ปิดตลาด ซ้ำเติมผู้มีรายได้น้อย

มูลนิธิชีววิถี ชี้ ตัดช่องทางความมั่นคงทางอาหารของชุมชน เทียบร้านสะดวกซื้อและห้างฯ ตลาดมีราคาถูกกว่า สินค้าหลากหลาย และจ้างงานมากกว่า ร้องรัฐทบทวน

5 ม.ค. 2564 – ตามที่ ศบค. มีคำสั่งควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยหลายจังหวัดมีคำสั่งปิดตลาดบางแห่งที่พบการระบาด ขณะที่ตลาดอีกหลายแห่ง แม้ว่ายังไม่พบการระบาด แต่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจังหวัด ทำให้ต้องปิดตัวลงตามไปด้วย สิ่งนี้ทำให้เกิดความห่วงใยในมุมของผู้บริโภค ว่าอาจกระทบต่อการเข้าถึงอาหารของผู้คนส่วนใหญ่ และกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของชุมชน

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) แสดงความเห็นว่า ตลาดถือเป็นหัวใจสำคัญของความมั่นคงทางอาหารให้กับคนไทย ซึ่งจากการศึกษา ติดตามข้อมูลเปรียบเทียบคุณค่าระหว่างตลาดนัด ตลาดสด กับร้านสะดวกซื้อ หรือ ห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ พบข้อมูลน่าสนใจหลายประเด็น คือ

  1. ถ้าเทียบราคาของอาหาร จะพบว่า ราคาที่ขายในห้าง หรือร้านสะดวกซื้อ ราคาสูงกว่าอาหารที่ขายในตลาดถึง 4 เท่าโดยเฉลี่ย ตลาดจึงเป็นหลักประกันการเข้าถึงอาหารของผู้คนได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย และคนทั่วไป
  1. อาหารในตลาดมีความหลากหลายมากกว่าในห้าง เพราะส่วนใหญ่ คือผลผลิตที่มาจากเกษตรกร ผู้ผลิตรายย่อย พ่อค้าแม่ค้า ที่ช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจในชุมชนให้เกิดขึ้น
  2. ตลาดคือฐานเศรษฐกิจสำคัญให้กับผู้คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการเป็นพื้นที่จ้างงาน สร้างอาชีพให้กับผู้คนจำนวนมาก เพราะเมื่อเปรียบเทียบการจ้างงาน พบว่า ตลาดจ้างคน สร้างงานได้ประมาณ 287 คน ขณะที่ร้านสะดวกซื้อ 1 ร้าน จ้างงานคนได้เพียง 14-15 คนเท่านั้น นั่นหมายความว่าตลาดสามารถจ้างงานได้มากกว่า 19-20 เท่าตัว นี่คือเห็นผลที่จำเป็นต้องทำให้ตลาดอยู่ได้ เพราะถือเป็นที่พึ่งของผู้คนจำนวนมาก ในช่วงที่เผชิญกับภาวะวิกฤตโรคระบาดแบบนี้

ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่มีใครปฏิเสธถ้าต้องควบคุมโรคอย่างเข้มงวดถึงขั้นปิดตลาดบางแห่งที่พบการระบาดของแรงงาน หรือ ผู้คนที่มีโอกาสสัมผัสกับพื้นที่ดังกล่าว แต่ถ้ามองที่ภาพความเป็นจริง การปิดตลาดไม่ควรจะเกิดขึ้นกับอีกหลาย ๆ แห่ง ที่อาจมีความเสี่ยงน้อยกว่า เพราะจากประสบการณ์การระบาดรอบแรก

ผู้บริโภคตระหนักถึงวิธีการดูแลตัวเองมากขึ้น การไปในพื้นที่คนเยอะ ๆ หลายคนก็ป้องกันตัวเองด้วยหน้ากากอนามัย ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ขณะที่พ่อค้า แม่ค้า หรือระบบการจัดการของตลาดส่วนใหญ่ ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่แพ้กัน จึงเห็นภาพการเข้มงวดช่องทางเข้าออกตลาดให้เหลือเพียงทางเดียว เพื่อคัดกรองผู้คน พร้อมทั้งรณรงค์ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อเข้าพื้นที่ และทำความสะอาดตลาดอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับผู้ค้า ก็ต้องจัดร้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ด้วยมาตรการเว้นระยะห่าง ทั้งหมดที่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค พวกเขาก็เพื่อต้องการให้ตลาดอยู่ได้ ผู้คนยังมาจับจ่ายใช้สอยได้

ที่สำคัญถ้าเปรียบเทียบทางกายภาพ ตลาดถือเป็นพื้นที่เปิด ต่างจากร้านสะดวกซื้อ หรือห้างขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูงกว่า ดังนั้นการปิดตลาดจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ภาครัฐต้องชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างการควบคุมโรค กับเรื่องปากท้องของผู้คน

ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี เรียกร้องให้รัฐทบทวนมาตรการปิดตลาด เพื่อไม่ให้ผู้คนเดือดร้อนหลังต้องเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาด เพราะหากพิจารณาจากค่าใช้จ่ายของครอบครัวผู้มีรายได้น้อย พบว่า กว่าครึ่งของรายได้ หมดไปกับค่าใช้จ่ายด้านอาหาร และยิ่งในยุคที่รายได้ลดลงก็ยิ่งสร้างความลำบากให้กับการเข้าถึงอาหารมากขึ้น

หากย้อนดูตัวเลขของสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ก่อนการระบาดโควิด-19 ในปี 2562 ไทยมีคนจนมากถึง 4.3 ล้านคน แต่หลังการระบาดโควิดในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ประเมินตัวเลขของคนตกงานเกือบ 8 แสนคน หรือแม้แต่คนที่มีโอกาสได้ทำงาน แต่ทำงานน้อยลงสัปดาห์ละไม่เกิน 10 ชั่วโมง ก็ส่งผลให้รายได้ลดลงตามไปด้วย กลุ่มนี้มีอีกกว่า 2 ล้านคน

เมื่อรวมตัวเลขของกลุ่มเปราะบางเหล่านี้พบว่ามีประมาณ 7 ล้านคน หรือคิดเป็น 10% ของประชาการทั้งหมด ซึ่งถือว่าไม่น้อยกับผลกระทบที่คนจน ผู้มีรายได้น้อย และคนตกงานที่เสี่ยงยากจนเพิ่มขึ้น ต้องเผชิญชะตากรรมการขาดแคลนกำลังซื้อ ดังนั้น ตลาดนัด ตลาดสด จึงน่าจะเป็นแหล่งซื้อหาอาหารราคาถูก แหล่งสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ได้ เพราะถ้าปิดตลาดจะยิ่งซ้ำเติมผลกระทบ ที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นอย่างยิ่ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

นักข่าวไม่จำกัดสาย จัดให้ได้ทุกประเด็น