ)

2. ผู้ค้าและผู้ซื้อจะต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกคน พร้อมติดป้ายแจ้งประชาสัมพันธ์ให้สวมหน้ากากก่อนเข้าตลาด (หากไม่สวมหน้ากากอนามัยไม่ให้เข้าตลาด)

3. จัดให้มีเจลแอลกอฮอล์และจุดบริการล้างมือพร้อมสบู่ ตามจุดต่าง ๆ ในตลาด

4. มีจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายเบื้องต้นก่อนเข้าพื้นที่ตลาด

5. มีการกำหนดเส้นทางเข้า-ออก เพื่อให้ทางเข้า-ออกน้อยที่สุด

6. จัดให้มีถังขยะสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัย/ขยะติดเชื้อ

7. มีการล้างทำความสะอาดตลาดตามหลักสุขาภิบาลทุกวัน

8. มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั้งรูปแบบเสียงตามสายและสื่อออนไลน์ (Facebook)

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน