เทศกาลปีใหม่ยังเสียชีวิตสูงทุกปี

นักวิชาการชี้ ไทยจะไม่หยุดสูญเสีย หากไม่เปลี่ยนพฤติกรรม พบดื่มแล้วขับนำโด่ง ทุกครั้งที่มีเทศกาล แม้เข้มงวดกฎหมาย “หวั่น” วันเดินทางกลับอาจเหนื่อยล้าหลังฉลองเสี่ยงอันตรายเพิ่ม

รศ.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย โดยใช้เทคนิคการสืบสวนสาเหตุในเชิงลึกของอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ทั้งหมด 1,000 เคส ระหว่างปี พ.ศ. 2559 ถึง 2563 พบสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ คือ ผู้ใช้รถขาดทักษะในการคาดการณ์ การควบคุมรถและไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

”นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้ความเร็วของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ เป็นสาเหตุทำให้เกิดความรุนแรงของอุบัติเหตุ โดยพบว่าเมื่อรถจักรยานยนต์ใช้ความเร็วขณะขับขี่สูงกว่า 80 กม.ต่อชม. โอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 42 และเมื่อขับเร็วสูงกว่า 100 กม.ต่อชม. มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 80 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายิ่งขับรถด้วยความเร็วสูงมากขึ้นเท่าไร เมื่อเกิดอุบัติเหตุโอกาสเสียชีวิตจะสูงมากขึ้นเท่านั้นขณะที่สาเหตุการดื่มแล้วขับในช่วงเทศกาลปีใหม่ก็มีผลให้เสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตเช่นกันเพราะขาดสติและคึกคะนอง”

รศ.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์



ในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ส่วนใหญ่ผู้ขับขี่มักดื่มแล้วขับเพราะมีกการเฉลิมฉลองและมองว่าไปใกล้ ๆ ไม่เป็นไร แต่เมื่อขับขี่ด้วยอาการเมามักมีผลให้เพิ่มความคึกคะนองมากขึ้นและระมัดระวังน้อยลงเพราะสมองจะสั่งการช้ากว่าคนไม่ดื่ม ที่สำคัญพฤติกรรมไม่สวมหมวกนิรภัยจะพบบ่อยมาก  หากขาดการป้องปรามก็ยิ่งส่งผลให้เสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงและเสียชีวิตสูง ส่วนการขับรถเร็วจะเกิดขึ้นบ่อยในช่วงถนนโล่งที่อาจทำให้เยียบเบรกไม่ทันหากมีรถตัดหน้ากระชั้นชิด ซึ่งถ้าขับด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะต้องใช้ระยะเบรกอย่างน้อย 54 เมตร ประเทศไทยจะมีทางร่วมทางแยกเยอะ ดังนั้น ขับขี่รถด้วยความระมัดระวังไม่ขับรถเร็วจะลดการสูญเสียได้มาก ดังนั้น มาตรการรัฐต้องปรับกฎหมายเข้มข้นและเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ขับขี่ให้ตระกนักมากขึ้น รศ.กัณวีร์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 เปิดเผยว่า วันนี้ (3 ธ.ค. 64) จะมีประชาชนเดินทางกลับเข้ากรุงเทพมหานครจำนวนมาก จึงกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลถนนสายหลัก – สายรอง – อำนวยความสะดวกการจราจร รองรับการเดินทางกลับของประชาชน คุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็ว รวมถึงเรียกตรวจเพื่อประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุง่วงหลับใน ด้านรถโดยสารสาธารณะและพนักงานขับรถให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยและแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ (COVID-19) อย่างเคร่งครัด และกำชับไม่ให้มีผู้โดยสารตกค้าง



ขณะที่สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค.63 – 2 ม.ค. 64) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,748 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 316 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 2,741 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 9 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (97 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา (16 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บ
สะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (99 คน)

สำหรับสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 2 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่ 5 ของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ”

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง เปิดเผยว่า ศปถ.ได้เน้นย้ำให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดใช้กลไกของด่านชุมชน จุดสกัด และด่านตรวจในพื้นที่ระหว่างอำเภอ ชุมชน หมู่บ้าน เข้มข้นการปฏิบัติเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน โดยให้ทุกภาคส่วนยังคงเฝ้าระวังและป้องกันพฤติกรรมเสี่ยง เน้นการกวดขันการขับรถเร็ว การดื่มแล้วขับ และการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น



เกิดอุบัติเหตุ 383 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 44 ราย ผู้บาดเจ็บ 384 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่

ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 30.29

ขับรถเร็ว ร้อยละ 28.98

ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.85

ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 67.10

ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 38.38

ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.86

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 33.94

ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 30.84

ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,930 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 61,655 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 529,869 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 117,106 ราย

มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 31,305 ราย

ไม่มีใบขับขี่ 28,884 ราย

โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด (20 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงราย เชียงใหม่ (จังหวัดละ 3 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด (21 คน)

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า ในวันนี้บางเส้นทางอาจมีการจราจรคับคั่งและใช้ระยะเวลาในการเดินทางนาน จึงขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด มีน้ำใจกับผู้ร่วมใช้เส้นทาง ไม่ขับรถเร็ว ง่วงไม่ขับ หยุดพักรถเมื่อมีอาการเมื่อยล้าหรือง่วงนอน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจที่ปฏิบัติหน้าที่สร้างความปลอดภัยบนเส้นทางสายต่าง ๆ เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์