กรมการแพทย์ สั่ง รพ.ศูนย์ เตรียมแผนประคองกิจการ

กำลังคน ทรัพยากร งบฯ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งหน่วยบริการก้าวหน้า ด้าน “ครม.” ทุ่ม 1.1 หมื่นล้านบาท เข้า สธ. รับโควิด-19 รอบใหม่

วันนี้ (29 ธ.ค. 2563) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 การบริหารจัดการที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะด้านการแพทย์และสาธารณสุข เช่น บุคลากร วัสดุ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ฯลฯ ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักหรือล่าช้าในการให้บริการทางการแพทย์ปกติ โดยปัจจุบันโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานพยาบาลต้องมีการเตรียมความพร้อม โดยการจัดทำแผนประคองกิจการ เพื่อให้สถานพยาบาลสามารถดำรงภารกิจหลักขณะเกิดสถานการณ์วิกฤตและภัยสุขภาพได้ และเป็นการลดผลกระทบด้านต่าง ๆ จากการหยุดชะงักการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในสภาวะวิกฤต บรรเทาความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ป่วยบุคลากรการแพทย์และโรงพยาบาลจากสภาวะวิกฤติให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดประเด็น “หน่วยบริการก้าวหน้า” New Normal Medical care : การบริการทางการแพทย์วิถีใหม่ มีเป้าหมายคือ ปลอดภัย ลดความแออัด และมีความเท่าเทียม ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ให้โรงพยาบาลศูนย์ (ระดับ A) และโรงพยาบาลทั่วไป (ระดับ S) มีการจัดทำแผนประคองกิจการอย่างต่อเนื่องสำหรับการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตจากโรคติดเชื้ออุบัติใหม่สำหรับสถานพยาบาล (Business Continuity Plan for Emerging Infectious Disease in Healthcare facilities: BCP for EID in Healthcare facilities)

สำหรับประโยชน์ที่สถานพยาบาลจะได้รับ คือ มีแผนแม่บทดำเนินการของโรงพยาบาลในการบริหารกำลังคน ทรัพยากร งบประมาณในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยยังคงตอบสนองความคาดหวังระดับนโยบาย และความคาดหวังของประชาชนได้ พร้อมทั้งมีการพัฒนาโครงสร้างและระบบพร้อมรับโรคอุบัติใหม่

29 ธันวาคมนี้ หน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ได้ดำเนินการจัดทำแผนดังกล่าวครบทุกหน่วยงาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่จะสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ ลดการติดเชื้อ ปลอดภัยทั้งผู้ให้ และผู้รับบริการ ทั้งในภาวะปกติและกรณีหากมีการแพร่ระบาดครั้งใหม่ในประเทศไทย

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของเตียงรองรับ หากมีผู้ป่วยโควิด-19 ขณะนี้มีเตียงกว่า 20,000 เตียงทั่วประเทศ โดยการรับผู้ป่วยนั้นจะพิจารณาจากคนไข้ที่มีอาการหนักที่อยู่ในห้องไอซียู โดยตัวเลขจากการระบาดรอบแรกคนไข้นอนไอซียู พบนอนเฉลี่ยประมาณ 17 วัน ดังนั้น การเตรียมพร้อมครั้งนี้ ใน กทม. สามารถรองรับได้ 230-400 คน ขณะที่ทั่วประเทศสามารถรองรับได้ 1,000-1,740 คน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อในขณะนั้น (จากการรวบรวมข้อมูลความรุนแรงของการระบาดทั่วโลก) จึงขอให้มั่นใจได้ว่ามีความพร้อมตรงนี้

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สำหรับกรมวิทย์ฯ มีศักยภาพตรวจเชื้อเฉพาะ กทม. ได้ถึงวันละ 10,000 ตัวอย่าง ขณะที่ศักยภาพในการตรวจพื้นที่ต่างจังหวัด ตรวจได้วันละ 10,000 ตัวอย่าง นอกจากนี้ ยังมีห้องปฏิบัติการเกือบทั่วประเทศ ที่สามารถตรวจได้ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 230 แห่ง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเรายังมีการสุ่มตรวจเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนประมาณ 100,000 คน พบผลบวก 1 คน ดังนั้น เห็นได้ว่ากรมฯ มีการตรวจเชื้อเชิงรุก ซึ่งมีศักยภาพเพียงพอหากมีผู้สงสัยติดเชื้อและต้องตรวจเชื้อเพื่อยืนยันผล

ครม. ทุ่ม 1.1 หมื่นล้าน รับระบาดรอบใหม่

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เพื่อให้การดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมในทุกมิติทั้งเรื่องบุคลากร เครื่องมือแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ครม. อนุมัติโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ จำนวน 10 โครงการ วงเงินงบประมาณรวม 1.13 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม

1. กลุ่มเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรค วงเงินงบประมาณรวม 4.33 พันล้านบาท ประกอบด้วย 5 โครงการ

  1. โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค โควิด-19 ในชุมชน จำนวน 1.05 ล้านคน ระยะเวลา 3 เดือน (ม.ค. – มี.ค. 2564) ผู้รับผิดชอบโครงการคือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ วงเงิน 1.57 พันล้านบาท
  2. โครงการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข เพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้รับผิดชอบโครงการคือ กรมควบคุมโรค วงเงิน 419.84 ล้านบาท
  3. โครงการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรคและห้องปฏิบัติการ ผู้รับผิดชอบโครงการ คือ กรมควบคุมโรค วงเงิน 503.89 ล้านบาท
  4. แผนเร่งรัดการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 สำหรับประชาชนชาวไทย รับผิดชอบโครงการคือ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ วงเงิน 1.81 พันล้านบาท
  5. โครงการพัฒนาห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 เพื่อรองรับการเป็นเครือข่ายห้องปฏิบัติการวินิจฉัยการติดเชื้อโรคโควิด-19 โรคอุบัติใหม่ และเชื้อโรคระบาดอื่นๆ ในเขตภาคเหนือ ผู้รับผิดชอบโครงการ คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วงเงิน 24 ล้านบาท

2. กลุ่มรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ วงเงินงบประมาณรวม 6.96 พันล้านบาท ประกอบด้วย 3 โครงการ

  1. โครงการพัฒนาศักยภาพระบบบริการสุขภาพ รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของหน่วยงานส่วนภูมิภาค ผู้รับผิดชอบโครงการ คือ สำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 2.037 พันล้านบาท
  2. โครงการจัดหายาและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของหน่วยบริการสุขภาพ ผู้รับผิดชอบโครงการคือ สำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 1.92 พันล้านบาท
  3. โครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้รับผิดชอบโครงการ คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วงเงิน 2.99 พันล้านบาท

3. กลุ่มสนับสนุน วงเงินงบประมาณรวม 27.2 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 โครงการ

  1. โครงการจัดซื้อ จัดหาเครื่องมือตรวจสอบระบบการแพร่กระจายเชื้อในห้องแยกโรค และอุปกรณ์การคัดกรองโรคโควิด-19 ผู้รับผิดชอบโครงการ คือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ วงเงิน 17 ล้านบาท
  2. โครงการพัฒนาระบบปกติใหม่ ของการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และพร้อมรับมือกับสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ วงเงิน 9.7 ล้านบาท

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณไว้เพียงพอต่อการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยทุกโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ได้ มีการรายงานความก้าวหน้าการใช้จ่ายเงิน รวมถึงปัญหาและอุปสรรค ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS