สามจังหวัดภาคใต้ น้ำท่วมหนัก กระทบแล้ว 18,000 ครัวเรือน

สงขลา ยะลา นราธิวาส น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก กระทบแล้ว 19 อำเภอ บางพื้นที่อพยพไม่ทัน ‘ปภ.-ท้องถิ่น’ เร่งให้ความช่วยเหลือ

วันนี้ (7 ม.ค. 2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลกระทบจากอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทย มีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำ บริเวณชายฝั่งประเทศมาเลเซีย ทำให้บริเวณภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนัก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และคลื่นลมแรง ตั้งแต่วันที่ 4 – 7 ม.ค. 2564

โดยพบว่า 5 อันดับฝนสูงสุดเมื่อวานนี้ (6 ม.ค.) จากข้อมูลสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้แก่ 1. อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส 228.8 มิลลิเมตร 2. อำเภอยะหา จังหวัดยะลา 219.2 มิลลิเมตร 3. อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส 201.8 มิลลิเมตร 4. อำเภอธารโต จังหวัดยะลา 186 มิลลิเมตร และ 5. อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา 176.6 มิลลิเมตร

ด้าน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้รายงานมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก 3 จังหวัด รวม 19 อำเภอ 98 ตำบล 482 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 18,024 ครัวเรือน

จังหวัดนราธิวาส เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีสาคร อำเภอบาเจาะ อำเภอระแงะ อำเภอสุไงปาดี อำเภอรือเสาะ อำเภอแว้งอำเภอสุคิริน อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอจะแนะ อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอเมืองนราธิวาส รวม 56 ตำบล 318 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 14,680 ครัวเรือน

เช่น บ้านกะลูบี ตำบลมาโมง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส เกิดน้ำท่วมบนถนนทางหลวง ช่วงสุคิริน โต๊ะโม๊ะ ระหว่างกิโลเมตรที่ 7-8 ระดับน้ำสูง 80 เซนติเมตร ล่าสุดยังคงมีน้ำท่วมอยู่

ส่วนที่ จังหวัดยะลา เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอยะหา อำเภอกรงปีนังอำเภอเบตง อำเภอบันนังสตา อำเภอเมืองยะลา และอำเภอธารโต รวม 31 ตำบล 119 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,284 ครัวเรือน

ขณะที่เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดละลา ระบุในช่วงที่ผ่านมามีน้ำป่าไหลหลากกัดเซาะถนนและคอสะพานเสียหาย ที่บ้านบัวทอง หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต จังหวัดยะลา นอกจากนี้ยังพบเสาไฟฟ้าล้ม

จังหวัดสงขลา เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี รวม 11 ตำบล 45 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 60 ครัวเรือน

ซึ่ง ปภ. ได้ร่วมกับจังหวัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยระดมเครื่องจักรกลและเครื่องสูบน้ำเข้าพื้นที่เพื่อเร่งระบายน้ำ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดนอกจากนี้ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจพื้นที่ และประเมินความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบต่อไป

โดยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์